บาททรงตัว จับตาการจ้างงานสหรัฐ
เงินบาททรงตัว จับตาการจ้างงานสหรัฐ ขณะที่ทรัมป์ย้ำ ยังไม่มีแผนขยายระยะเวลาเรียกเก็บผ่อนผันภาษีศุลกากร หลังจากใกล้ครบกำหนดเส้นตายเดิม 9 ก.ค. 68
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/7) ที่ระดับ 32.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (1/7) ที่ระดับ 32.41/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index ปรับตัวลดลงที่ระดับ 96.62 ซึ่งได้แรงหนุนจากความกังวลหนี้สาธารณะ และความไม่แน่นอนของภาษีศุลกากร
โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะขยายระยะเวลาเรียกเก็บผ่อนผันภาษีศุลกากรหลังจากวันเส้นตายเดิมที่เคยกำหนดไว้ซึ่งคือวันที่ 9 ก.ค. โดยรัฐบาลสหรัฐจะส่งจดหมายไปที่ประเทศต่าง ๆ ยกเว้นประเทศที่ได้บรรลุข้อตกลงกับทางสหรัฐ
นอกจากนี้ทางวุฒิสภาสหรัฐมีมติ 51:50 ให้อนุมัติต่อร่างกฎหมายปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยทางวุฒิสภาจะส่งร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ หลังจากนั้นจะส่งให้นายทรัมป์ลงนามภายในวันที่ 4 ก.ค. แต่อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์กล่าววา ร่างกฎหมายนี้จะทำให้หนี้สหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
ทางด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวที่งานเสวนาซึ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า ทางเฟดอาจจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น หากไม่ใช่เพราะเรื่องภาษีศุลกากรมาเกี่ยวข้อง เนื่องจากการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายเรียกเก็บภาษีนี้
นายพาวเวลล์กล่าวว่า การตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งถัดไปจะขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจ โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะปรับลดเพียง 2 ครั้ง โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย., ต.ค. และ ธ.ค.
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยนั้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดอยู่ที่ระดับ 49.0 อย่างไรก็ตามยังคงต่ำกว่า 50.0 ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคการผลิต และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ จากเอสแอนด์พี โกลบอลมีการปรับตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.9 โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 7.769 ล้านตำแหน่ง ส่วนการจ้างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 5.503 ล้านตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เฟดให้ความสำคัญในการพิจารณานโยบายการเงิน
สำหรับปัจจัยในประเทศ วันนี้ (2/7) ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงว่าได้คงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2568 ลงมาอยู่ในกรอบ 1.5-2.0% โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างชัดเจน ซึ่งสวนทางกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตได้ถึง 2.3%
ทั้งนี้ปัจจัยทำให้คาดการณ์ลดลงเกิดจากการที่อุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนทางการเมือง และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนต่ำกว่าที่คาดการณ์ นอกจากนี้ กกร.มีข้อเสนอถึง ธปท.ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นการลดแรงกดดันต่อค่าเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงคงเสถียรภาพค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 32.42-32.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/7) ที่ระดับ 1.1807/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (1/7) ที่ระดับ 1.1820/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
โดยเมื่อวานนี้ได้มีการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือน มิ.ย. โดยอยู่ที่ระดับ 2.0% เป็นไปตามเป้ามายที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ตั้งไว้ เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อย จากราคาในภาคบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าราคาพลังงานจะเริ่มปรับตัวลง ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ที่ 2.3% ในเดือน มิ.ย. โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้มาอยู่ที่ระดับ 1.75% ก่อนจะพิจารณาปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี 2569
อย่างไรก็ตามแนวโน้มดังกล่าวยังคงไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการตกลงทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรป (EU) กับรัฐบาลสหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 1.1768-1.1809 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1767/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/7) ที่ระดับ 143.46/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (1/7) ที่ระดับ 142.82/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวานนี้ (1/7) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ได้กล่าวถึงแนวคิดที่จะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นขึ้นถึง 30% หรือ 35% ซึ่งถือเป็นการทำลายพันธมิตรรายสำคัญของสหรัฐ
โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายทรัมป์ยังคงเรียกร้องเรื่องเดิม ๆ เช่น โดนญี่ปุ่นเอาเปรียบเนื่องจากนำเข้ารถยนต์และข้าวจากสหรัฐไม่มากพอ แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้ (2/7) รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้ พร้อมทั้งกล่าวว่าจะเดินหน้าเจรจาอย่างจริงใจ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งคู่
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 144.33-144.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 144.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน มิ.ย. จากสถาบัน ADP ของสหรัฐ (2/7), ดัชนี PMI รวมจาก S&P Global ของยูโรโซน (3/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (3/7), อัตราว่างงานเดือน มิ.ย.ของสหรัฐ (3/7), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ (3/7), รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงเดือน มิ.ย.ของสหรัฐ (3/7), และดัชนี PMI ภาคการบริการจากสถาบันไอเอสเอ็ม (ISM) ของสหรัฐ (3/7)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.6/-7.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.1/-5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : บาททรงตัว จับตาการจ้างงานสหรัฐ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net