มท.กำชับ ‘ตระหนักแต่ไม่ตระหนก’ ภูเก็ตพร้อมแผนรับมือแผ่นดินไหว-สึนามิ
กระทรวงมหาดไทยย้ำเตรียมพร้อมทุกด้านรับมือแผ่นดินไหวและภัยสึนามิ จังหวัดภูเก็ตร่วมประชุมออนไลน์ซักซ้อมแผนเฝ้าระวัง พร้อมยืนยันสถานการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดไม่กระทบไทย ขอประชาชนติดตามข่าวจากทางการอย่างใกล้ชิด
7 กรกฎาคม 2568 – จังหวัดภูเก็ตร่วมประชุมซักซ้อมความเข้าใจการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนแผ่นดินไหวและสึนามิ ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายกองเอกอดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน พร้อมด้วยนายวิชิต สุทธโส หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
การประชุมจัดโดยกระทรวงมหาดไทย โดยนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผ่านระบบออนไลน์ มีผู้เชี่ยวชาญร่วมบรรยายให้ข้อมูลรอบด้าน
นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และนายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว รายงานว่า แผ่นดินไหวล่าสุดในหมู่เกาะนิโคบาร์และญี่ปุ่นมีความรุนแรง 5 ริกเตอร์ และอยู่ห่างจากไทย จึงไม่กระทบหรือก่อให้เกิดสึนามิ พร้อมย้ำว่า คลื่นสึนามิจะเกิดได้เมื่อแผ่นดินไหวมีขนาด 7.5 ริกเตอร์ขึ้นไป และเกิดจากการยุบตัวในแนวดิ่ง
นายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า แม้รอยเลื่อนในไทยมีการเคลื่อนตัวเป็นระยะ แต่ยังไม่มีสัญญาณเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นแนวรอยเลื่อนขนานที่ความรุนแรงต่ำ
ด้านนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เน้นย้ำการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ และการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อความพร้อม
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเตือนภัย เสนอเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเตือนภัยในพื้นที่ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพเครือข่ายประชาชน เพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ย้ำในช่วงท้ายว่า “ภัยพิบัติไม่มีใครอยากให้เกิด แต่สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด” พร้อมขอให้ประชาชนติดตามข่าวจากทางการ และให้หน่วยงานประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่อเนื่องในพื้นที่เสี่ยง โดยยึดหลัก “ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” ตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน.