ชาวจีนหายตัวในไทยได้รับการช่วยเหลือ
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 4 กรกฎาคม 2568 เวลา 22.31 น. • เผยแพร่ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทปักกิ่ง, 4 ก.ค. – สถานทูตจีนประจำกรุงเทพเปิดเผยวันนี้ว่า ชาวจีนรายหนึ่งที่หายตัวไปในประเทศไทย หลังตกลงรับงานถ่ายแบบ ได้รับการช่วยเหลือแล้ว พร้อมเตือนพลเมืองจีนให้ระมัดระวังในการรับข้อเสนองานต่างๆ
สถานทูตระบุในแถลงการณ์ว่า การช่วยเหลือบุคคลแซ่ หรือ นามสกุล “จง” เป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม รวมถึงชื่อเต็มและเพศของบุคคลดังกล่าว
สื่อท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนรายงานในวันศุกร์ว่า ชายชาวจีนวัย 23 ปี นามสกุล “จง” ถูกหลอกลวงและถูกส่งตัวไปยังเมียนมา หลังจากเดินทางมาถึงประเทศไทยเพื่อรับงานถ่ายแบบปกนิตยสารในช่วงต้นเดือนมิถุนายน สถานีโทรทัศน์ ซีซีทีวี ของทางการจีนระบุว่า น้องสาวของเขาได้รับโทรศัพท์ที่น่าสงสัยจากเขาเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่เขาอยู่ในสถานที่ที่ไม่สามารถระบุได้ในเมียนมา น้องสาวจึงได้แจ้งความคนหายต่อตำรวจในกว่างโจวและกรุงเทพ
สถานทูตในกรุงเทพได้แจ้งเตือนพลเมืองจีนให้ระมัดระวัง “งานที่ให้ค่าตอบแทนสูง” ในต่างประเทศที่น่าสงสัย โดยชี้แจงว่า ประเทศไทยกำหนดให้ชาวต่างชาติต้องได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องจึงจะสามารถทำงานในประเทศไทยได้ คำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และแผนการฉ้อโกงการจ้างงานที่พุ่งเป้าไปที่ชาวจีนในต่างแดน
สหประชาชาติระบุในรายงานว่า เครือข่ายอาชญากรรมได้ดำเนินการค้ามนุษย์หลายแสนคนโดยนำตัวไปยังแหล่งหลอกลวงทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายแห่งอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยเหยื่อถูกบังคับให้ทำงานในโครงการออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย
เหตุการณ์ล่าสุดนี้คล้ายคลึงกับกรณีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในเดือนมกราคม เมื่อนักแสดงชาวจีนวัย 31 ปี ถูกหลอกให้รับงานแสดงภาพยนตร์ในประเทศไทย แต่กลับถูกลักพาตัวและนำไปยังแหล่งหลอกลวงออนไลน์ในเมียนมาเพื่อบังคับใช้แรงงาน ซึ่งในที่สุดเขาได้รับการช่วยเหลือโดยตำรวจไทย หลังจากเหตุการณ์นี้ จีนและประเทศไทยได้ตกลงที่จะจัดตั้งศูนย์ประสานงานในกรุงเทพ เพื่อสอบสวนและปราบปรามกลุ่มอาชญากรที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงดังกล่าว
สถานทูตจีนประจำเมียนมาได้เผยแพร่ประกาศฉบับยาวในบัญชีแอปพลิเคชันส่งช้อความ “วีแชต” (WeChat) เมื่อวันศุกร์ โดยกล่าวถึง “การเกิดขึ้นของวิธีการฉ้อโกงเครือข่ายโทรคมนาคมรูปแบบใหม่” พร้อมระบุเคล็ดลับและวลีสำคัญ 20 วลีที่ควรระวัง เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการระบุการฉ้อโกง.-813.-สำนักข่าวไทย