กะเทาะพฤติกรรมแสบ ‘สีกา’ เชิงอาชญาวิทยามองอย่างไร
เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นกับสังคม “ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามความรู้เชิงอาชญาวิทยากับ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนมุมมองความแตกต่างของพฤติกรรมสีกากอล์ฟ กับเรื่องราวใกล้เคียงกันในกรณีอื่น โดยระบุว่า อดีตก็เคยมีสีกาเป็นข่าวกับพระแล้วถูกเปิดโปงก่อน ทำให้ต้องหยุดพฤติกรรม
แต่สีกากอล์ฟมีประเด็นน่าสนใจ เพราะเริ่มต้นมีสัมพันธ์กับพระผู้ใหญ่อยู่แล้ว หลังได้ผลประโยชน์ก็ไม่ได้หยุด แต่ยังไปต่อเนื่องกับพระผู้ใหญ่รูปอื่น ซึ่งอาจเกิดจากการที่ได้เรียนรู้ จากการมีปฏิสัมพันธ์ มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพระรูปแรกที่คบหาด้วย ทำให้รู้ว่ารูปแบบแบบนี้ ทำให้ได้เงินง่าย โอกาสที่ความลับจะเผยแพร่เป็นไปได้ยาก เพราะฝ่ายชายหรือพระในขณะนั้นคงไม่อยากให้ใครรู้
ประการสำคัญคือพระผู้ใหญ่ชาวบ้านมักนับถือ เชื่อมั่น ศรัทธาก็มีผลเรื่องของปัจจัยคือเงินทำบุญที่เข้ามาเยอะ ต่างกับพระบวชใหม่
“เขาจึงเรียนรู้ว่าทำแบบนี้ ทำให้ได้เงินง่าย เปรียบเช่นอาชญากร หรือคนร้ายที่เวลาก่อเหตุแล้วได้ทรัพย์สินก็จะก่อเหตุแบบนั้นไปเรื่อยๆ เรียกว่าแผนประทุษกรรม กระทั่งวันหนึ่งถูกจับได้ก็จะเริ่มปรับเปลี่ยนนิสัย พฤติกรรม หรืออาจจะเรียนรู้ว่าทำไมถึงถูกจับ”
เช่นเดียวกับกรณีนี้ ทำรายแรกได้ก็ต่อเนื่องไปรายที่ 2, 3, 4 เรื่อย ๆ เพราะยังไม่เคยถูกจับได้ พฤติกรรมสีการายดังกล่าวเกิดการเรียนรู้จากการกระทำของตัวเองว่าทำแบบนี้ไม่ถูกจับได้แล้วก็ได้เงินง่าย ลักษณะเดียวกันก็อาจมีการถ่ายภาพ ถ่ายคลิปไว้ เพราะคิดว่าวันหนึ่งจะใช้ประโยชน์เป็นเครื่องต่อรอง หรือแบล็กเมล์ได้ ซึ่งก็ใช้ประโยชน์ได้จริงในมุมของเขา
หากไม่ถูกเปิดโปง มีแนวโน้มพฤติกรรมอาจรุนแรงขึ้นหรือไม่ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ มองว่าจะเกิดพฤติกรรมหลอกลวงและเข้าถึงพระผู้ใหญ่รูปอื่นไปเรื่อย ๆ เพราะจากที่รับฟังสัมภาษณ์สีกามีวิธีพูดคุย ปฏิสัมพันธ์จนรู้ว่าพระมีปฏิสัมพันธ์กลับหรือไม่ ภาษาชาวบ้านเรียก “เล่นด้วยหรือไม่” ถ้าไม่เล่นด้วยหรือปฏิเสธก็จะหาเหยื่อรายอื่น ที่สามารถหลอกลวงได้หรือเต็มใจมามีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง เพราะรู้ว่าพระไม่กล้าเปิดโปงเรื่องพวกนี้
