ตำรวจยืนยัน 93 ร่าง เหยื่ออาคาร สตง.ถล่ม พร้อมปิดศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์ฯ
วันนี้ (1 กรกฎาคม) ที่ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.อ. ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สส1) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงสรุปผลการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ กรณีเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประกาศปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ แล้ว
เหตุการณ์แผ่นดินไหวในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ทำให้ อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มลงมา เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรหลายฝ่ายได้รับบาดเจ็บ สูญหาย และเสียชีวิตหลายราย
หลังเกิดเหตุ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ทันที และจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรับผิดชอบภารกิจสำคัญในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ การชันสูตรพลิกศพ การตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล การจัดการศพ การติดตามผู้สูญหาย และการส่งศพกลับคืนญาติผู้เสียชีวิต
ศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ประกอบด้วยหน่วยงานหลักในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, กองพิสูจน์หลักฐานกลาง, กองทะเบียนประวัติอาชญากร และกลุ่มงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ อาทิ กองบัญชาการตำรวจนครบาล, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผู้ให้ข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย), กรมการปกครอง (ผู้ให้ข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ถือสัญชาติไทย), และสำนักงานเขตจตุจักรและปทุมวัน (ผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในการออกใบมรณบัตร)
สำหรับการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลตามมาตรฐานสากล ได้นำ 3 วิธีหลักมาใช้ร่วมกัน ได้แก่ การตรวจเปรียบเทียบสารพันธุกรรม (DNA), การตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และการตรวจข้อมูลทันตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจสารพันธุกรรม ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนประสานงานกับศูนย์พิสูจน์หลักฐานจังหวัดทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ญาติผู้เสียชีวิตในการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม และจัดส่งมาตรวจที่สถาบันนิติเวชวิทยาโดยที่ญาติไม่ต้องเดินทางมาเอง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลาเดินทาง
นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2568 จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2568 ศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล มีผลการดำเนินงานดังนี้:
- รายงานศพและชิ้นส่วนศพที่รับเข้าระบบนิติเวชวิทยาเพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล: แบ่งเป็นศพ จำนวน 80 ราย และชิ้นส่วนศพ จำนวน 316 ชิ้น
- DNA ที่เก็บจากญาติของผู้เสียชีวิต/ผู้สูญหายเพื่อตรวจเปรียบเทียบ: จำนวน 95 ราย
- ผลการยืนยันตัวบุคคลจากการตรวจเปรียบเทียบ DNA และลายนิ้วมือ: สามารถยืนยันตัวบุคคลและส่งให้ญาติแล้ว จำนวน 93 ราย เหลืออีก 2 รายที่ยังไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และขอขอบคุณข้าราชการตำรวจและเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ทุ่มเททำงานอย่างหนัก รวมถึงหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ร่วมกันบูรณาการช่วยเหลือประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติผู้ได้รับความสูญเสีย