อนุ กมธ.ปรับปรุงกฎหมายชง ‘ภูมิธรรม’ แก้ระเบียบมหาดไทย 3 ฉบับ
'อนุ กมธ.ปรับปรุงกฎหมายท้องถิ่น' เสนอ 'ภูมิธรรม' แก้ระเบียบ ก.มหาดไทย 3 ฉบับ ทำได้ทันที หวังเพิ่มประสิทธิภาพ - กระจายอำนาจให้อปท. เชื่อเป็นประโยชน์ประชาชน
17 ก.ค.2568 - คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปรับปรุงกฎหมายท้องถิ่น ในคณะกมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร แถลงสรุปผลการดำเนินงานของอนุกมธ.ฯ กรณีระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่เป็นปัญหาอุปสรรค และการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
โดย น.ส.เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะอนุกมธ.ฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกมธ.ฯ พิจารณาระเบียบกระทรวงมหาดไทยกว่า 22 ระเบียบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอปท. เพื่อแก้ระเบียบที่เป็นอุปสรรคให้เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ ยกระดับการทำงานของอปท. โดยที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย สามารถนำไปใช้งานได้ทันที เนื่องจากมีความสอดคล้องกับนโยบายของรมว.มหาดไทย ที่เคยแถลงนโยบายต่อข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่ากฎระเบียบใดที่เป็นปัญหา ขัดขวางการทำงานที่จะให้บริการแก่ประชาชนให้เอาออกมาแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้นกว่าเดิม
ขณะที่ นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะอนุกมธ.ฯ กล่าวว่า จากการพิจารณาระเบียบกระทรวงมหาดไทย 22 ระเบียบ มี 3 ระเบียบ ที่ดำเนินการแก้ไขได้ทันที ได้แก่ 1.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารกิจการ และการบำรุงรักษาระบบประปาในระดับหมู่บ้าน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นการให้อปท. เข้ามาบริหารจัดการระบบประปาหมู่บ้าน หากคณะกรรมการหมู่บ้านไม่สามารถทำให้มีคุณภาพได้ โดยให้อปท.เข้าไปดำเนินการต่อได้
2.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพ.ศ.2555 และพ.ศ.2559 และ 3.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการลาของผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2547 เพื่อกระจายอำนาจท้องถิ่นให้ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอการอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะการเดินทางเพื่อนำส่งเอกสารหรือการลาบางครั้งใช้เวลามากกว่าครึ่งวัน หรือบางครั้งติดระเบียบราชการทำให้การนำส่งและการลาล่วงเลยเวลาที่ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นๆ ได้ลาไปแล้ว ซึ่งเห็นว่าระเบียบดังกล่าวไม่มีความจำเป็น และไม่สมเหตุสมผล
“การแก้ไขระเบียบไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนตัวอักษร แต่เป็นการปลดล็อกข้อจำกัดของอปท. ให้ตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที เป็นการลดการตีความ เพื่อเพิ่มความคล่องตัว และยังเป็นการกระจายอำนาจให้อปท. ได้จัดการทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการจัดทำบริการสาธารณะต่างๆแก่ประชาชนในพื้นที่” นายวีรนันท์ กล่าว