จีนไม่มีสิทธิ์แทรกแซงจิตวิญญาณทิเบต! ‘องค์ทะไลลามะ’ ยืนยันก่อนวันเกิดครบ 90 ปี การสืบทอดต้องยึดตามจารีตเดิมเท่านั้น
ตำแหน่ง ‘ทะไลลามะ’ ต้องสืบทอดผ่านการกลับชาติมาเกิดเท่านั้น องค์ทะไลลามะส่งสารชัดถึงจีน “ไม่มีใครมีสิทธิ์แทรกแซงจิตวิญญาณทิเบต”
การสืบทอดตำแหน่ง ‘องค์ทะไลลามะ’ ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนานิกายทิเบต ได้รับความสนใจเป็นพิเศษในช่วงหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์ทะไลลามะองค์ปัจจุบันเข้าสู่วัยชรา ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะเข้ามาควบคุมกระบวนการสำคัญนี้
วันนี้ (2 ก.ค.) องค์ทะไลลามะองค์ที่ 14 ได้มีพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนถึงวันคล้ายวันเกิดครบ 90 ปีของพระองค์ โดยทรงย้ำชัดว่า การสืบทอดตำแหน่งจะต้องเป็นไปตามขนบธรรมเนียมโบราณ และจะเริ่มต้นได้หลังพระองค์สิ้นพระชนม์เท่านั้น
พระองค์ยังย้ำด้วยว่า Gaden Phodrang Trust ซึ่งองค์กรไม่แสวงกำไรที่พระองค์ตั้งขึ้นมา จะเป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจในการค้นหาและรับรองการกลับชาติมาเกิดขององค์ทะไลลามะองค์ใหม่ โดยกระบวนการจะต้องเป็นไปตามพิธีกรรมดั้งเดิม เช่น การตรวจสัญญาณ การทดสอบ และการปรึกษากับผู้นำศาสนา รวมถึง ผู้พิทักษ์ธรรม (Dharma Protectors)
ถ้อยแถลงนี้ไม่ใช่แค่การประกาศในเชิงศาสนา แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณต่อต้านความพยายามของรัฐบาลจีน ที่ต้องการเข้าควบคุมกระบวนการสืบทอดผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของชาวทิเบต ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งต่ออัตลักษณ์ วัฒนธรรม และความหวังของประชาชนทิเบตทั่วโลก
จากผู้นำรัฐ สู่ศูนย์รวมจิตวิญญาณของผู้ลี้ภัย
‘องค์ทะไลลามะ’ เป็นที่เคารพบูชาของชาวพุทธนิกายทิเบตในฐานะองค์อวตารของ พระอวโลกิเตศวร (Avalokiteshvara) หรือ ‘เชนเรซิก’ เทพโพธิสัตว์แห่งความเมตตา ผู้ปกป้องทิเบต สถาบันนี้มีรากฐานตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 และมีการสืบทอดตำแหน่งทะไลลามะแล้ว 14 องค์
นับตั้งแต่อดีต สถาบันทะไลลามะมีบทบาทสำคัญทั้งทางศาสนาและการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1642 องค์ทะไลลามะได้ทำหน้าที่ทั้งเป็นประมุขทางการเมืองและผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต
แต่สถานะนี้เปลี่ยนไปในยุคของทะไลลามะองค์ที่ 14 ซึ่งเป็นองค์ปัจจุบัน เมื่อพระองค์เลือกสละอำนาจทางการเมืองในปี 2011 และโอนบทบาทดังกล่าวให้แก่รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย
แม้จะวางมือจากบทบาททางการเมืองโดยตรง แต่อิทธิพลทางจิตวิญญาณขององค์ทะไลลามะยังคงลึกซึ้งอย่างมากต่อชาวทิเบต โดยเฉพาะในฐานะ ศูนย์รวมจิตวิญญาณและความหวังของผู้ลี้ภัย ที่ต้องพลัดพรากจากแผ่นดินเกิด
นอกจากนี้องค์ทะไลลามะ องค์ปัจจุบันยังเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ในฐานะสัญลักษณ์ของสันติภาพและการต่อสู้ด้วยสันติวิธี โดยพระองค์ได้รับ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1989 จากการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวทิเบตด้วยแนวทางอหิงสา
ตามความเชื่อของชาวพุทธทิเบต การสืบทอดตำแหน่งของทะไลลามะมีความพิเศษอย่างยิ่ง เมื่อทะไลลามะองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ วิญญาณของท่านจะกลับชาติมาเกิดใหม่ในร่างของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งจะมีการดำเนินกระบวนการค้นหาผู้สืบทอดอย่างละเอียดอ่อนตามพิธีกรรมโบราณ
