ดร.เสรี เผย “น่าน” ฝนหนักในรอบ 1,000 ปี
รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมน่านปีนี้รุนแรงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ชาวบ้านใช้ความรู้สึกในการตีความสถานการณ์ จนบางคนก็บอกว่ารุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี แต่ถ้าดูจากปริมาณน้ำฝนของจังหวัดน่าน ปริมาณน้ำฝนตกที่อำเภอปัว เกือบ 500 มิลลิเมตร ซึ่ง 2 วันเฉลี่ยตกอยู่ที่ 430 มิลลิเมตร เท่ากับว่าเป็นฝนที่ตกในปริมาณมหาศาลมากที่สุดในรอบกว่า 1,000 ปี เนื่องจากไม่เคยมีฝนตกหนักขนาดนี้โอกาสที่จะเกิดขึ้นอยู่ที่ 0.1% เท่านั้น จนกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วมน่านเต็มพื้นที่ โดยมีสาเหตุที่มาประกอบกันคือสภาวะโลกร้อนมีอุณหภูมิโลกสูงขึ้นส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของปัญหาน้ำท่วมจังหวัดน่านคือเรื่องผังเมืองที่ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีช่องทางการระบายน้ำที่ดี เมื่อฝนตกมาในปริมาณมากไม่รู้ว่าจะระบายน้ำไปที่ไหน และไม่รู้ว่าจะอพยพคนไปอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่ไม่รู้ว่าจะเอาสาธารณูปโภคย้ายไปอยู่ที่ไหน เนื่องจากน้ำท่วมเต็มพื้นที่ ซึ่งอนาคตข้างหน้าหากไม่มีการปรับผังเมืองก็จะเผชิญเหตุแบบนี้ซ้ำซาก เพราะจังหวัดน่านน้ำท่วมหนักมาติดต่อกัน 2 ปีแล้ว แม้ว่าจะมีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องปรับโครงสร้างเดิมรับมือน้ำท่วม เนื่องจากมีโอกาสท่วมซ้ำซากได้ทุกปี
นอกจากนี้ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้านที่บอกว่าสนามบินเมืองน่านอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมน่านรุนแรงขึ้น ซึ่งจากการประเมินก็พบว่าสนามบินมีการก่อสร้างคันหรือกำแพง โดยปกติแล้วทางน้ำจะต้องไหลผ่านสนามบิน แต่พอสนามบินมีคันกั้นมวนน้ำทั้งหมดก็ถูกตีกลับไปท่วมพื้นที่ชุมชน
สำหรับวันพรุ่งนี้เป็นต้นไประดับน้ำในจังหวัดน่านจะเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่ง และระบบระบายน้ำจะเริ่มทำงาน เมื่อระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง แต่แทนที่มวลน้ำจะไหลลงแม่น้ำ แต่มวนน้ำจะไหลย้อนกลับเข้าเมือง เพราะมีระดับน้ำสูง จึงจำเป็นจะต้องใช้เครื่องสูบน้ำ เพราะสภาพผังเมืองมีการก่อสร้างกำแพงหรือคันไปขวางเมืองไว้ ซึ่งสถานการณ์จะกลับไปหนักที่อำเภอเวียงสา เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำ ก่อนลงเขื่อนสิริกิติ์
รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี แนะนำหน่วยงานในพื้นที่เก็บหลักฐานระดับน้ำที่ท่วมในปีนี้เอาไว้ใช้เป็นหลักฐานแสดงยืนยันถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อประกอบการประเมินความเสี่ยงและการป้องกันให้เกิดความแม่นยำ
ส่วนพื้นที่ใกล้เคียงอย่างจังหวัดแพร่เป็นที่น่ากังวลใจตอนนี้ เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าพรุ่งนี้ระดับน้ำจะแตะระดับสูงสุด ซึ่งจะสูงกว่าตลิ่งประมาณ 2.7 เมตร จะส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งถูกน้ำท่วมบ้านเกือบทั้งหลัง แม้จะไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่ม แต่ยังมีมวลน้ำจากน่านมาสมทบที่อำเภอวังชิ้น ซึ่งก็จะเป็นเส้นทางน้ำไหลเข้าสู่จังหวัดสุโขทัย โดยด่านแรกมวลน้ำจะเข้าไปที่อำเภอศรีสัชนาลัย จึงจำเป็นจะต้องประเมินสถานการณ์ เพราะระดับน้ำอยู่ในระดับคันกั้นน้ำ แต่ลักษณะของแม่น้ำมีความกว้างก็ยังจะสามารถรับมวลน้ำได้อยู่ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด
ส่วนพื้นที่เขตเมืองสุโขทัยไม่สามารถที่จะประเมินสถานการณ์ได้ เนื่องจากมีฝายหาดสะพานจันทร์ในการทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำแบ่งมวลน้ำไปยังแม่น้ำยมสายเก่าได้ ซึ่งจะแบ่งปริมาณน้ำได้เท่าไหร่ก็ต้องดูจากสถานการณ์สภาพอากาศด้วย โดยคนภาคกลางไม่ต้องกังวล เพราะมีแผนการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาไว้แล้ว เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อรองรับน้ำเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากแม่น้ำยม โดยกรมชลประทานก็ได้แจ้งการระบายน้ำแล้วว่าอาจระบายน้ำสูงถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่ท้ายน้ำอาจได้รับผลกระทบบ้างในพื้นที่หลุมต่ำอย่าง อำเภอบางบาล อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ข้อมูลทั้งหมดก็ยังจะต้องติดตามสถานการณ์เพิ่มเติมประกอบกันด้วย ยืนยันว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะไม่ซ้ำรอยปี 54 เพราะสามารถบริหารจัดการน้ำได้
สำหรับการป้องกันล่วงหน้าในการประชุมช่วงวันที่ 20-21 ก.ค.ที่ผ่านมาก่อนหน้าที่จะมีพายุวิภาซัดเข้าพื้นที่ของประเทศไทยก็ได้มีการประชุมรับมือ ซึ่งได้ตระหนักถึงการเตือนภัยให้ชาวบ้านหนีเอาชีวิตรอดให้ได้ โดยการเตือนภัยผ่านระบบ cell broadcast ถือว่ามีประสิทธิภาพอย่างมากในการแจ้งให้ประชาชนรู้สถานการณ์ล่วงหน้า แต่ก็ยังมีทรัพย์สินของประชาชนบางส่วนจบน้ำ เช่นรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งก็ต้องไปดูว่าเป็นคนท้องถิ่นหรือไม่และได้รับการแจ้งเตือนหรือรู้ข้อมูลข่าวสารในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์หรือไม่ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยที่ได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี เตือนประชาชนในจังหวัดน่านและแพร่ ตลอดจนพะเยา เชียงราย ซึ่งมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ในขณะนี้เฝ้าระวังวันที่ 27 และ 28 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากมีร่องความกดอากาศพาดผ่าน ประกอบกับมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้กำลังแรง จึงแนะนำให้ประชาชนในจังหวัดน่านที่เริ่มมีระดับน้ำลดลงอย่าเพิ่งทำความสะอาดบ้าน รอให้ผ่านพ้น 2 วันนี้ไปก่อน และฝนจะขาดช่วงไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม ก่อนกลับมาเฝ้าระวังอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีปัจจัยหรือการยกระดับภัยพิบัติหรือไม่จะต้องดูว่าช่วงดังกล่าวนั้นมีพายุลูกใดเกิดขึ้นในช่วงวันเวลาดังกล่าวด้วยหรือไม่.