ศึกชิงซุปเปอร์บอร์ด กสทช.เด็กหน้าห้อง ติดโผ 6 ใน 10 ใครบ้างเช็กเลย
ศึกชิงซุปเปอร์บอร์ด กสทช. กำลังจะเริ่มขึ้นรอบสุดท้ายในวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2568 โดยวุฒิสมาชิก หรือ สว.จะทำการลงคะแนนคัดเลือกคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ กตป. ซึ่งทำหน้าที่ติดตามการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. จำนวน 10 คน รอบสุดท้าย
ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และ กำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. กสทช.ฯ) กำหนดให้มีกรรมการ กสทช. จำนวน 7 คน มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปีและเป็นได้แค่คนละครั้งเดียว โดยมาจากการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหา จากภาคส่วนต่างๆ เช่น
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- ผู้พิพากษาศาลฎีกา
- ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
- กรรมการ ป.ป.ช.
- กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
- ผู้ตรวจการแผ่นดิน
- และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เพื่อเสนอชื่อต่อวุฒิสภาให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความ เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งโดยต้องได้รับความเห็นชอบ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สว. เท่าที่มีอยู่ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ ออก ใบอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ กิจการโทรทัศน์ การโทรคมนาคม ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดคลื่นความถี่ คุ้มครอง ผู้บริโภค ตรวจสอบดูแลและสั่งระงับการกระทำที่ผิดกฎหมายต่างๆ
รู้จัก กตป. องค์กรเฝ้าติดตามการทำหน้าที่ของ กสทช.
นอกจาก กสทช.แล้ว ยังมีอีกองค์กรหนึ่งเป็นเสมือน "เงา" เฝ้าคอยจับตา ติดตาม และรายงานผล ประเมิน การทำงานของ กสทช. ซึ่งมีชื่อว่า คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ กตป. ตามพ.ร.บ. กสทช.ฯ มาตรา 70 กำหนดให้ กตป. มี กรรมการห้าคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบแต่ละด้าน เช่น
- ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์
- ด้านกิจการโทรคมนาคม
- ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
- ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
และให้เลือกกันเองเพื่อมีประธานหนึ่งคน
กตป. บทบาทอำนาจหน้าที่สำคัญในการ
ㆍติดตามและประเมินผลการบริหารงานองค์รวมและการใช้งบประมาณของ กสทช.
ㆍจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อรัฐบาล
ㆍ ตรวจสอบว่า กสทช. ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่
ศึกชิงซุปเปอร์บอร์ด กสทช.
สำหรับการคัดเลือก ซุปเปอร์บอร์ด กสทช. ทำการคัดเลือก 2 รอบ วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี สำหรับการเลือกซุปเปอร์บอร์ด กสทช. แบ่งเป็น 2 รอบดังนี้
- รอบแรก : คัดเลือกจากผู้สมัครทั้งหมดให้เหลือด้านละสองคน
- รอบสอง : คัดเลือกให้เลือเพียงคนเดียว รอบสุดท้าย
เปิดรายชื่อซุปเปอร์บอร์ด 10 คนคัดเลือกรอบสุดท้าย
ด้านกิจการกระจายเสียง
- นายกฤษดา โรจนสุวรรณ ได้คะแนน 77 คะแนน
- พลตำรวจตรี เอกธนัช ลิ้มสังกาศ ได้คะแนน 91 คะแนน
ด้านกิจการโทรทัศน์
- นายพันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา ได้คะแนน 107 คะแนน
- สิบตำรวจตรีหญิง เพ็ญนภา ชูพงษ์ ได้คะแนน 105 คะแนน
ด้านกิจการโทรคมนาคม
- นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ได้คะแนน 91 คะแนน
- รองศาสตราจารย์อุรุยา วีสกุล ได้คะแนน 66 คะแนน
ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชิต ธิอิ่น ได้คะแนน 91 คะแนน
- พลเอกสิทธิชัย มากกุญชร ได้คะแนน 87 คะแนน
ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
- นางสาววัชรี วรรณศรี ได้คะแนน 91 คะแนน
- นางสาวอิสรารัศมิ์ เครือหงส์ ได้คะแนน 86 คะแนน
เด็กหน้าห้องบอร์ด กสทช. จำนวน 6 ใน 10 ติดโผพรึ่บเข้ารอบสุดท้าย
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการซุปเปอร์บอร์ด กสทช. เมื่อพลิกไปดูประวัติ 6 ใน 10 คน เป็นบุคคลที่ล้วนแล้วแต่ผู้บริหาร กสทช. และ บอร์ด กสทช.แทบทั้งสิ้น
ด้านโทรทัศน์
- นายพันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. (พล.ต.อ. ณัฐธร เพราะสุนทร บอร์ด กสทช. ด้านกฎหมาย)
- สิบตำรวจตรีหญิง เพ็ญนภา ชูพงษ์ เพิ่งลาออกจากผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. (พลอากาศโทดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ บอร์ด กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง)
โทรคมนาคม
- นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิประจำรักษาการเลขาธิการ กสทช. (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. และ เลขาธิการ กสทช.
- รศ.อุรุยา วีสกุล ผู้รับสัญญาการจ้างที่ปรึกษากับสำนักงาน กสทช.
ด้านคุ้มครองผู้บริโภค
- พลเอกสิทธิชัย มากกุญชร โฆษกประจำตัวประธาน กสทช. (ศ. คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) ปัจจุบันลาออกแล้ว
ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
- นางสาวอิสรารัศมิ์ เครือหงส์ ผู้ช่วยเลขานุการประจำ กสทช. (นายต่อพงศ์ เสลานนท์ บอร์ด กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
บอร์ด กสทช. 3 คนไม่ส่งตัวแทน
ขณะที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณพิรงรอง รามสูต บอร์ด กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ , รองศาสตราจารย์ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย บอร์ด กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกัยพงศ์ บอร์ด กสทช. ไม่ได้ส่งคนใกล้ชิดหรือหน้าห้องเข้าลงสมัครชิงเก้าอี้ซุปเปอร์ในครั้งนี้
เมื่อพลิกดูรายชื่อผู้ผ่านกระบวนการคัดเลือกกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ กตป.ดูสถานะแล้วมีผลประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ (Conflict of interest) ด้วยการส่งหน้าห้องซึ่งเป็น “ลูกน้อง” มาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่“หัวหน้า” แล้วจะกล้าสั่งได้หรือ?
หรือเป็นแผนปูทางให้ ซุปเปอร์บอร์ด กสทช. ที่ได้คัดเลือกไปสู่บันไดอีกขึ้นนั่ง บอร์ดกสทช. ซึ่งกรรมการชุดปัจจะบันหมดวาระในปี พ.ศ. 2571.