ศาลซักแพทย์ รพ.ราชทัณฑ์ ถึงศักยภาพรักษา “ทักษิณ”
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 0.13 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทศาลฎีกา 15 ก.ค.-ศาลซักแพทย์ รพ.ราชทัณฑ์ ถึงศักยภาพรักษาอาการป่วย “ทักษิณ” เข้าขั้นวิกฤตหรือไม่ เทียบอาการป่วยคนวัยเดียว-โรคเดียว นัดถัดไป 18 ก.ค.
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนกรณีการบังคับโทษจำคุกของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 คดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568นัดที่ 4 ช่วงบ่าย เป็นการไต่สวนพยานต่ออีก 2 ปาก โดยใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง ในการไต่สวนนายแพทย์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งศาลได้สอบถามนายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ แพทย์ทัณฑสถาน ถึงศักยภาพในการรักษาของโรงพยาบาลราชทัณฑ์กับอาการป่วยของนายทักษิณ ที่พยาบาลได้บันทึกไว้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ว่า เข้าขั้นป่วยวิกฤตหรือไม่ สามารถตรวจรักษาได้โดยไม่ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจได้หรือไม่ รวมถึงบันทึกการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจในแต่ละวัน ว่ามีอาการดีขึ้นหรือไม่ และยังได้นำประวัติการตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีอาการและวัยใกล้เคียงกับอาการป่วยของนายทักษิณ ที่เคยส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก แต่เพียง 1 วันก็สามารถกลับทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้
ซึ่งนายแพทย์พงศ์ภัค ระบุว่า เป็นหมอรักษาโรคหัวใจ ให้ความเห็นในฐานะแพทย์ แต่ไม่ใช่แพทย์ผู้ตรวจรักษานายทักษิณ หากดูจากบันทึกอาการของพยาบาลทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ สามารถรักษาได้ มียาตามอาการ แต่หากมีอาการอื่นเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับระบบประสาท ไม่สามารถรักษาได้
เช่นเดียวกับประเด็นที่ศาลได้ไต่สวนนายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ลักษณะประเด็นคำถามเดียวกัน เกี่ยวกับศักยภาพในการรักษาอาการ ที่แพทย์บันทึกประวัติอาการของนายทักษิณ ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อเปรียบเทียบและการใช้ยารักษาอาการ
นายแพทย์วัฒน์ชัย ตอบว่าอาการของนายทักษิณ เข้าขั้นวิกฤต ส่วนหลังอาการทุเลา จะสามารถนำกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาเป็นคนประสานวินิจฉัย แต่ไม่ได้มีการประสานมา
นอกจากนี้ศาลยังสอบถามถึงการร่วมประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็น เรื่องการขยายเวลารักษา 120 วัน ที่มีชื่อของนายแพทย์วัฒน์ชัย ในเอกสาร ร่วมอยู่ด้วย แต่นายแพทย์วัฒน์ชัย บอกว่าไม่ได้ให้ความเห็นบอกเพียงว่าให้เป็นไปตามที่แพทย์ผู้ตรวจร่างกายวินิจฉัย
โดยเป็นที่สังเกตว่า นายแพทย์วัฒน์ชัย ตอบว่าควร ไม่ตรงคำถาม มีอาการเสียงสั่นในบางช่วง
ทั้งนี้ในช่วงท้ายศาลได้สั่งให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ส่งสถิติเกี่ยวกับการส่งผู้ป่วยออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่เกิน 120 วัน และให้ส่งสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อกำหนดของหลักการแมนเดลา ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจรักษาของแพทย์ภายใน 7 วัน และให้ทนายของจำเลยส่งเอกสารขอเบิกพยานอีก 2 คน แต่ศาลจะมีคำสั่งในวันที่ 18 ก.ค.
ขณะที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.ประชาธิปัตย์ ได้ขอให้ศาลอนุญาตเผยแพร่คำเบิกความและจะส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม แต่ศาลเห็นว่าไม่มีส่วนได้เสียกับคดี ศาลจึงไม่อนุญาต และมีคำสั่งไต่สวนพยานบุคคลต่อไปในวันที่ 18 ก.ค.2568 เวลา 09.00 น. และห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกที่เข้าฟังการไต่สวนจดบันทึกคำเบิกความของพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน เนื่องจากอาจกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล.-319.-สำนักข่าวไทย