จิตแพทย์ดัง ห่วงเด็กซึมซับภาพ-แชตลับ ‘พระกับสีกา’ ถามสื่อต้องเสนอเรื่องเพศละเอียดขนาดนั้นมั้ย
17 กรกฎาคม 2568 - พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แอดมินเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้เขียนบทความกรณีสื่อ-อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอข่าวพระกับสีกากอล์ฟ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เราเห็นข่าวเกี่ยวกับพระภิกษุและพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเชิงชู้สาว ถูกนำเสนอในสื่ออย่างละเอียด ละเมียดละไม จนบางครั้งสงสัยว่ามันเกินกว่าที่จำเป็นจะต้องรู้ไหมนะ?
มีทั้งภาพ แชท ข้อความส่วนตัวที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะจนบางครั้งเราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า มันจำเป็นขนาดนั้นเลยหรือ?
หมอคิดว่าการนำเสนอข่าวนั้นมีประโยชน์ เพื่อตีแผ่ความจริงให้สังคมรับทราบ (ที่สำคัญถ้าไม่ตีแผ่ระบบก็ไม่ขยับ และป้องกันบางคนไปบวชซ้ำ หรือเพื่อไม่ให้ทำเป็นเยี่ยงอย่าง ฯลฯ)
แต่ที่เป็นห่วงคือ ‘วิธีการเล่าเรื่อง’ ที่บางครั้งดูชัดเจนโจ่งแจ้ง การนำเสนอเป็นแบบละเอียด มีทั้งภาพและแชทลับมากมาย
เข้าใจว่าสื่อมวลชนจะมีคำอธิบายว่า เป็นเรื่องที่ ‘คนอยากรู้’ แต่ความอยากรู้นั้นเป็น สิ่งที่สังคม ‘ควรรู้’ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือเป็นแค่ความอยากรู้อยากเห็น?
การนำเสนอแชทลับ รูปลับ หรือรายละเอียดส่วนตัวเกินจำเป็น อาจไม่ได้สะท้อนความตั้งใจจะปกป้องศีลธรรมของสังคมของสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่อาจสะท้อนว่าเป็นความพยายามเรียกยอดวิว ยอดแชร์ ในยุคที่เรตติ้งและอัลกอริทึมกลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของข่าว
บางสำนักข่าวก็อ้างว่า ‘เนื้อหาเหล่านี้ถูกเผยแพร่ในโซเชียลอยู่แล้ว’ แต่จริง ๆ แล้ว หน้าที่ของสื่อ ไม่ใช่แค่ ‘นำมาเผยแพร่ซ้ำ’ แต่คือ ‘กลั่นกรอง’ ‘คัดเลือก’ และ เสนอข่าวอย่างมี ‘ความรับผิดชอบ’
สิ่งที่รู้สึกเป็นห่วงมากเป็นพิเศษคือ เด็กๆ ที่รับสื่อเหล่านี้ในยุคที่เด็กและวัยรุ่นมีมือถือ ดูคลิปข่าวบน TikTok, YouTube หรือ Facebook ได้ตลอดเวลา
การนำเสนอข่าวที่อิงเรื่องเพศแบบโจ่งแจ้ง หรือเล่นกับอารมณ์และภาพกระตุ้นความรู้สึก อาจมีผลต่อทัศนคติของเด็กอย่างไม่รู้ตัว เด็กอาจซึมซับว่าเรื่องลับ เรื่องส่วนตัวของใครก็ตาม เป็นเรื่องสาธารณะที่เอามาเสพได้ เปิดเผยได้ถ้ามีเหตุผล อาจทำให้เกิดความคุ้นเคย รู้สึกชินชา ที่น่ากังวลคือ เด็กไม่ใช่ผู้มีวิจารณญาณเต็มที่เหมือนผู้ใหญ่ เขาเรียนรู้โลกผ่าน ‘สิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราสื่อให้ดู’
หมอไม่ได้อยากให้สื่อไม่เล่า แต่แค่อยากชวนคิดว่าเราควรจะเล่าอย่างไรให้แรงได้โดยไม่เกินจำเป็นและยังสื่อสารกับเด็กได้แบบที่ช่วยให้เขามีหลักยึดที่ถูกต้องเหมาะสม
อย่างไรก็ตามนอก จากผู้ใหญ่อย่างสื่อมวลชนจะมีหน้าที่กลั่นกรองและรับผิดชอบต่อสิ่งที่นำเสนอ แต่คนเสพสื่ออย่างผู้ใหญ่ที่อยู่หน้าจอ ก็มีหน้าที่ตั้งคำถามว่า ‘เรากำลังเสพสื่อเพื่อเข้าใจสังคม หรือเสพเพื่อสนองความอยากรู้ของตัวเอง?“
และอย่าลืมว่าคนที่กำลังเรียนรู้สังคมจากสื่อเหล่านี้ ก็คือเด็ก ๆ ที่ยังไม่มีเกราะป้องกันใจเท่าผู้ใหญ่
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ในการทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมที่ทำหน้าที่ส่งผ่านสื่อต่างๆ ถึงเด็กๆ จะมีความตระหนัก ไตร่ตรอง ก่อนที่จะส่งผ่านสื่อใดๆ ผ่านหน้าจอของทุกคนนะคะ
พญ.เบญจพร ตันตสูติ ระบุเพิ่มเติมว่า มีคอมเมนต์หนึ่ง ซึ่งหมอไปตอบคอมเมนต์ไว้ แต่เจ้าของคอมเมนต์ลบคอมเม้นต์นั้นไปแล้ว ทำให้การตอบของหมอหายไปด้วย หมอจึงขออนุญาตมาโพสต์เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนอีกครั้งนะคะ
เจ้าของคอมเม้นต์โพสต์ในลักษณะว่า “สื่อทำข่าวแบบนี้ ก็ดีแล้ว เพื่อที่เด็กรุ่นใหม่จะ ไม่ต้องไปทำบุญที่วัด”
หมอตอบว่า “หมอคิดว่าการนำเสนอข่าวทำได้ค่ะ ควรตีแผ่ แต่ไม่จำเป็นต้องละเอียดมากค่ะ และจริงๆ การเลิกทำบุญไปเลยก็เหมือนจะเหมารวมเกินไป (การเหมารวมเป็นการบิดเบือนทางความคิด/cognitive distortions อย่างหนึ่ง เรียกว่า Overgeneralization) ทำบุญได้แต่ต้องพิจารณาให้ดี น่าจะเป็นการสอนเรื่อง Critical thinking อย่างเหมาะสมให้เด็กๆ นะคะ”