ประวัติศาสตร์ "กริพเพ่น" ถล่มเขมร รบใช้อาวุธจริงครั้งแรกของโลก
วันที่ 26 กรกฎาคม 2568 จากการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา บริเวณ"ภูมะเขือ" และ "ช่องตาเฒ่า" พื้นที่ยุทธศาสตร์แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งฝ่ายไทยสามารถปกป้องและยึดครองภูมะเขือไว้ได้อย่างเด็ดขาด พร้อมกดดันกองกำลังกัมพูชาให้ล่าถอยออกจากแนวรบ นอกจากชัยชนะเชิงยุทธศาสตร์ของกองทัพบกแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวสำคัญจากกองทัพอากาศไทย โดยเพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า
เขมรประเดิม! ครั้งแรกในประวัติศาสตร์! ‘กริพเพ่น’ ขึ้นทำการรบ-ใช้อาวุธจริง วันที่ 26 ก.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขึ้นบิน ‘กริพเพ่น’ ของกองทัพอากาศ ในภารกิจสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ครั้งนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ของเครื่องบินขับไล่ ‘กริพเพ่น’ ที่มีประจำการในหลายประเทศ ที่ใช้ในภารกิจสู้รบ-ใช้อาวุธจริง ครั้งแรก
ที่ผ่านมา ‘กริพเพ่น’ ถูกใช้เพียงภารกิจบินรักษาอาณาเขต เช่น บริเวณทะเลบอลติกในทวีปยุโรป ในฐานะสมาชิก ‘นาโต้’ ผ่านเหตุการณ์สู้รบ ‘ยูเครน-รัสเซีย’ และภารกิจเฝ้าตรวจ-คุ้มกันน่านฟ้า ประเทศลิเบีย ที่กองทัพอากาศสวีเดน เข้าร่วมภารกิจ
นอกจากนี้ยังมีรายงานจากเพจ ThaiArmedForce.com ระบุว่า Gripen เป็นเครื่องบินรบที่ผลิตในสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลางทางการทหารมานานก่อนที่จะเข้าร่วมกับ NATO หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้ที่ผ่านมาสวีเดนเข้าร่วมในสงครามและความขัดแย้งต่าง ๆ น้อยมาก ยกเว้นที่ลิเบียซึ่งกองทัพอากาศสวีเดนเข้าร่วมในภารกิจเฝ้าตรวจและบังคับใช้เขตห้ามบิน รวมถึงภารกิจในพื้นที่อื่น ๆ อีกบางส่วน ส่วนประเทศที่ซื้อ Gripen ไปใช้งานเช่นเช็ค ฮังการี แอฟริกาใต้ หรือบราซิล ก็ยังไม่ได้ใช้ Gripen ในการรบจริงจัง
วันศุกร์ที่ผ่านมากองทัพอากาศวางกำลัง Gripen C/D ที่กองบิน 1 โคราช ซึ่งมีรายงานว่าพบเห็น Gripen ทำการบินเมื่อวานนี้ ดังนั้นเมื่อกองทัพอากาศไทยใช้ Gripen ในภารกิจ Battlefield Air Interdiction ก็จะเป็นครั้งแรกของโลกที่ Gripen ใช้อาวุธอากาศสู่พื้นต่อเป้าหมายจริงนั่นคือกำลังทหารของกัมพูชา
นอกจากระเบิดอเนกประสงค์ต่าง ๆ ที่ไม่นำวิถีแล้ว Gripen ก็สามารถใช้ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์แบบ GBU-12 ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นคาดว่า Gripen จะใช้ระเบิดชนิดนี้เช่นเดียวกับ F-16 ที่มีรายงานการใช้ระเบิดชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง และสามารถใช้ F-16 ฝูง 403 หรือ Combat Control Team (CCT) หรือชุดควบคุมการรบภาคพื้นดินในการชี้เป้าได้ แต่ทั้งนี้ Gripen ก็มีกระเปาะชี้เป้าแบบ LITENING III ใช้งานด้วยเช่นกัน ดังนั้นก็สามารถใช้งาน Gripen ชี้เป้าได้ด้วย
จริง ๆ แล้วจุดเด่นของ Gripen ของไทยก็คือจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ RBS-15F ซึ่งเป็นจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำแบบเดียวของกองทัพอากาศไทย แต่คงจะไม่มีบทบาทในภารกิจครั้งนี้เนื่องจากกัมพูชามีแต่เรือรบขนาดเล็กและยังไม่มีความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้กำลังทางเรือ
อย่างไรก็ตาม อีกองค์ประกอบหนึ่งที่กองทัพอากาศจัดหามาพร้อมกับ Gripen เมื่อสิบปีก่อนคือ Saab 340 AEW ซึ่งติดตั้งเรดาร์ Erieye จำนวน 2 ลำในบทบาทของอากาศยานแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อใช้ในการตรวจตราน่านฟ้า นอกจากนั้นยังมี Saab 340 ELINT ซึ่งเป็นเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในภารกิจการข่าวที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณและคลื่นวิทยุ สุดท้ายก็คือศูนย์ควบคุมปฏิบัติการทางอากาศของกองทัพอากาศไทยใช้ระบบ ACCS ของสวีเดนในการควบคุมและบัญชาการการใช้กำลังทางอากาศทั้งหมดของกองทัพอากาศไทยเช่นเดียวกัน
ขอบคุณเพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว และ ThaiArmedForce.com