นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ลั่น ถึงเวลาหรือยังที่จะเปลี่ยนแปลง เหตุตึก สตง.ถล่ม
นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เผย หลังมีคำแถลงการสอบสวนตึก สตง.ถล่ม สะท้อนปัญหาหลายเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้า-การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ลั่น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
วันที่ 14 ก.ค. 2568 นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ควันหลงหลังคำแถลงการสอบสวนตึก สตง.
วันนี้ครบ 2 อาทิตย์ที่รัฐบาลได้แถลงผลสอบสาเหตุการถล่มของตึกสตง. ซึ่งผลสอบดังกล่าวมาจากคณะอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจาก 4 สถาบันการศึกษา และสรุปสาเหตุไว้ 4 ข้อดังที่ทราบกันแล้ว
ต้องขอบคุณและชื่นชมคณะทำงานและผุู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ทำงานกันอย่างหนักภายในระยะเวลาที่จำกัดเพื่อหาสาเหตุซึ่งเชื่อว่าไม่ง่าย ในต่างประเทศ การหาสาเหตุการถล่มของตึกล้วนใช้เวลานานกว่านี้มาก เช่น การถล่มของตึก Champlain Tower South, Miami, Florida เมื่อเดือน มิ.ย 2021 คาดว่าจะสรุปสาเหตุและเปิดเผยได้เดือน เม.ย 2026 เป็นต้น และด้วยความที่มีระยะเวลาจำกัด การสรุปสาเหตุต่างๆเลยอาจยังไม่คมชัดเหมือนที่สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการต้องการฟัง หรืออาจมีความชัดเจนแล้วแต่ยังเปิดเผยไม่ได้จนกว่าสำนวนการหาคนผิดจะแล้วเสร็จก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้เอง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันที่จะมีผู้ให้ความเห็นเชิงวิชาการใน social media ซึ่งส่วนตัวดิฉันเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากและได้อ่านหาความรู้ทุกอัน ต้องเน้นว่าเฉพาะบาง page เท่านั้น เช่น FB Curiosity Channel คนช่างสงสัย ( https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1064776055630746&id=100062950854097 )
ส่วนตัวยังอยากเห็นแถลงการณ์ขยายความหรืออธิบายในรายละเอียดเพิ่มว่า
1. การออกแบบและวิธีการก่อสร้างผิด สาเหตุที่มาจากการออกแบบ และวิธีการก่อสร้างผิดคือ ผิดยังไง ผิดตรงไหน การบอกรวมๆว่า “ แบบรายละเอียด…ไม่ตรงตามกฏหมายที่บังคับใช้…” อาจจะไม่เพียงพอ ทั้งนี้มิใช่สงสัยในกระบวนการศึกษาหรือขั้นตอนในการสรุปสาเหตุ แต่ดิฉันคิดว่าการให้คำอธิบายที่มีรายละเอียดชัดเจนจะเป็นประโยชน์กับวงการออกแบบและก่อสร้าง อย่างน้อยเพื่อเป็น“บทเรียน“ให้ผู้ที่อยู่ในวงการทราบว่าเรื่องอะไรบ้างที่จำเป็นต้องระวัง
2. หน้าที่ความรับผิดชอบของคนแต่ละกลุ่ม การให้รายละเอียดยังเป็นการชี้ให้สังคมเข้าใจมากขึ้นว่าขอบเขตงานความรับผิดชอบของแต่ละกลุ่มวิชาชีพคืออะไร เช่น สถาปนิกซึ่งเป็นผู้ออกแบบเรื่อง function ความสวยงาม และการใช้งานอาคาร หรือวิศวกรงานระบบและคนอื่นๆที่ยังอยู่ในเรือนจำและไม่ได้รับการประกันตัวเกี่ยวข้องกับความแข็งแรง การออกแบบ และวิธีการก่อสร้างที่ผิดตรงไหน ประเด็นเหล่านี้เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง
