นักเศรษฐศาสตร์คาด ECB เบนเข็มใช้ “ปล่อยกู้ระยะยาว” แทน QE รับมือวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต
นักเศรษฐศาสตร์คาด ECB มีแนวโน้มเลือกการปล่อยกู้ระยะยาว (LTROs) แทนการซื้อพันธบัตร (QE) หากต้องใช้นโยบายการเงินแบบไม่ปกติอีกครั้ง เหตุกังวลต่อความเสี่ยงด้านงบดุลและความน่าเชื่อถือ
วันที่ 18 กรกฎาคม 2568 เวลา 16.31 น. สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จากผลสำรวจของ Bloomberg ในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ พบว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มที่จะเลือกการปล่อยกู้ระยะยาวแก่ธนาคาร (Longer-Term Refinancing Operations: LTROs) มากกว่าการซื้อพันธบัตร (Quantitative Easing: QE) ในเกือบทุกสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบไม่ปกติในอนาคต
เครื่องมือ LTROs ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกอันดับแรกของECB ในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อต่ำ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความไม่มั่นคงทางการเงิน หรือเมื่อกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินไม่ราบรื่น
การใช้มาตรการซื้อสินทรัพย์ เช่น QE จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสัญญาณอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถส่งผ่านไปยังบางประเทศในยูโรโซนได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น
ผลสำรวจนี้สะท้อนความกังวลของเจ้าหน้าที่ECB บางส่วนต่อการใช้ QE แบบที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2558–2565 ซึ่งทำให้ธนาคารกลางบางประเทศในยูโรโซน โดยเฉพาะ Bundesbank ของเยอรมนี ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักเมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวขึ้น
ในการทบทวนกลยุทธ์ล่าสุด ECBยังคงเก็บเครื่องมือทั้งหมดไว้ รวมถึง QE แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเครื่องมือใดควรใช้เมื่อใด เพียงระบุว่าจะพิจารณาผลกระทบต่องบดุลเมื่อเครื่องมือสองแบบสามารถให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน
เจ้าหน้าที่ ECB บางคนแสดงความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ Francois Villeroy de Galhau จากฝรั่งเศส สนับสนุนการซื้อพันธบัตรระยะยาว หาก ECBต้องการผ่อนคลายนโยบาย เขายังระบุว่า LTROs และโปรแกรมการซื้อพันธบัตรแบบเจาะจงที่ยังไม่เคยใช้จากปี 2565 เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมหากกลไกการส่งผ่านมีปัญหา
ขณะที่ Bundesbank มีท่าทีระวังต่อ QE โดยชี้ถึงความเสี่ยงจากการขาดทุนของธนาคารกลางเอง โดยสมาชิกคณะกรรมการบริหาร Isabel Schnabel เตือนว่าการขาดทุนเหล่านี้อาจทำให้ความน่าเชื่อถือของ ECB ถูกกระทบ
Schnabel ยังกล่าวด้วยว่า แม้ QE จะมีพลังในการสร้างเสถียรภาพให้ตลาดในยามวิกฤต แต่ต้นทุนสูงกว่ามากเมื่อใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การปล่อยกู้แบบเจาะจง (targeted loans) ได้พิสูจน์แล้วว่าช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถถอนกลับได้เร็วกว่าอีกด้วย
อ้างอิง : www.bloomberg.com