WHO เตือน mpox ยังฉุกเฉิน แพร่ต่อเนื่องในแอฟริกา
เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (mpox) ในหลายประเทศ สะท้อนสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลกที่ยังระบาดอยู่ โดยเฉพาะในประเทศแอฟริกา
ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2568 พบว่า มีผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงกว่า 25,125 คนใน 75 ประเทศทั่วโลก และมีรายงานยืนยันการเสียชีวิตแล้ว 98 คนในจำนวนนั้น โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดหรือว่าครึ่งคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อทั้งหมด คือ 13,545 คน ตามมาด้วย ยูกานดา (6,051 คน) เซียร์ราลีโอน (4,610 คน) และบุรุนดี (1,159 คน)
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ออกแถลงการณ์ว่า โรคฝีดาษลิงยังคงเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศที่มีความน่ากังวล (public health emergency of international concern: PHEIC) เนื่องจากมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแอฟริกาตะวันตก และคาดว่า มีการแพร่ระบาดของไวรัส mpox ที่ยังตรวจจับไม่ได้เข้าสู่ประเทศแอฟริกันอื่น ๆ ด้วย
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลกนับตั้งแต่รายงานสถานการณ์เมื่อปลายเดือนมิถุนายน มีเพียงประเทศตุรกีเท่านั้นที่รายงานการตรวจพบสายพันธุ์ย่อยใหม่ของไวรัส MPXV โดยพบผู้ป่วย 1 รายที่ติดเชื้อ mpox จากไวรัส MPXV สายพันธุ์ clade Ia และไม่มีประเทศใดรายงานพบ mpox เป็นครั้งแรกในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา
สำหรับโรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ clade Ib นั้น พบว่าการแพร่เชื้อยังจำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศแอฟริกาเท่านั้น และพบบางเคสในประเทศจีน ที่สาเหตุการติดเชื้อกำลังอยู่ในกระบวนการสืบสวน อย่างไรก็ตามในประเทศส่วนใหญ่ไม่มีรายงานการแพร่เชื้อของ clade Ib อย่างต่อเนื่อง
สำหรับกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกานั้น โดยรวมพบว่า มีรายงานการติดเชื้อลดลง โดยเฉพาะในคองโกและเซียร์ราลีโอน อย่างไรก็ตาม WHO เตือนว่า มีความล่าช้าในการรายงานผล และการทดสอบที่ไม่สมบูรณ์ในคองโกอยู่ ซึ่งอาจกระทบตัวเลขผู้ติดเชื้อ
ขณะเดียวกัน ทรัพยากรสำหรับการรับมือกับโรคก็เริ่มลดน้อยลง โดยบุรุนดีและยูกันดารายงานว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับในประเทศไทย มีรายงานผู้ติดเชื้อล่าสุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ออกแถลงการณ์ว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 1 คนที่จังหวัดเชียงใหม่ การติดเชื้อในไทยคือสายพันธ์ุ Clade2
แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในไทยปีนี้จะยังคงมีตัวเลขไม่มากไปกว่าปี 2567 ที่มีผู้ป่วยรวม 176 คน ปีนี้ตั้งแต่ต้นปี มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มแล้ว 40 คน มักพบในกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก กลุ่มเสี่ยงในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี มีภูมิคุ้มกันบกพร่องร่วมกับโรคประจำตัว ที่ผ่านมา มักมีประวัติทางเพศสัมพันธ์ุเป็นวิธีหลักในการรับเชื้อ
ข้อมูลจาก WHO ระบุไว้ว่า โรคฝีดาษลิง คือโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสฝีดาษลิง (monkeypox virus หรือ MPXV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิด DNA สายคู่แบบมีเยื่อหุ้ม จัดอยู่ในสกุล Orthopoxvirus วงศ์ Poxviridae ซึ่งรวมถึงไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษในคน (variola), ฝีวัว (cowpox), วัคซิเนีย (vaccinia) และไวรัสอื่น ๆ อีก มีสายพันธุ์ของไวรัสที่แตกต่างกันอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ clade I (ซึ่งแบ่งย่อยเป็น Ia และ Ib) และ clade II (ซึ่งแบ่งย่อยเป็น IIa และ IIb) การแพร่ระบาดของ clade IIb ทั่วโลกเริ่มตั้งแต่ปี 2022 และยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน
การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงแพร่จากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลด้วยการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เช่น อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน สัมผัสกันทางผิวหนัง อย่างการร่วมเพศ การจูบ หรือการสัมผัสระหว่างปากกับผิวหนัง หรือใบหน้าต่อใบหน้า รวมไปถึงการให้กำเนิดบุตร นอกจากนี้การสัมผัสกับวัตถุของผู้ติดเชื้อ อย่าง เสื้อผ้า เข็มสัก เข็มฉีดยา ก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน
อาการที่พบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงคือ
- ผื่นคัน
- ไข้
- เจ็บคอ
- ปวดหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดหลัง
- ไม่มีแรง
- ต่อมน้ำเหลืองบวม