3. ประเด็นคอนกรีตรับแรงได้ต่ำกว่าค่าที่ออกแบบไว้ สภาวิศวกรได้แถลงผลทดสอบคอนกรีตไปแล้ว การเปิดเผยข้อมูลเป็นการกระตุ้นเตือนให้คนทำงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วนทราบว่าต้องป้องกัน ระวังและปิดทุกประตูที่อาจเป็นสาเหตุให้คอนกรีตรับแรงไม่ได้ ส่วนสาเหตุว่าทำไมคอนกรีตไม่ได้คุณภาพก็ต้องไปสืบสวนต่อว่าขั้นตอนไหนที่ทำให้คุณภาพต่ำ มีการผสมน้ำจริงหรือไม่ ถ้ามี เกิดในขั้นตอนไหน ใครสั่ง ใครทำ เพราะเป็นที่รู้กันว่าคนขับรถปูนและ supervisor ของบริษัทคอนกรีตผสมเสร็จเหล่านี้คุมคุณภาพและดูแลคอนกรีตของตัวเองเหมือนดูแลลูก และยังมีผู้ควบคุมงานตรวจสอบอีกชั้น การจะปล่อยให้มีการเติมน้ำแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ หรือการมี“ข่าว”ว่าผู้รับเหมาผสมปูนเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องที่ยังมีข้อสงสัย ยังไม่ได้บทสรุป และเพื่อความเป็นธรรมควรมีการสอบข้อเท็จจริงจากผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงานด้วยเช่นกัน
4. วัสดุก่อสร้างและเหล็ก ประเด็นสำคัญในการแถลงคือประเด็นวัสดุก่อสร้างอื่นๆรวมทั้งเหล็กไม่มีปัญหาและไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ตึกถล่ม เป็นข้อมูลที่ชัดเจนและช่วยลดความกังวลให้กับประชาชนได้มาก แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่พยายามให้ข้อมูลเพื่อชี้นำสังคม โดยพยายามเอาเหตุของตึก สตง.มาโยงเข้ากับปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กที่มีมายาวนาน ว่าเหล็กที่ได้ มอก.อาจผลิตไม่ได้คุณภาพตามมอก. รวมถึงมีการตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการผลิตเหล็กด้วยเตา IF ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเหล็กจากจีนและเหล็กตัว T-tempcore ว่าไม่ได้คุณภาพ ทั้งที่เหล็กชนิดนี้มีการใช้ในประเทศไทยมาเกือบ 20 ปี และในอาคารอื่นๆก็ไม่พบปัญหาใดๆ …. ต้องเรียนว่าในแง่ของผู้รับเหมาก่อสร้างและประชาชนที่ซื้อเหล็กมาใช้ เราจำเป็นต้องยึดหลักอันใดอันหนึ่งเพื่ออ้างอิง ซึ่งทั่วไปก็ยึดแบบและตรามอก.เป็นหลัก หากมีเหล็กที่ได้มอก.แต่คุณภาพไม่ได้ตามมอก.นั้นๆ ภาครัฐต้องดำเนินการเด็ดขาดในการถอนมอก.ของโรงเหล็กเหล่านั้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องมีมาตราการและแผนรองรับปัญหาราคาเหล็กที่สูงขึ้น และปัญหาเหล็กขาดตลาดจากการที่มีผู้ผลิตน้อยลงซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประเด็นเหล่านี้ภาครัฐ องค์กรตรวจสอบและสถาบันต่างๆต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นธรรมที่จะทำให้ มอก.ศักดิ์สิทธิ์ และไม่ควรให้เอกชนใดๆอ้างเอาการถล่มของตึก สตง.เข้าไปเกี่ยวข้องเพราะเป็นคนละประเด็นและทำให้เกิดความเข้าใจผิดในผู้ใช้ได้
(หมายเหตุ : ผู้ที่เขียนอธิบายเรื่องเหล็กในประเด็นของตึก สตง. และในหลายๆเรื่องได้ชัดเจนคือ รศ.เอนก ศิริพาณิชกร. https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=24490698590535306&id=100000655165852)
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตึกสตง.สะท้อนปัญหาอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดองค์กรกลางในการกำกับดูแลผู้ประกอบการก่อสร้างและการให้ใบอนุญาตการทำงานก่อสร้างทั้งงานรัฐและเอกชน, พรบ.จัดซื้อจัดจ้างที่บิดเบี้ยว, สัญญาและหลักการบริหารสัญญาที่ไม่เป็นธรรม, ราคาที่ต่ำเกินจริงและไม่ถูกต้องตามหลักการทำงานจริง, มาตราฐานวิชาชีพ และอื่นๆ อีกมามาย…ถึงเวลาหรือยังที่เราจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง