CIMB ชี้การเมืองกดดันเศรษฐกิจเดือดดั่งงูไฟ หลังนายกฯ หยุดปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราว
กรุงเทพฯ 1 ก.ค. – CIMB ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/68 เดือดดั่งงูไฟ เหตุการเมืองกดดัน หลังนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว แต่ยังคงจีดีพีปี 68 ไว้ที่ 1.8% โตต่ำต่อเนื่องถึงปีหน้า คาด กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี คาดเงินบาทสิ้นปีแตะ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ กังวลสหรัฐอาจใช้ประเด็นเสถียรภาพการเมืองไทยต่อรองเงื่อนไขการค้า
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปีงู เผชิญหลายเรื่องร้อนๆ และเสี่ยงเติบโตช้าลง ทั้งอสังหาริมทรัพย์ซบเซา นักท่องเที่ยวหาย การบริโภคแผ่ว ตลาดยานยนต์ซึม กำลังซื้ออ่อนแอ สินเชื่อหดตัว อัตราดอกเบี้ยสูง เงินบาทแข็งกระทบส่งออก การเมือง สั่นคลอน ปัจจัยต่างประเทศร้อนแรง แต่ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2568 ไว้ที่ 1.8% เข้าข่ายเศรษฐกิจชะงักงัน และอาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หาก GDP หดตัวต่อเนื่องสองไตรมาสติดในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับการคาดการณ์ไปสู่ระดับ 2.3% จาก 2.0% จากแรงส่งที่แรงกว่าคาดของ GDP ไตรมาส 1 ที่ขยายตัวถึง 3.1% และส่งที่เติบโตได้ดี แต่หากพิจารณาสถานการณ์ไตรมาส 2 และแนวโน้มไตรมาส 3 แล้ว ยากจะเชื่อมั่นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะความเดือดทางการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศค่อนข้างฉุดรั้งความเชื่อมั่น โดยเฉพาะหากปัจจัยลบหนักกว่าคาด เช่น สงครามน้ำมัน ราคาน้ำมันพุ่ง หรือการเมืองไทยยืดเยื้อ ยิ่งกดดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่ำสุดเหลือเพียง 1.4% กรณีดีที่สุด (Upside) หากส่งออกฟื้น มาตรการกระตุ้นกระจายตัวได้จริง การเมืองไม่ป่วน และน้ำมันลดราคา GDP มีโอกาสโตได้สูงสุดราว 2.3%
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว กำลังกดดันเศรษฐกิจไทย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) ความเชื่อมั่นภาคเอกชนถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการลงทุน อีกทั้งเอกชนอาจระมัดระวังมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการที่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องของนโยบายได้ ความเชื่อมั่นอาจไม่ลดลงมากนัก แต่ให้ระวังเสถียรภาพรัฐบาลหากพรรคร่วมมีแรงกดดันให้ทบทวนจุดยืนหรือเกิดการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล อาจนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่ผลกระทบในระยะสั้นในทันที (2) การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอาจจำกัดขึ้น แม้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ไม่น่ามีผลต่อการเบิกงบประมาณรายจ่าย โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการระหว่างรอเลือกตั้ง แต่การตอบสนองต่อเงินจากมาตรการทางการคลังที่ใส่ไปในระบบเศรษฐกิจอาจมีประสิทธิผลน้อยลงหากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่หากการเมืองเดินหน้าไปสู่การยุบสภาฯ ก็อาจกระทบต่องบประมาณในปี 2569 ที่อาจล่าช้ากระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ถึงไตรมาส 2 ปีหน้า และ (3) ผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาให้สหรัฐลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย แม้อาจไม่กระทบในระยะสั้น ซึ่งตัวแทนการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐน่าจะได้พบคุยกันตามกำหนดการเดิม แต่ห่วงว่าสหรัฐอาจใช้ประเด็นเสถียรภาพการเมืองไทยในการต่อรองเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น มองว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนเรื่องการปรับเปลี่ยนผู้นำประเทศ ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การเมืองกลายเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญนี้
นอกจากนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ1.50% ปลายไตรมาส 3 และ 1.25% ปลายปีนี้ส่วนค่าเงินบาทน่าอยู่ที่ระดับ 32.90 ปลายไตรมาส 3 และ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐสิ้นปีนี้
“ไม่ว่าฉากทัศน์ไหน จะรุ่ง รอด หรือริ่ง สัญญาณชัดคือเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงโตต่ำต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หากยังไม่เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง และยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุนจากต่างชาติ” ดร.อมรเทพ กล่าว. -516-สำนักข่าวไทย