ชาวสวนยางร้อง รมว.เกษตรฯ คนใหม่เร่งฟื้นวิกฤตราคายางพารา
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 1 กรกฎาคม 2568 เวลา 21.28 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทระยอง 1 ก.ค. – สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือถึง รมว.เกษตรฯ คนใหม่ เพื่อให้เร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมยางพาราที่กำลังเผชิญวิกฤตราคาตกต่ำอย่างรุนแรง พร้อมเสนอข้อเรียกร้องเร่งด่วน 5 ข้อ และขอให้เรียกประชุม กนย.โดยด่วนที่สุด
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือด่วนถึงนายอรรถกร ศิริลัทยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำติดต่อกัน โดยมีสาเหตุจากการนำเข้าน้ำยางราคาถูก การแข่งขันจากยางสังเคราะห์ ค่าเงินบาทแข็งตัว และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และต้นทุนของเกษตรกรสวนยาง
สยท. จึงยื่นข้อเสนอเร่งด่วน 5 ข้อต่อรัฐมนตรีเกษตรฯ ดังนี้
- ยกเลิกนโยบายนำเข้าน้ำยางข้นราคาถูก
เรียกร้องให้ยกเลิกหนังสือที่ กษ0939/ว1193 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 และตรวจสอบการนำเข้าน้ำยางข้นสูตรเฉพาะจากต่างประเทศที่อาจเป็นเพียงข้ออ้างนำเข้ายางราคาถูกอย่างผิดวัตถุประสงค์ ส่งผลต่อราคาภายในประเทศ และอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายควบคุมยาง พ.ศ. 2542 - ปรับชั้นพันธุ์ยาง RRIM 600 และสนับสนุนพันธุ์ประสิทธิภาพสูง
เสนอให้ลดชั้น RRIM 600 เป็นชั้น 3 เนื่องจากผลผลิตต่ำและไม่ทนโรค พร้อมขอให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้พันธุ์ RRIT 3904 และอนุญาตให้นำเข้า “อีทีฟอน พลัส 5%” เพื่อเพิ่มผลผลิตระยะสั้น โดยใช้งบประมาณ 150 ล้านบาทจากเงินอุดหนุนรักษาเสถียรภาพราคายาง - ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดิน
ขอให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ส่งเสริมการวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยเฉพาะสูตรในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยได้รับความเห็นชอบจาก กนย. แล้ว - เร่งประกาศมาตรฐานและชั้นยางที่ล่าช้านานกว่า 12 ปี
เรียกร้องให้ประกาศชั้นยางตามมาตรฐานใหม่ทุก 4 ปี ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยางฯ ซึ่งครั้งล่าสุดคือปี 2556 เพื่อให้ตลาดมีความชัดเจนในการซื้อขาย ลดความเสียเปรียบของเกษตรกร - บังคับใช้กฎหมายควบคุมยางให้เป็นธรรมต่อเกษตรกร
เรียกร้องให้บังคับใช้มาตรา 23 อย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้ค้ายางจัดทำบัญชีรายเดือน และเปิดเผยข้อมูลราคาขายล่วงหน้าให้เกษตรกรทราบ เพื่อใช้ประกอบการวางแผนผลิตและจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สยท. ยังเรียกร้องให้รัฐมนตรีเกษตรฯ แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมยางให้ครบถ้วนโดยเร็วตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 และผลักดันให้นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมยางพาราไทย
ทั้งนี้ สมาคมฯ ยินดีเปิดรับข้อเสนอจากนักวิชาการหรือหน่วยงานภาครัฐที่มีแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำที่เป็นไปได้จริง และพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน. -512-สำนักข่าวไทย