DKSH ใช้ AI หยิบยา-เครื่องมือแพทย์แม่น 99.8% เข้าสงครามส่งด่วนเวชภัณฑ์ชิงเค้ก 8 หมื่นล้าน
DKSH (ดีเคเอสเอช) ยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิสเดินหน้าลงทุนไทยติดอาวุธเทคโนโลยีลดระยะเวลาจัดส่งเครื่องมือแพทย์ 80-90% ระบุส่งไวสู่ภาคเหนือในเวลา 2 ชั่วโมง หั่นเวลาการเตรียมชุดเครื่องมือผ่าตัดสำคัญจากเดิม 1 ชั่วโมงครึ่ง เหลือ 5 นาที ชูปัญญาประดิษฐ์ (AI) หยิบยาและอุปกรณ์แม่นยำ 99.8% มั่นใจตอบดีมานด์ตลาดเครื่องมือแพทย์ในไทยพุ่งต่อเนื่อง ไตรมาส 2 ปี 68 มูลค่าตลาดรวมทะลุ 8 หมื่นล้านบาท
นายกุลชนม์ ยิ่งชัยยะกมล ผู้จัดการทั่วไป แผนก Client Management ฝ่ายธุรกิจเฮลธ์แคร์อัลลายแอนซ์ - กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าพัฒนาการของ DKSH เกิดขึ้นท่ามกลางอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ของไทยที่เติบโตไม่หยุด ปัจจัยหลักคือการที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บวกกับภาวะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือนโยบายภาครัฐที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Hub) ของเอเชีย
“โชคดีที่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เมืองไทยมองว่าความเร็วเป็นเรื่องสำคัญมาก ยกตัวอย่างบางเครื่องมือที่มีอยู่ในประเทศไทยแค่ 10 เครื่องสำหรับใช้กับผู้ป่วยโรคหายาก หาก 10 เครื่องนี้ถูกเก็บไว้ที่คลังสินค้าในกรุงเทพฯ เมื่อเกิดเคสขึ้นมาจะจัดส่งไม่ทันเพราะบางครั้งผู้ป่วยมีเวลา 6 ชม. แต่การจัดส่งปกติต้องใช้เวลา 12 ชั่วโมง นอกจากความเร็วที่ต้องหาวิธีช่วยผู้ป่วยให้เร็วที่สุด การแข่งขันเรื่องคุณภาพก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์มองหาคือ คุณภาพและความรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ DKSH ให้ความสำคัญสูงสุด”
DKSH ประเทศไทยนั้นเป็นบริษัทที่มีประวัติยาวนาน อายุครบ 120 ปีแล้วในปี 2569 บริษัทมองตัวเองเป็นผู้นำด้านบริการขยายตลาดหรือ Market Expansion Services สำหรับสินค้าหลากหลายกลุ่ม รวมถึงธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์
ปัจจุบัน DKSH มีเครือข่ายธุรกิจเฮลธ์แคร์ที่กว้างขวาง ครอบคลุมการบริการผู้ป่วยกว่า 95% ทั่วประเทศไทย เข้าถึงโรงพยาบาลรัฐและเอกชนครบ 100% ทั้งโรงพยาบาลรัฐที่มีราว 900-1,000 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 400-500 แห่ง รวมประมาณ 1,400 แห่งในไทย (ข้อมูลปี 2563-2564)
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักของ DKSH แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายได้เฉพาะประเทศไทย แต่ DKSH มีพนักงานในไทยราว 8,000 คน จากทั่วโลกที่มีรวม 28,060 คนใน 18 ประเทศ รายได้รวมของ DKSH ปี 2567 คือ 11,100 ล้านฟรังก์สวิส (ราว 443,638 ล้านบาท) ขณะที่แนวโน้มของตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยยังคงสดใสไม่มีสะดุด
ตามข้อมูลจากรายงาน Fitch Solution ไตรมาส 2 ปี 2025 ระบุว่า ตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 79,900 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 7% ต่อปี โดยจะสูงถึงประมาณ 91,000 ล้านบาทภายในปี 2029 สัญญาณเหล่านี้สะท้อนว่าธุรกิจด้านเครื่องมือแพทย์ของ DKSH มีโอกาสเติบโตตามทิศทางตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องไปอีกประมาณ 5-6% ต่อปี
เพื่อรองรับการเติบโตนี้ DKSH ได้ใช้เทคโนโลยีและการปฏิวัติระบบหลังบ้าน โดยเฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ โดยที่ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ของ DKSH มีการใช้เทคโนโลยี MVS (Machine Vision System) ที่นำเอา AI มาตรวจสอบและหยิบสินค้าอัตโนมัติด้วยความแม่นยำสูง 99.8% ซึ่งการเติบโตครั้งนี้ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ อีกต่อไป เพราะผู้ป่วยในต่างจังหวัดเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ทำให้ความต้องการในโรงพยาบาลระดับอำเภอและชุมชนพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
***สงครามส่งด่วนเวชภัณฑ์ ประเดิมเชียงใหม่
ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง DKSH ได้ทุ่มทุนสร้าง "ศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค" (Satellite Distribution Center) ตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยเลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่แรก ผลลัพธ์คือการจัดส่งอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วน สามารถเกิดขึ้นในเวลา 15-20 นาที จากเดิมที่ต้องรอรถวิ่งจากกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาเกิน 10 ชั่วโมงขึ้นไป
นายวรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส แผนก Supply Chain Management หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าการลงทุนใน Satellite Distribution Centers จะไม่มีการดิสรัปหรือสร้างผลกระทบส่วนใดต่อตลาด แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย โรงพยาบาล และผู้ให้บริการด้านสุขภาพ โดยช่วยให้เข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญได้เร็วขึ้น เนื่องจากการเพิ่มความเร็วขึ้นกว่า 90% หมายถึงโอกาสในการรักษาชีวิตผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมหาศาล และหลังจากนี้จะมีศูนย์ฯ ย่อยลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกทั่วประเทศ
“โลจิสติกส์เป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ DKSH แต่ไม่ถือว่าเป็นปัญหาหลัก (Pain Point) ในแง่ของต้นทุน เนื่องจากเครื่องมือแพทย์มีส่วนประกอบต้นทุนอื่นๆ อีกมาก สัดส่วนต้นทุนด้านโลจิสติกส์จึงถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง บริษัทนำเข้าเครื่องมือแพทย์อื่นสามารถใช้บริการโลจิสติกส์ของ DKSH ในรูปแบบธุรกิจ Service Provider ควบคู่ไปกับการมีทีมขายของตนเองได้”
DKSH นำธุรกิจเครื่องมือแพทย์เข้าสงครามส่งด่วนด้วยกลุ่มยานพาหนะรวม 400-450 คันทั่วประเทศ ประกอบด้วยรถขนส่ง รถจักรยานยนต์ บางส่วนเป็นยานพาหนะพิเศษ เช่น รถจักรยานยนต์ที่มี กล่องควบคุมอุณหภูมิ รถกระบะและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV) ทั้งหมดนี้ทำให้ DKSH เป็นรายหลักในตลาดโลจิสติกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์ ครอบคลุมช่องทางบริการสุขภาพเกิน 90% ในไทย
***ใช้เทคโนโลยีหยิบเครื่องมือแพทย์
ปัจจุบัน DKSH ลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง AI และระบบการมองด้วยเครื่องหรือ Machine Vision Systems (MVS) เพื่อยกระดับการจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และบริการดูแลสุขภาพโดยรวมในประเทศไทย โดย MVS เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ DKSH ใช้ในการตรวจสอบชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีรายละเอียดมากได้อย่างแม่นยำ ระบบนี้ใช้กล้องแทนตาของมนุษย์ และใช้ AI แทนสมอง เพื่อระบุและตรวจสอบส่วนประกอบภายในชุดอุปกรณ์ เช่น เครื่องมือผ่าตัด โดย AI ได้รับการฝึกฝนด้วยการป้อนข้อมูลผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเพื่อให้ "จดจำ" ตำแหน่งและสภาพของส่วนประกอบแต่ละชิ้นได้
ระบบนี้ช่วยลดเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมาก วรพงษ์ระบุว่าจากเดิมที่พนักงานต้องใช้เวลา 1-1.30 ชั่วโมงต่อชุดโดยใช้รายการตรวจสอบแบบกระดาษ ตอนนี้ใช้เวลาเพียง 5 นาทีด้วย MVS นอกจากนี้ยังรับประกันความแม่นยำสูง 99.8% เมื่อ AI เรียนรู้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดย MVS จะระบุรายการที่ขาดหายไปหรือไม่ถูกต้องด้วยสีแดง ส่วนรายการที่ถูกต้องจะแสดงเป็นสีเขียว
DKSH ย้ำว่าวัตถุประสงค์ของการนำ AI มาใช้นั้นไม่ใช่เพื่อทดแทนบุคลากร แต่เพื่อช่วยให้บุคลากรมั่นใจในคุณภาพและความรวดเร็วของการดำเนินงาน
ในอีกด้าน DKSH ได้พัฒนาระบบคลังสินค้าดิจิทัลแบบเรียลไทม์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เรียกว่า IOA (Intelligent Order Application) เพิ่มความโปร่งใสของคำสั่งซื้อและประสิทธิภาพทางการตลาด นอกจากนี้ยังใช้แพลตฟอร์มเพื่อการสัมมนาผ่านเว็บแบบสดและการฝึกอบรมตามความต้องการสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ยังมีแอปพลิเคชัน InSnap สำหรับการรับสินค้าบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมาแทนที่การตรวจสอบการจัดส่งแบบกระดาษ ทำให้กระบวนการสะดวกและใช้งานง่ายขึ้นสำหรับพนักงาน
เทคโนโลยีที่ DKSH วางแผนจะต่อยอดอีกในอนาคตคือระบบ Goods to Man ซึ่งที่ผ่านมามีการติดตั้งระบบหยิบสินค้าในรูป Vertical Lift ที่ศูนย์กระจายสินค้าเครื่องมือแพทย์ (MDDC) ในพระราม 3 ระบบอัตโนมัตินี้จะนำสินค้ามายังผู้หยิบโดยตรง ทำให้พนักงานไม่ต้องเดินไปตามชั้นวาง จะมีเลเซอร์และจอภาพในการนำทางการหยิบสินค้า โดยระบุว่าควรหยิบสินค้าชิ้นใดจากช่องใดและจำนวนเท่าใด ซึ่งช่วยปรับปรุงทั้งประสิทธิภาพ ความเร็ว และความแม่นยำ
การใช้เทคโนโลยีหยิบยา-เครื่องมือแพทย์ที่แม่นยำ และการเข้าสงครามส่งด่วนเวชภัณฑ์ จึงเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า DKSH จะเขย่าตลาดเครื่องมือแพทย์ไทย 8 หมื่นล้านแน่นอน.
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO