‘ศูนย์ความเป็นเลิศ’ กลไกขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับโลก ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ความท้าทายนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจหรือประเทศกำลังพัฒนา แต่เป็นความท้าทายร่วมของมนุษยที่ต้องอาศัยการปรับตัวอย่างรวดเร็วและยืดหยุ่น บนบริบทของโลกที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างแน่นแฟ้น การรับมือกับความ ท้าทายนี้ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานหรือทรัพยากร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญแต่ไม่เพียงพออีกต่อไป จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ นวัตกรรม และบุคลากรที่มีศักยภาพสูง เป็นเครื่องมือสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ องค์ความรู้ต้องเป็นความรู้ที่ลึกซึ้ง ทันสมัย นวัตกรรมต้องเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ปัญหาจริงขอสังคม และบุคลากรต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์และความสามารถในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้า
‘ศูนย์ความเป็นเลิศ’ (Center of Excellence – CoE) คือกลไกหนึ่งที่มหาวิทยาลัยทั่วโลกนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคม และผลิตบุคลากรที่เป็นผู้นำในอนาคต ไม่ใช่เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการในตัวเอง แต่เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และสร้างฐานความรู้สำหรับอนาคตที่ยั่งยืน
จากกิจกรรมปาฐกถาพิเศษ “บทบาทอุดมศึกษาไทยกับการพัฒนาประเทศ” ที่จัดโดยสถาบันศิโรจน์ผลพันธินที่ผ่านมา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) อดีตเลขาธิการ UNCTAD และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้มหาวิทยาลัยพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศในลักษณะ "เฉพาะทาง" (Specialization) โดยเน้นความเชี่ยวชาญลึกในแต่ละด้าน สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการแข่งขันระดับโลกในปัจจุบันไม่ได้ขึ้นกับการครอบครองความรู้ทุกอย่าง หากแต่ต้องเลือกสิ่งที่ตนถนัดและทำให้ดีที่สุด พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันการวิจัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่
ตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ถูกยกขึ้นเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จในการดึงดูดบุคลากรชั้นนำจากทั่วโลก สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม และก่อให้เกิดเศรษฐกิจฐานความรู้ที่มั่นคงและแข็งแกร่งในเวทีโลก นอกจากสิงคโปร์แล้ว ประสบการณ์ในต่างประเทศอื่น ๆ ยังยืนยันถึงความสำคัญของศูนย์ความเป็นเลิศในฐานะกลไกการพัฒนาศักยภาพระยะยาวของประเทศ อาทิ เยอรมนีใช้โครงการ Excellence Initiative ทุ่มงบกว่า 2.7 พันล้านยูโร เพื่อพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศในมหาวิทยาลัยชั้นนำ จนมหาวิทยาลัยหลายแห่งติดอันดับโลก และมีงานวิจัยระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เดนมาร์กสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศผ่านกองทุนแห่งชาติ โดยรอบล่าสุดมีอัตราความสำเร็จของการก่อตั้งศูนย์สูงถึง 25% แสดงถึงความเข้มแข็งของระบบนิเวศการวิจัยของประเทศ
ไอซ์แลนด์และนิวซีแลนด์ต่างมีรายงานชี้ว่า CoE เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจฐานความรู้ อินเดียใช้ศูนย์ความเป็นเลิศของ CII (Confederation of Indian Industry) ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านคุณภาพและนวัตกรรม โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมพื้นฐาน สเปน โดยเฉพาะแคว้นกาตาลุญญา มีศูนย์ CERCA ที่สร้างผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับโลกนับหมื่นชิ้น และเป็นผู้นำโครงการวิจัยระดับยุโรปในหลากหลายสาขา เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพ พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีสารสนเทศ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ศูนย์ความเป็นเลิศเป็น "เครื่องมือ" สำคัญในการพัฒนาศักยภาพประเทศในระยะยาว และเป็นแกนกลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy)
จากประสบการณ์จากต่างประเทศพิสูจน์แล้วว่า การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเป็นกลไกที่ได้ผลจริงในการยกระดับขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยและประเทศ ดังเช่นที่เยอรมนี เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ อินเดีย และสเปนประสบความสำเร็จมาแล้ว มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจึงอาจเดินหน้าพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศให้เป็นกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Power of SDU ด้วยพลังของปัญญา (Wisdom) และการทำงานร่วมกัน (Collaboration) โดยมุ่งเน้นการผสานพลังของบุคลากร นักศึกษา ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม สู่เป้าหมายในการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน (Sustainable University) พร้อมเพื่อการแข่งขันในปัจจุบัน และสร้างรากฐานแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต
มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศในหลายสาขา ได้แก่ ด้านอาหารและโภชนาการ ยกระดับงานวิจัยด้านอาหารปลอดภัย การพัฒนาอาหารฟังก์ชัน และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการของสังคมไทยและโลก ด้านการศึกษาปฐมวัย สร้างองค์ความรู้พหุวิทยาการเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กตามช่วงวัย ด้วยหลักสูตรที่บูรณาการศาสตร์สมัยใหม่ เช่น จิตวิทยา เทคโนโลยี และศิลปะ ด้านการพยาบาลและสุขภาวะ พัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ เช่น เทคโนโลยีดูแลผู้สูงอายุ และระบบบริการสุขภาพทางไกล (Telehealth) เพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ด้านอุตสาหกรรมบริการ ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการด้วยมาตรฐานสากล และสร้างรูปแบบการบริการใหม่ ๆ เช่น Smart Tourism และ Green Hospitality ด้านกฎหมายและการเมือง สร้างนวัตกรรมทางสังคม เช่น เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชน และการบูรณาการศาสตร์ทางการเมืองกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ศูนย์ความเป็นเลิศไม่ใช่เพียงโครงสร้างทางวิชาการ หากแต่เป็นพื้นที่แห่งการบ่มเพาะการสร้างสรรค์ (Incubation) ที่เปิดกว้างสำหรับไอเดียใหม่ ๆ การทดลอง (Experimentation) ที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่อย่างอิสระ และการบูรณาการความรู้สู่การใช้ประโยชน์จริง (Utilization) ซึ่งเชื่อมโยงงานวิจัยเข้ากับการพัฒนานโยบายสาธารณะ นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และการแก้ไขปัญหาสังคม ทั้งนี้ เพื่อยกระดับความสามารถของมหาวิทยาลัยในการเป็น “ผู้ขับเคลื่อนสังคม” อย่างแท้จริง โดยไม่แยกขาดจากบริบทของประเทศและโลกครับ