สงครามชิป ท้าศักยภาพไทย ลดเสี่ยง "สหรัฐฯ" กัน AI-chip จีน
วันนี้ ( 14 ก.ค.2568) น.ส.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการอาวุโส ทีมวิจัยด้านกฎหมายดิจิทัลและการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน ทีดีอาร์ไอ ได้สะท้อนถึงผลกระทบกรณีที่สหรัฐฯ มีแผนจำกัดการส่งออกชิป AI กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย และมาเลเซีย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ชิปถูกลักลอบนำเข้าไปจีนที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำข้อเสนอแนะเชิงรุกต่อฝ่ายนโนบาย ว่า ในศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเซมิคอนดักเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
น.ส.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการอาวุโส ทีมวิจัยด้านกฎหมายดิจิทัลและการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน ทีดีอาร์ไอ
แต่ได้กลายเป็นหัวใจของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ การแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน มีการรายงานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจมีแผนจำกัดการส่งออกชิป AI ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย และมาเลเซีย เพื่อป้องกันการเลี่ยงมาตรการควบคุมการส่งออกไปยังจีนโดยอ้อม
ประเด็นนี้ได้จุดประกายให้ต้องกลับมาทบทวนบทบาทของไทยในสมรภูมิ สงครามชิปที่กำลังเข้มข้นขึ้น แม้ไทยจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์โดยตรง แต่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะในด้านการประกอบ บรรจุ และทดสอบชิป (OSAT) ซึ่งเป็นขั้นตอนท้ายที่จำเป็นต่อการส่งชิปเข้าสู่ตลาดโลก
นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า ไทยอยู่ในกลุ่ม Tier 2 ภายใต้กรอบ AI Diffusion Framework ของสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึงการเป็นประเทศที่ยังไม่มีมาตรการ หรือสถาบันด้านการควบคุมเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ให้ความเชื่อมั่นในระดับสูง
แม้ไทยจะไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน เป้าหมายโดยตรงของมาตรการควบคุม AI-chip เช่นเดียวกับจีน แต่สถานะ Tier 2 หมายถึงการอยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ เฝ้าระวังว่าจะกลายเป็น ช่องทางอ้อม (indirect pathway) ให้เทคโนโลยีอ่อนไหวหลุดรอดไปยังประเทศที่ถูกควบคุมโดยตรง เช่น จีน หรือรัสเซีย
ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ เช่น แผนการลงทุนในศูนย์ข้อมูล AI ที่ต้องอาศัย GPU (Graphics Processing Unit) หรือหน่วยประมวลผลกราฟิก สมรรถนะสูงอาจถูกชะลอ ตลอดจนความกังวลว่าภาคการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยซึ่งเน้นบทบาทด้านการประกอบ และทดสอบก็อาจตกเป็นเป้าหมายของข้อจำกัดทางการค้า
นอกจากนี้ ภายใต้ AI Diffusion Framework ของสหรัฐฯ ประเทศที่ไม่อยู่ในกลุ่มพันธมิตร Tier 1 เช่น ไทยจะถูกกำหนด TPP quotaซึ่งเป็นขีดจำกัดการนำเข้าชิปประสิทธิภาพสูงในแต่ละช่วงเวลา โดยโควตาเริ่มต้นคือ 790 ล้าน TPP (ราว 50,000 GPU) และสามารถขอเพิ่มได้เป็น 1,580 ล้าน TPP หากรัฐบาลไทยยื่นหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการต่อสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ประเทศ Tier 2 ไม่มีสิทธิใช้ license exceptions ที่ออกแบบเพื่อให้พันธมิตรสามารถนำเข้า IC หรือโมเดล AI บางประเภทได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต หมายความว่า ไทยจำเป็นต้องอาศัยการขอ license แบบเต็มรูปแบบ และอยู่ภายใต้ presumption of denialหรือมีแนวโน้มถูกปฏิเสธเป็นหลักหากโควตา หมด
นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การอยู่ใน Tier 2 สะท้อนถึงความไม่พร้อมด้านกฎหมาย และกลไกตรวจสอบแม้ไทยจะมีกฎหมายควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาวุธทำลายล้างสูง (WMD) อย่างพระราชบัญญัติการควบคุมการค้าสินค้าที่เกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 และมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ปี 2564 ที่ระบุรายการสินค้าสองทาง (Dual-Use Items: DUIs) ซึ่งอ้างอิงจากรายการของสหภาพยุโรปปี 2019 แต่ระบบการควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูงของไทยยังไม่ถือว่าเทียบเท่ามาตรฐานสากล
ไทยมีระบบดิจิทัลพื้นฐาน (e-TCWMD) สำหรับควบคุมสินค้าสองทางภายในประเทศ แต่ยังไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบของประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปทำให้ยังไม่สามารถใช้ระบบตรวจสอบปลายทางร่วมได้ในระดับ real-time หรือ automated assuranceได้
ปัจจุบันไทยยังไม่มีระเบียบควบคุมเฉพาะสำหรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI หรือ quantum computing ในบริบทความมั่นคง ขณะที่สหรัฐฯ ได้ออกกฎ AI Diffusion Rule เพื่อควบคุมการส่งออกเฉพาะในกรณีที่มีความเสี่ยง เช่น การส่งออกชิป AI หรือโมเดล AI ปิด ไปยังประเทศหรือผู้ใช้งานที่มีความเกี่ยวข้องกับการทหารหรือกิจกรรมต้องห้าม
แม้ไทยจะมีระบบควบคุม catch-all control สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ซึ่งให้อำนาจกรมการค้าต่างประเทศสั่งระงับการส่งออกหรือโอนสินค้าที่อาจถูกใช้ในกิจกรรมต้องห้ามได้ แต่ระบบนี้ยังไม่ครอบคลุม catch-all control เชิงเศรษฐกิจแบบที่สหรัฐฯใช้
ทั้งนี้ทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ประเทศทางอ้อม ที่อาจใช้เลี่ยงมาตรการควบคุมเทคโนโลยี ไทยควรดำเนินการเชิงรุก 4 ด้านเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือในฐานะผู้ใช้และผู้ผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง โดยไม่เลือกข้างแต่เลือกมาตรฐาน
ไม่ว่าจะเป็น ปรับปรุงกฎหมายและระบบดิจิทัลควบคุมเทคโนโลยี เพื่อครอบคลุม emerging technologies เช่น AI, quantum, cloud โดยขยาย catch-all control ไปสู่ความมั่นคงเศรษฐกิจ ส่งเสริมแนวทางควบคุมแบบสมัครใจภาคเอกชน เช่น การรับรองปลายทาง หรือกำกับการใช้งาน GPU โดยไม่เพิ่มภาระทางกฎหมาย เพื่อแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน
รวมถึง ทบทวนยุทธศาสตร์ AI และเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้ตั้งอยู่บนหลัก open standard และสถาปัตยกรรมแบบเปิด เพื่อสะท้อนจุดยืนเชิงบวกในเวทีระหว่างประเทศและต้อง ประกาศท่าทีระดับรัฐอย่างชัดเจน ว่าไม่สนับสนุนการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางทหารหรือกิจกรรมที่ประเทศพันธมิตรกังวล พร้อมเปิดความร่วมมือกับ BIS ในระบบตรวจสอบปลายทาง โดยระบบควบคุมที่โปร่งใสจะช่วยหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากขั้วมหาอำนาจ พร้อมรักษาสิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการลงทุนในระยะยาว
อ่านข่าว:
หวั่นเสียโอกาส 47 อุตฯ 11 คลัสเตอร์ยื่นคลังเจรจาลดภาษีสหรัฐฯ
การเมืองในประเทศ-ภาษีทรัมป์ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.ต่ำสุดรอบ 28 เดือน
ภาษีตอบโต้ 36 % ไทย "ไร้แสงปลายอุโมงค์" คาดครึ่งปีหลังลบหนัก