หากทรัมป์ 'สกัดสินค้าจีน' ผ่านคู่ค้าสำเร็จ 'จีดีพีจีน' เสี่ยงถูกกระทบสูงถึง 2.1%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการมุ่งเป้าโจมตีจีนผ่านประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน กำลัง “คุกคาม” การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน และการส่งออกส่วนใหญ่ของจีนที่ไปยังสหรัฐ
ที่ผ่านมา จีนได้พึ่งพา “ประเทศที่สาม” ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปหรือชิ้นส่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากสงครามการค้าครั้งแรกของทรัมป์
ตามข้อมูลของ Bloomberg Economics สัดส่วนของจีนในมูลค่าเพิ่มของการผลิตสินค้า ที่มุ่งหน้าส่งไปยังสหรัฐผ่านประเทศต่าง ๆ เช่น เวียดนามและเม็กซิโก เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2017 เป็น 22% ในปี 2023
หากทรัมป์ทำสำเร็จในการมุ่งเป้าไปที่การส่งสินค้าต่อผ่านประเทศที่สาม (Transshipments) โดยใช้มาตรการเก็บภาษีที่สูงขึ้น หรือออกข้อกำหนดด้านห่วงโซ่อุปทาน ก็อาจคุกคามการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐ “สูงถึง 70%” และกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนมากกว่า 2.1% ตามการวิเคราะห์ของ Bloomberg Economics
- สัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐที่จีนมีส่วนเกี่ยวข้องทางอ้อม ในช่วงปี 2017 กับ 2023 (ที่มา: Asian Development Bank, Bloomberg Economics) -
“กระแสการค้าที่ไหลผ่านประเทศที่สามนั้นมีปริมาณมาก และช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาษีของสหรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน” นักวิเคราะห์จาก Bloomberg Economics ได้แก่ ชาง ซู, รานา ซาเจดี และเดวิด ฉวี่ระบุไว้
“หากมีการควบคุมการขนส่งเหล่านี้ที่เข้มงวดขึ้น จะยิ่งเพิ่มความเสียหายจากสงครามการค้า และอาจบั่นทอนโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว” Bloomberg Economics เผย
ทั้งนี้ สหรัฐกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อจีนมากขึ้นผ่านประเทศอื่น ๆ โดยส่งจดหมายแจ้งว่า จะมีการเก็บภาษีนำเข้าภายในวันที่ 1 สิงหาคม หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าได้ อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐยังได้ขู่ว่า จะเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงยิ่งขึ้นกับสินค้าที่พบว่ามีการ “ส่งต่อผ่านประเทศที่สาม”
สำหรับประเทศหลักที่จีนพึ่งพาในการขนส่งสินค้าไปยังสหรัฐ ได้แก่ “เม็กซิโก” และ “เวียดนาม” โดย“สหภาพยุโรป” ก็ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญอีกแห่งหนึ่ง บทบาทของจีนในการจัดหาสินค้าให้กับโลกผ่านประเทศตัวกลางเหล่านี้ อาจส่งผลต่อรูปแบบของข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรต่าง ๆ
มีสัญญาณว่า กระบวนการนี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐกับสหราชอาณาจักร มีการระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับ “ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน” และ “การถือครองกรรมสิทธิในภาคส่วนที่มีความอ่อนไหว”
ในขณะเดียวกัน ชูและนักเศรษฐศาสตร์ร่วมทีมระบุว่า “ยังมีความไม่แน่นอนว่า สหรัฐจะสามารถบังคับใช้ข้อจำกัดการส่งต่อสินค้าผ่านประเทศที่สามได้เข้มงวดเพียงใด” โดยนิยามของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นตามมาตรฐานของสหรัฐยังคงคลุมเครือ และยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบ
อ้างอิง: bloomberg