จีนแบนส่งแร่ให้สหรัฐฯ แต่พบเส้นทางนำเข้าใหม่ ส่งไปสหรัฐฯ ผ่านไทยได้อย่างไร ?
จีนแบนแร่หายากไม่ให้ส่งเข้าสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ กลับหาช่องทางนำเข้าได้ โดยผ่านประเทศที่ 3 อย่างไทย และเม็กซิโก
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่ามีแร่แอนติโมนี หรือพลวง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ และรถยนต์ นำเข้าสู่สหรัฐฯ มากเป็นผิดปกติ ผ่านประเทศที่ 3 อย่างไทย และเม็กซิโก ตั้งแต่จีนประกาศแบนการส่งชิปให้สหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2024
จีนประกาศแบนการส่งแร่เหล่านี้ให้สหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ไปให้จีนแต่บันทึกของศุลกากรสหรัฐฯ และการจัดส่งแสดงข้อมูลว่า มีบริษัทที่จีนเป็นเจ้าอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่มีส่วนในการค้ากับสหรัฐฯ
โดยข้อมูลการค้าแสดงให้เห็นเส้นทางใหม่ในการจัดส่งแร่ไปยังสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่ 3 ตั้งแต่จีนแบนการส่งแร่ ทั้งสหรัฐฯ ยังนําเข้าพลวงออกไซด์ 3,834 เมตริกตันจากไทยและเม็กซิโก ในเดือนธันวาคม-เมษายน ซึ่งจำนวนนี้ ถือว่า เกือบมากกว่าการนำเข้าของ 3 ปีรวมกัน ทั้งไทยและเม็กซิโก ยังพุ่งเข้าสู่ 3 อันดับแรก ที่จีนส่งออกแร่พลวง ทั้งที่ในปี 2023 ก่อนการจำกัดการส่งออกนั้น ทั้งสองประเทศไม่ได้อยู่ในลิสต์ท็อป 10
รอยเตอร์ได้เปิดเผยบริษัทในไทย ที่ชื่อว่าบริษัท Thai Unipet Industries ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Youngsun Chemicals ผู้ผลิตแอนติโมนีของจีนที่ตั้งอยู่ในไทย และเป็นบริษัทที่มียอดการค้าขายกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลพพบว่า Thai Unipet จัดส่งแร่พลวงอย่างน้อย 3,366 ตันจากไทยไปยังสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม - พฤษภาคม ซึ่งเพิ่มถึงกว่า 27 เท่าของช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อรอยเตอร์พยายามติดต่อไปยังบริษัทนี้เพื่อสอบถาม ก็ไม่ได้รับการตคอบกลับทั้งยังได้รับแจ้งว่าเบอร์โทรนั้นไม่ถูกต้องด้วย
รายงานของ RFC Ambrian ยังพบว่าประเทศไทยและเม็กซิโกต่างมีโรงหลอมพลวงเพียงแห่งเดียว และโรงงานนั้นได้เปิดตัวอีกครั้งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งยังไม่มีข้อมูลว่า มีประเทศใดขุดโลหะในปริมาณที่มากด้วย
ทั้งจากสถิติยังพบว่า แม้จะถูกแบนจากจีน แต่การนำเข้าพลวง แกลเลียม และเจอร์เมเนียมของสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมานั้นเทียบเท่า หรือมากกว่าก่อนจีนจะแบน แม้ว่าจะซื้อในราคาที่สูงกว่า ซึ่งมีการมองว่า การส่งแร่จากจีน ด้วยการผ่านประเทศที่ 3 นั้น เป็นวิธีหลีกเลี่ยงกฎระเบียบ
ด้านกระทรวงพาณิชย์ของจีนเอง ก็ได้กล่าวในเดือนพฤษภาคมว่ามีการดำเนินการในต่างประเทศที่ "สมรู้ร่วมคิดกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายในประเทศ" เพื่อหลบเลี่ยงข้อจํากัดการส่งออก ทั้งยังเริ่มเรียกร้องให้ต่อต้านการขนส่งและลักลอบขนย้ายแร่ธาตุ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนอาจถูกโทษจำคุก โดยกฎหมายนี้บังคับใช้กับบริษัทจีนที่แม้ทำธุรกรรมในต่างประเทศก็ตาม
จีน เป็นประเทศที่ครองอุปทานแร่อย่าง พลวง แกลเลียม และเจอร์เมเนียม ที่ใช้ในการผลิตชิป, สื่อสารโทรคมนาคมเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีทางทหาร ซึ่งตั้งแต่กลางปี 2024 จีนเริ่มจำกัดการส่งแร่เหล่านี้ โดยกำหนดให้บริษัทที่ส่งแร่ไปสหรัฐฯ ต้องขอใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ ก่อนจะห้ามส่งออกอย่างจริงจังในเดือนธันวาคม
นอกจากการนำเข้าแล้ว ในเดือนเมษายนเอง โดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศอนุมัติโครงการเหมืองแร่ 10 แห่งทั่วสหรัฐฯ หวังเพิ่มการผลิตแร่สำคัญอย่างทองแดง พลวง และแร่อื่นๆ เพื่อหวังลดการพึ่งพาแร่จากจีนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 55% Magic Number "ภาษีสหรัฐ-จีน" บวกดีลแลก "แร่หายาก-ชิปประมวลผล" ใครได้ใครเสีย
- สหรัฐฯ-จีน ยอมถอยแลกผลประโยชน์ "แร่-ชิป" ปลดล็อคสงครามเทคโนโลยี
- “หัวเว่ย” ชิปตามหลังคู่แข่งสหรัฐฯ แค่ 1 รุ่น
- ทำไม Nvidia รายได้พุ่งเกือบ 70% เกินคาด แม้เจอข้อจำกัดส่งชิปไปจีน
- NVIDIA เตรียมเปิดศูนย์วิจัยที่จีน มุ่งศึกษาความต้องการชาวจีนโดยเฉพาะ