หุ้นไทย “ฟื้นหรือฟุบ” หลังปรับครม.ใหม่ เช็กเลย!
อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนระอุ ! หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 2 เสียง รับคำร้องคดี สว. ขอถอดถอน “แพทองธาร ชินวัตร” ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังปมคลิปเสียงสนทนาระหว่าง “นายกฯ - ฮุน เซน”หลุด โดยศาลฯ สั่งนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งผู้ถูกร้องยื่นคำร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
โดยวันเดียวกันมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว หนุนดัชนีหุ้นไทยพลิกปิดพุ่ง 20.45 จุด เพิ่มขึ้น 1.88% แตะที่ระดับ 1,110.01 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 41,714.05 ล้านบาท เนื่องจากข่าวดังกล่าวสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุน หลังจากอึมครึมมานานส่งผลด้านจิตวิทยาเชิงบวกทำให้ตลาดคลายความกังวลการยกระดับความรุนแรงการชุมุนม และตลาดคาดหวังจะมีนโยบายใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีเพิ่มขึ้น
หากย้อนดูฟันโฟล์ว ตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้านและตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาพบว่า ต่างชาติขายหุ้นอินโดนีเซียมากสุด 511 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหุ้นไทย 244 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ 72 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหุ้นเวียดนาม 44 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเอเชียใต้ถูกขายสุทธิ ขณะที่เอเชียเหนือซื้อสุทธิ โดยตลาดหุ้นไต้หวันซื้อสุทธิ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเป็นช่วงการเมืองร้อนแรง เกิดประเด็นคลิปเสียงหลุด และดัชนีทั้ง MSCI, FTSE Rebalancing ปรับดัชนีเข้า-ออกรอบใหม่เป็นปัจจัยกดดันหุ้นไทย
ส่วนทิศทางตลาดหุ้นไทยหลังจากที่ได้ครม.ใหม่จะกลับมาฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน ในวันนี้ TNN Online พาไปไขคำตอบจากกูรูตลาดทุนกันค่ะ
เริ่มจาก“ภราดร เตียรณปราโมทย์” ผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัสฉายภาพว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ทีผ่านมาปรับขึ้น 4% ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ขึ้นแรงสุดของปีนี้ หลังจาก 4 ปัจจัยคลี่คลาย ทั้งเรื่องสงครามในตะวันออกกลาง การเดินหน้าเจรจาเรื่องภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา และการเมืองนอกสภาผ่อนลงไป หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องปมคลิปเสียงหารือกับนายฮุน เซน ผู้นำกัมพูชาหลุด และสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง ซึ่งต้องรอดูว่าผลการตัดสินของศาลจะออกมาอย่างไร
ถ้าหากให้นายกฯ หยุดปฎิบัติหน้าที่ก็ต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ขึ้นมาแทน แต่ถ้านายกฯลาออก พรรคประชาชนฝ่ายค้าน เสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว โดยที่ไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งทำให้มีเสียงทั้งหมด 234 เสียง หายไป 14 เสียง จากนั้นเดินหน้าสู่การยุบสภาภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ต่อหรือฝ่ายค้านขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทนก็เป็นไปตามกลไกรัฐสภาลดแรงกดดันผู้ชุมนุมและรัฐประหาร แต่หากศาลฯตัดสินให้ปฎิบัติหน้าที่ต่อก็รัฐบาลก็บริหารประเทศตามระบบต่อไป
โดยในช่วงที่การเมืองร้อนแรงเม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ จนมีมูลค่าตลาดสูงถึง 17.33 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 13.9 ล้านล้านบาท ซึ่งปกติเม็ดเงินจากตลาดหุ้นจะมากกว่าตลาดตราสารหนี้เสมอ นอกจากนี้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) อายุ 1-5 ปีอยู่ระดับต่ำกว่า 1.5% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75% แสดงให้เห็นว่าเงินไหลเข้าตราสารหนี้ไทย หรือสินทรัพย์ปลอดภัยมากเกินไป ดังนั้นเชื่อว่าหากสถานการณ์ในประเทศและนอกประเทศคลี่คลายจะดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน และส่งผลให้เม็ดเงินจากตลาดพันธบัตรจะไหลกลับมาที่ตลาดหุ้นมากขึ้น ดังนั้นมองว่าหุ้นไทยสัปดาห์หน้ายังแกว่งไซด์เวย์อัพ กรอบเคลื่อนไหว 1,100 จุด ถึง 1,160 จุด
ส่วนกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นปันผล เพราะเม็ดเงินมีโอกาสไหลจากพันธบัตรมาหุ้นปันผลมากขึ้น โดย SET ให้ปันผลประมาณ 4.5% ขณะที่บอนด์ยีลด์ 1 ถึง 5 ปี ให้ผลตอบแทนกว่าฝากเงิน หรือไม่ถึง 1.5%
M จัดโปรโมชั่น 229 บาทดึงลูกค้าทำให้มีรายได้เติบโตในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปันผล 9% ต่อปี
SC ราคาหุ้นลงมาเยอะ โดยมีการพรีเซล (Presale) มีสัญญาณฟื้น ปันผล 8% ต่อปี
TU ราคาหุ้นปรับขึ้นน้อยกว่าบริษัทลูกมีโอกาสฟื้นตัว ปันผล 7% ต่อปี
KTC ราคาลงลึกหลังถูกวางค้ำประกันในบัญชีมาร์จิ้น คาดว่าจะฟื้นตัว ปันผล 5 % ต่อปี
หุ้นมีกระแสบวกเฉพาะตัว
STECON ได้ประโยชน์จากกระแสการเปลี่ยนขั้นทางการเมือง ราคาเป้าหมาย 18.80 บาท
BCH จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากช่วงไฮซีซั่น ธุรกิจเติบโต 2 หลัก YOY
ERW การชุมนุมลดลง คาดคนจีนหันมาเที่ยวไทยมากขึ้น
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามคือการผ่อนผันภาษีอัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐครบกำหนด 90 วัน ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ ซึ่งต้องดูว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าจากไทยเท่าไหร่ จากเดิมที่กำหนดไว้ 36% โดยตลาดมองว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษีจากไทยประมาณ 15-25% หากอยู่ในระดับนี้เชื่อว่าตลาดยังรับได้ แต่ถ้าเกิน 25% ตลาดจะผันผวน และถ้าสหรัฐฯคงเก็บภาษีสูง 36% จะทำให้ตลาดปั่นป่วนหนัก
แต่นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ระบุว่า อาจจะเก็บภาษีตามขั้นบันได หรืออาจขยายเวลาต่อรองให้อีก 90 วัน ซึ่งหากสหรัฐฯไม่ผ่อนปรนให้ไทยเก็บภาษี 36% เลยอาจทำให้ดัชนีหุ้นไทยต่ำกว่า 1,000 จุด
ฝั่ง “ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์" AISA , CFTe ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรี ประเมินว่า หุ้นไทยสัปดาห์หน้าแกว่ง ไซด์เวย์-ไซด์เวย์อัพ แรงหนุนจากพัฒนาการการเจรจาการค้าสหรัฐฯ กับประเทศที่ยังไม่มีข้อสรุป โดยให้โอกาส 65% คาดไทยจะได้ดีลใกล้เคียงหรือดีกว่าประเทศศักยภาพใกล้กัน ซึ่งอิงกรณีเวียดนามที่สหรัฐฯ เน้นความเสี่ยงสินค้าสวมสิทธิ์ และสหรัฐฯกังวลประเด็นดังกล่าวกับไทยในระดับต่ำกว่าเวียดนาม
โดย SET ฟื้นตัวช่วงสหรัฐฯ ผ่อนผันภาษี 9 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นอันลำดับต้น ๆ ของโลก ช่วยจำกัด Downside ประเมินแนวต้านแรกที่1,134 จุด แนวต้านถัดไปที่ 1,145จุด แนวรับ 1,104 จุด แนวต้านที่ 1,094จุด
ส่วนกลยุทธ์การลงทุนให้น้ำหนัก หุ้นอิงดอกเบี้ยขาลง (เช่าซื้อ โรงไฟฟ้า High Yield และหนี้สูง) และหุ้น Reopening Trade ที่ลักษณะของดีลการค้ามีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอนในส่วนการที่ต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อผลิตและจำหน่าย (โรงไฟฟ้า, ปิโตรเคมี, เทคฯ) และกลุ่มที่ยัง Undervalue นิคม, China Plays
• ADVANC(TP-350) กำไร 2Q25F เด่น การต่อรองไทยนำเข้าจากสหรัฐฯเพิ่ม หากครอบคลุมสินค้าเทคฯ จะบวกต่อต้นทุน
• GULF(TP-56.5) มองหุ้นที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-ไทย
• PTTGC (TP-28) Deep Value ลุ้นภาพบวกจีน ได้ประโยชน์หากนำเข้าก๊าซาสหรัฐฯเพิ่ม
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม
- บทสรุปการเจรจาการค้าไทย – สหรัฐฯ คาดตลาดเน้น 2 ประเด็น 1. ข้อสรุปก่อนมาตรการผ่อนผันสิ้นสุด 9 ก.ค. 2. ข้อเสนอที่ได้ vs ประเทศศักยภาพใกล้กัน เช่น เวียดนาม เราให้โอกาส 65% ไทยได้ข้อเสนอใกล้กัน - ดีกว่า คาดหนุนโมเมนตัมหุ้น Reopening Trade ที่ลักษณะของดีลการค้ามีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอนในส่วนการที่ต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น (เทคโนโลยี, กลุ่มนำเข้าสินค้ามาจำหน่าย/ผลิต, China Plays, นิคม)
- 7 ก.ค. เงินเฟ้อ CPI มิ.ย. คาดเงินเฟ้อทั่วไป -0.1%y-y จากเดิม -0.57%y-y, เงินเฟ้อพื้นฐาน คาด +1.1%y-y จากเดิมอยู่ที่ +1.09%y-y
- 7-11 ก.ค. ร่างกฎหมายที่รัฐฯต้องการผลักดันเข้าสภา เราแนะจับตาร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาท บวกต่อหุ้นรถไฟฟ้า อสังหาฯ ค้าปลีก
- 9 ก.ค. รายงานการประชุม FOMC รอบเดือนมิ.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด
- 9 ก.ค. เงินเฟ้อ CPI มิ.ย ของจีน คาด +0.0%y-y เท่าเดือนก่อน และเงินเฟ้อ PPI มิ.ย. คาด -3.1%y-y จากเดิมอยู่ที่ -3.3%y-y
ปิดท้ายที่ “วิลาสินี บุญมาสูงทรง”ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก มองหุ้นไทยในสัปดาห์หน้าปรับตัวลง เนื่องจากการเมืองในประเทศมีความไม่แน่นอน หลังปรับครม.ใหม่ รัฐบาลขาดเสถียรภาพ การดำเนินนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 69 ที่อยู่ระหว่างพิจารณาอาจล่าช้าขณะที่ผลการเจรจาภาษียืดเยื้อกดดันตลาดหุ้นไทยมองกรอบดัชนีที่ 1,100-1,140 จุด
ประเด็นที่ต้องติดตาม
- 4 ก.ค. ญี่ปุ่น รายงานการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนพ.ค.
- 8 ก.ค. ญี่ปุ่น รายงานดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนพ.ค.
- 8 ก.ค. สหรัฐ รายงานการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนมิ.ยิ
- 8 ก.ค.และ 15 ก.ค. ศาลฎีกานัดสอบพยานคดีชั้น 14
- 9 ก.ค. ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิง
- 9 ก.ค. จีน รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย. และดัชนี
- ราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย.
- 10 ก.ค. เฟดเปิดเผยรายงานการประชุนที่ 17-18 มิ.ย.
- 10 ก.ค. ญี่ปุ่น รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย.
- 29-30 ก.ค. ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ครั้งที่ 4/68
- กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ
- สศค. รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง, ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค,
- สหรัฐ รายงานสด็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนพ.ค. และสด็อก
กลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้น
COCOCO“ซื้อเก็งกำไร” Bloomberg consensus ประเมินราคาเป้าหมาย 8.05 บาท คาดผลประกอบการ 2Q68 เติบโต QoQ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วง High season ของธุรกิจเครื่องดื่ม ประกอบกับบริษัทได้ปรับเพิ่มราคาขายสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยหนุนผลประกอบการเพิ่มเติม แต่คาดจะยังชะลอตัว YoY เนื่องจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามต้นทุนวัตถุดิบเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น จากปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น ทำให้ราคามะพร้าวลดลง
TISCO "ถือ" ราคาเหมาะสม 99 บาท โดยBloomberg Consensus คาดกำไรปี 68 เฉลี่ย 6,487 ล้านบาท หดตัว 6%YoY แต่การถือหุ้นระยะยาวให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับสูงเกือบ 8% แม้ว่า แนวโน้มกำไร 2Q68 ลดลง 11%YoY และลดลง 5%QoQ เหลือ 4,857 ล้านบาทเนื่องจาก 1. รายได้ดอกเบี้ยอ่อนตัวลงจาก NIM แคบลง 2. รายได้ค่าธรรมเนียมยังแผ่วตามภาวะตลาดทุนที่ซบเซา 3.NPL และ credit cost มีโอกาสสูงขึ้น
แม้ว่านักลงทุนจะคลายกังวลในระดับหนึ่งต่อการเมืองในประเทศ แต่ปัจจัยที่ใหญ่กว่า ซึ่งทุกคนต้องเฝ้าจับตาใกล้ชิด คือการเจรจาภาษีระหว่างไทยและสหรัฐฯว่าจะออกมาอย่างไร โดยผลเจรจาจะเป็นปัจจัยชี้เป็นชี้ตายต่อเศรษฐกิจไทย และเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดหุ้นไทยในระยะต่อไป….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "กรุงศรี" คาด 5 ข้อสรุปไทยเจรจาปิดดีล "ภาษีสหรัฐฯ" เแย่สุด SET ไม่หลุด 1,000
- "สมาคมนักวิเคราะห์" ชี้เป้า "หุ้นไทย" ปี 68 ที่ 1,231 จุด หั่น EPS เหลือ 85.43 บาท มองปัจจัยกดดันรอบด้าน
- "CGSI" มอง "กลุ่มแบงก์" กำไรหด QOQ-YOY หลัง NIM-สินเชื่อ ขาลง คาดทยอยหั่นเป้าหลังงบ 2Q68
- ถอดรหัส “หุ้นวางมาร์จิ้น” ที่กลายเป็น "ฝันร้าย" ของนักลงทุนรายย่อย
- "หุ้นไทย" รั้งบ๊วยภูมิภาค ครึ่งปีดัชนีฯทรุด -15% ลึกสุดรอบ 5 ปี "การเมือง-ภาษีสหรัฐฯ" กดดัน