กกพ. ชง 3 ทางเลือกค่าไฟท้ายปี 'จ่อตรึงต่อ 3.98 บาท'
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 26/2568 (ครั้งที่ 968) มีมติให้เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับงวด ก.ย. - ธ.ค. 2568 เป็น 3 กรณี
ตั้งแต่เรียกเก็บต่ำสุดที่ 3.98 บาทต่อหน่วยจนถึงสูงสุดที่ 5.10 บาทต่อหน่วย โดยปัจจัยบวกหลัก ๆ ที่ส่งผลดีต่อค่าเอฟทีและแนวโน้มค่าไฟที่ลดลงในงวด ก.ย. - ธ.ค. 2568 มาจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยกลับมาสู่ภาวะปกติเท่ากับก่อนวิกฤตราคาก๊าซธรรมชาติ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าช่วงปลายปีมีแนวโน้มลดลง เข้าสู่ภาวะปกติ
หนึ่งในแนวทางที่เสนอ คือ การตรึงค่าไฟไว้ที่ 3.98 บาทต่อหน่วยเท่ากับงวดปัจจุบัน (พฤษภาคม - สิงหาคม) โดยมีโครงสร้างมาจากค่าไฟฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย บวกกับค่าใช้หนี้ กฟผ. 10.71สตางค์ต่อหน่วย และค่าชดเชยเชื้อเพลิงอีก 9.01 บาทต่อหน่วย ขณะที่แนวทางที่สอง หากรัฐต้องการชำระหนี้คืนให้ กฟผ. อย่างต่อเนื่องในอัตราที่มากขึ้น
จะส่งผลให้ค่าไฟขยับขึ้นเป็น 4.87 บาทต่อหน่วย ซึ่งตัวเลขนี้คำนวณจากภาระหนี้ของ กฟผ. ที่ยังเหลืออยู่ราว 66,072 ล้านบาท ใช้คืนแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท และแนวทางที่สาม เป็นกรณีที่มีการชำระหนี้ทั้งของ กฟผ. และ ปตท. รวมกัน โดยในส่วนของ ปตท. นั้นมีหนี้คงค้างจากการตรึงราคาก๊าซ LNG ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไว้ 15,084 ล้านบาท จะทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 5.10 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ดี แนวโน้มการปรับลดค่าไฟลงจาก 3.98 บาทต่อหน่วยนั้นต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลกอย่างใกล้ชิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก โดยเฉพาะราคา LNG ซึ่งไทยยังต้องนำเข้าอย่างน้อย 36% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด หากราคาตลาดโลกทรงตัวในระดับ 12-13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในต่างประเทศเพิ่มขึ้นก็รวมถึงแนวโน้มการใช้ไฟช่วงปลายปีจากอุณหภูมิที่เย็นลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟในประเทศไทยลดลงตามไปด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง