ADB หั่น GDP ไทยปี 68 เหลือ 1.8% รับพิษนโยบายสหรัฐ-ท่องเที่ยวแผ่ว-หนี้ครัวเรือนพุ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (23 ก.ค.68) ว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2568 เหลือขยายตัว 1.8% จากเดิมที่คาดไว้ 2.8% พร้อมลดคาดการณ์ GDP ปี 2569 ลงเหลือ 1.6% จาก 2.9% สะท้อนผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าของสหรัฐฯ การชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว และภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย (Asian Development Outlook: ADO) ฉบับเดือนกรกฎาคม 2568 ของ ADB คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียปีนี้จะเติบโตที่ 4.7% ลดลงจากที่คาดไว้เมื่อเดือนเมษายนปีก่อนที่ 4.9% และจะเติบโต 4.6% ในปี 2569 จากเดิมที่คาดไว้ 4.7%
นายอัลเบิร์ด ปาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ ADB ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกอาจเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการค้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของราคาพลังงาน และภาวะชะลอตัวในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนที่อาจรุนแรงกว่าคาด
“เอเชียและแปซิฟิกกำลังเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอกที่ท้าทายมากขึ้น ขณะเดียวกัน แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจก็อ่อนแรงลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความเสี่ยงรอบด้าน” นายปาร์คกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า ประเทศในภูมิภาคควรเร่งเสริมสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง และเดินหน้าเปิดเสรีทางการค้าและการรวมกลุ่มในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการลงทุน การจ้างงาน และการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับเศรษฐกิจจีน ADB ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตไว้ที่ 4.7% ในปีนี้ และ 4.3% ในปี 2569 โดยประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการบริโภคและภาคอุตสาหกรรมจะสามารถชดเชยผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์และการส่งออกที่ซบเซา
ด้านเศรษฐกิจอินเดีย ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาค คาดว่าจะขยายตัว 6.5% ในปีนี้ และ 6.7% ในปีหน้า ปรับลดลงเล็กน้อยจากคาดการณ์เดิม 0.2 และ 0.1 จุดตามลำดับ จากผลกระทบของภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อภาคการส่งออกและการลงทุน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิก คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดย ADB ประเมินว่าอยู่ที่ 2.0% ในปีนี้ และ 2.1% ในปี 2569 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.3% และ 2.2% ตามลำดับ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง และผลผลิตทางการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งช่วยลดแรงกดดันด้านราคาสินค้าอาหาร