สำหรับการเลือกความสัมพันธ์ที่มีทั้งกลุ่ม “ลึกซึ้ง” และ “ฟีลแฟน” ขอเปรียบเทียบกับคนร้ายโดยทั่วไปคือ 1.เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายที่ต้องการดำเนินการหรือไม่ 2.เป้าหมายนี้ถ้าเลือกจะได้ประโยชน์อะไร หรือบางทีอาจไม่ได้ประโยชน์แต่เป็นความชอบก็เป็นได้ จากเบื้องหลังของสีกาเท่าที่ทราบเหมือนไม่มีพ่อ ทำให้อาจต้องการความรักจากคนที่อายุมากกว่าก็เป็นได้
และ 3.น่าจะเป็นความคิดว่าลงมือครั้งนี้ทำแล้วคุ้ม โอกาสถูกจับก็ยาก โอกาสได้เงินง่าย เป็นไปได้สูงที่จะไม่ถูกเปิดโปงหรือเปิดเผย ส่วนกรณีพูดคุยลักษณะฟีลแฟนแต่ไม่ได้มีสัมพันธ์ด้วย อาจจะเป็นความชอบหรือรสนิยมส่วนตัว ที่อาจชอบคุยกับผู้ชายหลายคนพร้อมกัน
พร้อมยอมรับพฤติกรรมลักษณะนี้เสี่ยงเป็นพฤติกรรมเลียนแบบได้ โดยเฉพาะถ้ามีการนำเสนอเป็นวงกว้าง เช่น นำเสนอผ่านสื่อ หรือส่งต่อเรื่องราว หากสภาพจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ไม่ได้เกรงกลัวความผิด หรือจำเป็นต้องใช้เงินก็อาจจะเรียนรู้วิธีการว่าเป็นอีกช่องทางได้เงินมาโดยง่ายเช่นกัน
เมื่อถามว่านอกจากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ควรได้รับการบำบัดจากพฤติกรรมซ้ำๆ ด้วยหรือไม่ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ให้มุมมองว่าการฟื้นฟูเยียวยาสภาพผู้กระทำผิดแต่ละกรณีแตกต่างกัน รูปแบบบำบัดจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคล แต่กรณีนี้ต้องยอมรับรูปแบบจะมีทั้งเรื่องเงิน และความรักที่ต้องการเติมเต็ม
"ต้องบำบัดหรือไม่ คงต้องวิเคราะห์สภาพภูมิหลังจนถึงปัจจุบัน แล้วค่อยมาดูการแก้ไขปมในจิตใจ ควบคู่ไปกับการลงโทษ ต้องบอกว่าอาชญาวิทยาแนวใหม่ จะเน้นการแก้ไขฟื้นฟูสภาพจิตใจ พฤติกรรมการกระทำความผิด มากกว่าการลงโทษ จองจำอย่างเดียว"
ส่วนโอกาสหลังพ้นโทษ เป็นไปได้หรือไม่ที่กลับมาสานต่อสัมพันธ์เดิมที่ไม่ได้เป็นพระแล้ว รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ วิเคราะห์ทิ้งท้ายคงต้องดูหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น เมื่อผู้กระทำผิดต้องจำคุกนานหลายปี เมื่อพ้นโทษเงื่อนไขต่างๆ อาจเปลี่ยนไป อาทิ อดีตพระที่สึกเหล่านั้นอาจมีครอบครัวใหม่ ตัวสีกาเองก็ออกมาเมื่ออายุมากแล้ว หรืออาจเหมือนในหลายคดีที่พ้นโทษออกมา ก็อาจมีลักษณะใช้แผนประทุษกรรมเดิมๆ แต่พัฒนาเทคนิครูปแบบ
เนื่องจากเคยได้บทเรียนจากการกระทำความผิดครั้งก่อนๆ เกิดการเรียนรู้และปรับตัวว่าทำอย่างไรจะไม่โดนจับกุมได้ง่ายขึ้น ซึ่งในไทยพบมีจำนวนประมาณ 30% ที่พ้นโทษออกมาแล้วกลับมากระทำผิดเรื่องเดิมซ้ำอีก.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน