เสริมเขี้ยวเล็บ! ส.นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดอบรม ‘เซฟตี้เทรนนิ่ง’ รุ่น 14
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ รุ่นที่ 14 (Safety Training 14) ระหว่างวันที่ 10-13 กรกฎาคม 2568 ณ มอนโทโรรีสอร์ท อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โดย นางอุษา มีชารี อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 14 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ที่มีนายสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา เป็นหัวหน้าทีมวิทยากร วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและทักษะการทำงานของนักข่าวในพื้นที่เสี่ยง มุ่งเน้นการอบรมทฤษฎีและฝึกปฏิบัติจริงผ่านการจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้นักข่าวมีความพร้อมในการทำงานในสถานการณ์วิกฤตรูปแบบต่าง ๆ
โดยให้ความรู้เรื่องการเตรียมตัวในการเข้าพื้นที่ทำข่าวภัยพิบัติ การบริหารความเสี่ยง และระบบการจัดการสถานการณ์ (ICS - Incident Command System) โดยเน้นหลักการสำคัญคือ "ไม่เพิ่มจำนวนผู้ประสบภัย"
ในการอบรมได้รับเกียรติจาก นายวรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหัวข้อการอ่านข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (Thaiwater.net) เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ พายุ น้ำท่วม ฝนตก ฯ และได้ฝึกจาก “อาสากู้ภัย ใจถึงใจ” นำโดย นายฝันเด่น จรรยาธนากร ให้การฝึกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ การใช้เสื้อชูชีพที่ถูกต้อง หลักการ "ตะโกน โยน ยื่น" และวิธีการช่วยคนตกน้ำขึ้นมาบนเรือ โดยมีสื่อมวลชนผู้เข้าอบรมจากหลายสำนักข่าว ทั้งหมด 28 คน เพื่อให้ได้ฝึกปฏิบัติจริงทั้งในบทบาทผู้ประสบภัยและผู้ช่วยเหลือ
ขณะเดียวกันทีมจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สอนเทคนิคปฐมพยาบาลในสถานการณ์ความขัดแย้ง การทำแผลห้ามเลือด การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ และการทำ CPR ผ่านการฝึกปฏิบัติแบบแบ่งฐาน ซึ่งผู้เข้าอบรมได้ทำ Workshop หลังอบรมทันที
นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้จาก นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในหัวข้อ “การบริหารจัดการกองบรรณาธิการในภาวะวิกฤต ในมุมมองผู้บริหารสื่อ” รวมทั้งเรียนรู้ในหัวข้ออื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การเตรียมตัวทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง การวางแผนในการทำข่าว เพื่อประเมินความปลอดภัย รวมทั้งแลกเปลี่ยนมุมมองในการรายงานข่าวที่มุ่งเน้นการใช้ข้อเท็จจริงมากกว่าความคิดเห็นส่วนตัวและสุดท้ายมีการจำลองสถานการณ์ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้นำบทเรียนทุกหัวข้อปฏิบัติจริงในการทดลองทำข่าวให้วิทยากรตรวจและมีคำแนะนำเพิ่มเติม