'มหาเถรสมาคม' สั่งคณะหนปกครอง เรียก 'พระฉาว' สางปมมั่วสีกา
ที่ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร มีการประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นการนิมนต์กรรมการมาร่วมพูดคุยในวาระพิเศษ หลังเกิดกรณีมีพระชั้นผู้ใหญ่ เข้าไปเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับสีกากอล์ฟ ทั้งเส้นทางการเงิน และมีความสัมพันธ์จนถึงขั้นปาราชิก ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนา โดยพบว่ามีกรรมการมหาเถรสมาคม ที่เป็นเจ้าอาวาสจากวัดต่างๆเดินทางเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง อย่าง พระพรหมกวี เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรฯ ซึ่งมีพระในปกครองเกี่ยวข้องกับสีกากอล์ฟ เดินทางมาร่วมระชุมด้วย และใช้เวลาหารือ กว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที
จากนั้น นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา ฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม แถลงผลการประชุม ว่า กรรมการมีข้อห่วงใยต่อกรณีที่เกิดขึ้นและจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พบว่ามี รายชื่อพระ 11รูป ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่ามี 6 รูปที่ลาสิกขาแล้ว ได้แก่ อดีตพระเทพวชิรปาโมกข์ หรือ เจ้าคุณอาชว์ อดีตพระเทพวชิวธีรคุณ อดีตพระเทพวชิรธีราภรณ์ อดีตพระครูปลัดสุรพล อดีตพระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี อดีตพระครูสิริวิริยธาดา ซึ่งทั้งหมดถือว่า สิ้นสุดสถานภาพการเป็นพระภิกษุไม่สามารถดำเนินการทางวินัยได้ หากตรวจสอบพบว่าบุคคลมีความเกี่ยวข้องกับเงินของวัดและมีเส้นทางการเงิน ทำผิดทางอาญา ให้ดำเนินการตามกฎหมาย
นายอินทพร กล่าวต่อว่า ส่วนอีก 5 รูปนั้น ยังไม่ยืนยันสถานะ ทางกรรมการจึงขอความอนุเคราะห์ตำรวจส่งหลักฐานมาประกอบการพิจารณาทางพระธรรมวินัย และมอบหมายให้คณะใหญ่แต่ละหนที่ปกครอง เรียกตัวมาชี้แจงข้อเท็จจริง แบ่งเป็น
พระปริยัติธาดา วัดกัลยาณมิตรฯ และ พระราชรัตนสุธี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก ได้ให้ทำหนังสือคำสั่งเรียกตัวมาชี้แจงข้อเท็จจริง
พระเทพปวีเมธี วัดประยุรวงศาวาสสรวิหาร และ พระเทพวัชรสิทธิเมธี วัดท่าหลวง จ.พิจิตร ทางมหาเถรสมาคม มีมติขอความร่วมมือตำรวจได้ส่งรูปหลักฐานให้เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ โดยตรง
และ พระเทพวัชราภรณ์ วัดชูจิตธรรมาราม ยังเป็นพระแต่ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชูจิต และตำแหน่งประธานสำนักงานพระปริยัติศึกษาแล้ว โดยมหาเถระสมาคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาการแทนไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว
ทั้งนี้หากเรียกเป็นหนังสือแล้วไม่มาตามระยะเวลาที่กำหนดถือว่าละทิ้งหน้าที่ ผิดวินัยพระร้ายแรง ต้องถูกดำเนินการตามกฎของมหาเถรสมาคม ทั้งพักการปฏิบัติหน้าที่ ถูกปลด ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง
เมื่อถามว่าจากการตรวจสอบพบว่ามีพระรูปอื่นที่เกี่ยวข้องกับสีกากอล์ฟอีกหรือไม่ นายอินทพร กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่สังคมอยากให้มีกฎหมายมาควบคุมพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์นั้น ได้ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตั้งคณะทำงานศึกษาเพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้เหมาะสมและทันสมัย สามารถบังคับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้ โดยต้องทำอย่างเร่งด่วน
เมื่อถามถึงการดำเนินคดีอาญามาตรา 157 สามารถทำได้หรือไม่ นายอินทพร กล่าวว่าสามารถใช้ได้ เพราะพระสังฆาธิการ ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายอาญา ต้องรับความผิดทั้งส่วนของพระธรรมวินัย และกฎหมายอาญา ส่วนกรณีที่ลาสิกขาแล้ว ถือว่า มีความผิดตาม มาตรา157 เช่นกัน เพราะความผิดสำเร็จตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่ง ส่วนการลาสิกขาเป็นการสิ้นปัญหาทางพระธรรมวินัย
เมื่อถามว่ากรณีพระที่ลาสิกขาแล้วจะต้องคืนพัดยศด้วยหรือไม่นั้น นายชัชพล ไชยพร รักษาราชการแทน ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม กล่าวว่า หากมีการลาสิกขาแล้วย่อมพ้นจากการเป็นพระภิกษุ ดังนั้นสมณศักดิ์ ย่อมขาดโดยอัตโนมัติ รวมถึงราชทินนามไม่สามารถใช้ได้ เพราะจะผิดกฎหมายอาญา และพัดยศจะต้องส่งคืนทั้งหมด
มติกรรมการเถรสมาคม รับพระบัญชาพระสังฆราช สางปมฉาวเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงมติของที่ประชุมกรรมการเถรสมาคม มีดังนี้
1. มหาเถรสมาคม น้อมรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ที่มีข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ทั้งนี้ มหาเถรสมาคม มีหน้าที่ธำรงรักษาพระธรรมวินัยและจริยาของคณะสงฆ์ หากความปรากฏว่า รูปใดต้องอาบัติปาราชิก ถือว่าสิ้นสุดความเป็นพระภิกษุทางวินัย และต้องสละสมณเพศตามกฎหมายโดยทันที ส่วนในกรณีที่แม้อาบัติ ยังไม่ถึงขั้นปาราชิก แต่มีความร้ายแรงรองลงมา เช่น อาบัติสังฆาทิเสสทั้ง 23 ข้อ หากผู้ต้องอาบัตินั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะพระสังฆาธิการ หรือเป็นผู้ได้รับสมณศักดิ์ เมื่อความปรากฏ หรือกระบวนการนิคหากรรมพิสูจน์ แล้วว่าต้องอาบัติดังกล่าว แม้จะยังคงสถานะภิกษุอยู่ ก็ถือว่าเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง มหาเถรสมาคมจะดำนินการปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะพระสังฆาธิการ
ทุกรูป และจะมีมติขอพระราชทานพระบรมราชาธานุญาตถสมนศักดิ์ต่อไป
ให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ คุมเข้มพฤติกรรมสงฆ์ใกล้ชิด
2.ในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะใหญ่ จนถึงเจ้าอาวาส ตลอดจนพระวินยาธิการ ตรวจสอบ ดูแล และกำกับพฤติกรรมของพระภิกษุในปกครองอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่ง มติคณะสงฆ์ และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หากปรากฎพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายละเมิดพระธรรมวินัย ให้เร่งดำเนินการสอบสวนตามกฎมหาเถรสมาคมโดยมิชักช้า แล้วรายงานต่อมหาเถรสมาคมโดยเร็ว
ไฟเขียวให้พักการปฏิบัติหน้าที่ "สงฆ์" ที่เข้าข่ายละเมิดพระวินัย
3.นโยบาย กรณีพระภิกษุ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ ดังนี้
3.1 กรณีพระภิกษุ กระทำความผิดทางพระธรรมวินัย หากปรากฏว่ามีมูลหรือเข้าข่ายละเมิดพระวินัย ให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับชั้น ออกคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินการตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย และเป็นหน้าที่ของมหาเถรสมาคม และพระสังฆาธิการ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 24-27 โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงานและสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว
3.2 ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มิใช่เจ้าคณะพระสังฆาสังมาธิการตำแหน่งหน้าที่ปกครอง หรือมิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยกิจการพระพุทธศาสนาและการคณะสงฆ์ แต่พบเห็นพยานหลักฐาน หรือพฤติการณ์ กรณีพระภิกษุกระทำความผิดทางพระธรรมวินัย และมีกุศลเจตนาต่อการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ เข้าบูรณาการความร่วมมือกับเจ้าคณะพระสังมาธิการ พระวินยาธิการ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อจักได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางพระธรรมวินัย กฎหมาย และกฎมหาเถรสมาคม
3.3 ในกรณีที่ยังไม่มีคำพิพากษา การลงโทษตามกระบวนการนิคหกรรม หรือหลักฐานยืนยันความผิดอย่างชัดเจน ทั้งตามกฎหมายบ้านเมืองและพระธรรมวินัย พึงระมัดระวังการให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชน และ สาธารณะชน ด้วยเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาย่อมถูกสันนิษฐานว่า ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะต้องคำพิพากษา หรือ คำตัดสินว่ากระทำความผิด
เร่งปรับปรุงการทำงาน-เน้นบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้อง
4.ให้เร่งปรับปรุงกลไกการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปอย่างเข้มงวด รวดเร็ว รอบคอบ และรัดกุม โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานหลัก ระหว่าง คณะสงฆ์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับพระภิกษุ ผู้ถูกกล่าวหา ชอบด้วยพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่รับเรื่องราว ประมวลข้อมูล ข้อเท็จจริง พร้อมเสนอแนวทางการดำเนินการ ต่อมหาเถรสมาคม เพื่อประกอบดำริในการตรากฎหมาย กฎระเบียบ ออกคำสั่ง หรือมีมติ หรือนำความกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อขอประทานพระวินิจฉัย
ย้ำกระบวนการตรวจสอบ ต้องเน้นธรรมวินัยสูงสุด
5.กระบวนการทั้งปวง ต้องจัดลำดับความสำคัญของการตรากฎหมาย กฎระเบียบ ออกคำสั่งหรือมีมติ ตามหลักความสำคัญเชิงนโยบาย ดังนี้
5.1 หลักพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นหลักการสูงสุดสำหรับวินิจฉัย กรณีพระภิกษุผู้กระทำละเมิดพระวินัย
5.2 หลักความยุติธรรม ปราศจากอคติ รอบคอบ รัดกุม รวดเร็ว เป็นอิสระ คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
5.3 หลักการปกครองคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่ง และมติโดยชอบโดยเจ้าคณะพระสังฆาธิการ ผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับ สิ้นสุดที่มหาเถรสมาคม และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชทั้งนี้ การปกครองบังคับบัญชาคณะสงฆ์ ต้องกระทำ โดยผู้มีอำนาจตามพระธรรมวินัย และกฎหมายเท่านั้น
5.4 หลักการบังคับใช้พระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และมติ อันเป็นส่วนปกครองคณะสงฆ์ อย่างเข้มงวด จริงจังต่อผู้ละเมิดพระวินัย โดยได้ดุลยภาพกับการปกป้อง คุ้มครองผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ถูกสันนิษฐานว่ายังบริสุทธิ์ มิให้ได้รับผลร้ายจากกระบวนการอันมิชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่ง และมติคณะสงฆ์ อีกทั้งความเสียหายจาก กระแสข้อมูลข่าวสารอันคลาดเคลื่อน
ตั้งกรรมการชุดพิเศษ ทบทวนกฎของสงฆ์
6.แนวทางการทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบของคณะสงฆ์ ว่าด้วยการกระทำผิดพระธรรมวินัยประเภทครุกาบัติ
"มหาเถรสมาคมเห็นควร ขอประทานพระวินิจฉัยสมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาโปรดให้ แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษ เพื่อคุ้มครองพระพุทธศาสนาขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีหน้าที่ศึกษาและทบทวนกฎมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้องกับนิคหกรรม อำนาจตามกฎหมายของพระสังฆาธิการ พระวินยาธิการ และ ข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ"
ขณะที่ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน แนวทางการสื่อสารกับสาธารณชน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพระภิกษุ ผู้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือ ถูกสันนิษฐาน ว่า ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมถึงแนวทางบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย
สอบเส้นเงิน พบโยง 4 วัดดัง พบพระบางรูปตั้งทนายสู้คดี
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่านอกจากนั้นในประเด็นการตรวจสอบเส้นทางการเงินของพระกับสีกากอล์ฟ พบว่ามีความเกี่ยวข้อง 4 วัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด คือ วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา วัดใหญ่จอมปราสาท จ.สมุทรสาคร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กทม. โดยตำรวจเตรียมจะขอตรวจสอบเส้นทางการเงินของพระชั้นผู้ใหญ่และบัญชีวัด เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าเงินที่โอนให้สีกากอล์ฟเป็นเงินส่วนตัวหรือเงินวัด หลังพบว่าพระบางรูปที่มีความสัมพันธ์กับสีกากอล์ฟรวบอำนาจการบริหารจัดการเงินของวัด เพื่อให้ทำธุรกรรมได้สะดวก โดยเฉพาะเจ้าอาวาสวัดใหญ่จอมปราสาท พบเส้นทางการเงินโอนให้สีกากอล์ฟ 2 บัญชี เป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท ส่วนพระรูปอื่น ๆ ที่คาดว่า มีส่วนเกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ
ส่วนกรณีที่สีกากอล์ฟจะมีเจตนาในการข่มขู่รีดไถเงินจากพระหรือไม่ ทางการสอบสวนยังไม่พบหลักฐานชัดเจนเพราะเป็นรสนิยมส่วนตัวโดยพุ่งเป้าเข้าหาพระชั้นผู้ใหญ่เพื่อมีความสัมพันธ์และนำเงินมาใช้ส่วนตัว แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปข้อกล่าวหาได้เพราะยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
นอกจากนี้ ยังมีพระชั้นผู้ใหญ่ระดับเจ้าคณะจังหวัด 2 รูป ที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับสีกากอล์ฟ คือเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรและเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างตรวจสอบเส้นทางการเงิน หลังพบว่าใช้บัญชีส่วนตัวโอนเงินให้สีกากอล์ฟ สอดคล้องกับข้อมูลของพล.ต.ต.จรูปเกียรติที่ระบุว่าหลักฐานที่ตำรวจมีสามารถทำให้พระหลายรูปต้องปาราชิก
เจ้าอาวาสวัดชูจิต เตรียมชี้แจงตำรวจพรุ่งนี้
ส่วนคำให้การของอดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) ให้การเป็นประโยชน์บางส่วน โดยให้ข้อมูลพาดพิงไปถึงพระรูปอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสีกากอล์ฟ และจากการตรวจสอบยังพบว่า มีพระเข้าไปเกี่ยวข้องกับสีกากอล์ฟมากกว่า 20 รูป บางส่วนเกี่ยวข้องแค่เรื่องเส้นทางการเงิน และบางส่วนถึงขั้นมีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง และมีข้อมูลว่าพระที่มีความสัมพันธ์กับสีกากอล์ฟมีอีก 6 รูป ที่ยังไม่พบหลักฐานว่าลาสิกขา ในจำนวนนี้พบว่าบางรูปไม่สามารถติดต่อได้ บางรูปตั้งทีมทนายความเพื่อสู้คดี โดยเจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา จะชี้แจงกับพนักงานสอบสวนที่วัดในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ค.)