ผ่าแผนพัฒนาเกษตรกรรมใหม่ ปี 70 เกษตรกร มีเงินสด 5.37 แสน/ครัวเรือน
ร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575) ล่าสุด ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา นับเป็นแผนสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนภาคเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันได้ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ มติครม. เมื่อไฟเขียวร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับใหม่ ครอบคลุมปี 2568 – 2575 แล้ว นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุมครม.ได้มอบหมายให้สำนักงาน สภช. เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ
สาระสำคัญร่างแผนแม่บทพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับใหม่
ร่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2575) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
วิสัยทัศน์
- เกษตรกรเป็นพลังสำคัญในการผลักดันต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม
พันธกิจ
ขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมสู่ความมั่นคงและพอเพียงของเกษตรกรไทย ดังนี้
- พัฒนาความสามารถการผลิตของเกษตรกรไทย สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร
- เกษตรชาญฉลาดขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมสีเขียว
- ส่งเสริมการทำการเกษตรเพื่อรองรับข้อกำหนดทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม
- ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย
- การยกระดับรายได้ต่อหัวของเกษตรกรให้มีความอยู่ดีกินดี
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งพร้อมสร้างโอกาสและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
- เพื่อขับเคลื่อนเกษตรสีเขียวที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- เพื่อให้ภาคการเกษตรสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
เป้าหมาย
- ร้อยละ 75 ของครัวเรือนเกษตรกรมีความเข้มแข็งพร้อมสร้างโอกาสและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (5.78 ล้านครัวเรือน)
- มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี
- อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศสาขาเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี
- รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรไม่ต่ำกว่า 537,000 บาทต่อครัวเรือน ภายในปี 2570
ทั้งนี้ ยังมีความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมบางประการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับใหม่ เช่น ควรพิจารณาเพิ่มเติมข้อมูลผลการดำเนินการที่สำคัญตามแผนแม่บทฯ พ.ศ. 2560 - 2565 ในแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 ด้วย และการทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทฯ
สำหรับระยะต่อไป สภาเกษตรกรแห่งชาติ (สภช.) จะกำหนดระบบและกลไกไว้อย่างน้อยทุก 2 ปีแต่กรอบระยะเวลา 8 ปี ของแผนแม่บทฯ ดังกล่าว จะคาบเกี่ยวกับระยะเวลาของแผนแม่บทภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติห้วงที่ 3 (พ.ศ. 2571 - 2595) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2571 - 2575)
ดังนั้น ในการทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทฯ ของ สภช. ควรมีการพิจารณาถึงความสอดคล้องกับแผนระดับที่ 2 ที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2571 - 2575) เพื่อทบทวนตัวชี้วัด เป้าหมาย และกลยุทธ์เพื่อกำหนดแผนการขับเคลื่อนในช่วง พ.ศ. 2571 - 2575 ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์การพัฒนาประเทศที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตด้วย