กระบวนการนี้ต้องอาศัยการทดสอบ ตรวจสอบสัญญาณ และการปรึกษากับลามะอาวุโสและ “ผู้พิทักษ์ธรรม (Dharma Protectors)” ซึ่งมีพันธะสัตยาบันต่อสายสืบทอดของทะไลลามะ ทั้งหมดนี้จะดำเนินการโดย Gaden Phodrang Trust ซึ่งองค์ทะไลลามะย้ำว่า “ไม่มีใครอื่นมีสิทธิ์แทรกแซงกระบวนการนี้”
เส้นทางชีวิตขององค์ทะไลลามะองค์ที่ 14
องค์ทะไลลามะองค์ที่ 14 ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1935 โดยมีนามเดิมว่า ลฮาโม ดอนดุป (Lhamo Dhondup) ในครอบครัวชาวนาในหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต
เมื่ออายุเพียง 2 ขวบ ท่านได้รับการระบุว่าเป็นภาคกลับชาติมาเกิดของทะไลลามะองค์ก่อนหน้า คือ ทุบเต็น กยาโซ (Thubten Gyatso) และในปี 1940 ท่านได้เข้าสู่พระราชวังโปตาลา (Potala Palace) และได้รับการประกาศให้เป็นทะไลลามะองค์ใหม่ในพระนาม “เต็นซิน กยาโซ” (Tenzin Gyatso)
พระองค์ทรงศึกษาอย่างเข้มข้นด้านปรัชญาพุทธศาสนาและจารีตสงฆ์ทิเบต ก่อนจะเผชิญเหตุการณ์สำคัญในปี 1959 เมื่อกองทัพจีนเข้าสู่ทิเบต ทำให้พระองค์ต้องลี้ภัยไปอินเดียพร้อมผู้ติดตาม และประทับอยู่ในธรรมศาลาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก และเป็นที่เคารพของศาสนิกชนจากหลากหลายศาสนา แม้พระองค์จะกล่าวอย่างถ่อมตนว่า “ข้าพเจ้าเป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดารูปหนึ่ง”
จีนกับความพยายามแทรกแซงการสืบทอดบัลลังก์ธรรม
องค์ทะไลลามะไม่เพียงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ทรงมีบทบาททางการเมือง
หลังปี 1950 ที่จีนประกาศให้ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ รัฐบาลจีนมองว่าสถาบันทะไลลามะเป็นศูนย์รวมอิทธิพลที่อาจกระทบต่อความมั่นคง จึงพยายามควบคุมการสืบทอดโดยอ้างกฎหมายศาสนา และคำสั่งรัฐบาลหมายเลข 5 ปี 2007 ซึ่งกำหนดว่า การกลับชาติมาเกิดของผู้นำศาสนาต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลาง
จีนยังแต่งตั้ง ‘ปันเชนลามะ’ (Panchen Lama) ขึ้นในแบบของตน โดยอ้างว่าจะมีบทบาทในการค้นหาทะไลลามะองค์ถัดไป อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและชาวทิเบตพลัดถิ่นมองว่าเป็นการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะยึดตามจารีตศรัทธา
เสียงเรียกร้องจากชาวทิเบต สู่การปกป้องสถาบันทะไลลามะ
ความพยายามควบคุมสถาบันทะไลลามะของจีนถูกมองว่าเป็นการ แทรกแซงทางจิตวิญญาณ ที่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมประชากรทิเบต และลบล้างอัตลักษณ์ของดินแดนที่เคยมีเอกราชและวัฒนธรรมเฉพาะตนอย่างชัดเจน
ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา องค์ทะไลลามะได้รับจดหมายและข้อความจากผู้นำศาสนา สมาชิกสภาทิเบตพลัดถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน และชาวพุทธทั่วโลก รวมถึงชาวทิเบตในประเทศ ที่เรียกร้องให้สถาบันทะไลลามะดำรงอยู่ต่อไป
เสียงสะท้อนเหล่านี้นำไปสู่พระดำรัสสำคัญก่อนวันเกิดครบ 90 ปี ว่า “สถาบันทะไลลามะจะยังดำรงอยู่” และจะไม่ยอมให้บุคคลหรือรัฐบาลใดแทรกแซงกระบวนการศักดิ์สิทธิ์นี้
‘จีน’ โต้ทันควัน ย้ำผู้สืบทอดทะไลลามะต้องมาจากการจับสลากเท่านั้น
ภายหลังถ้อยแถลงขององค์ทะไลลามะได้รับการเผยแพร่ออกมาในวันนี้ (2 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาตอบโต้ทันที โดยระบุว่า
“การระบุทะไลลามะองค์ถัดไปต้องใช้ระบบจับสลากชื่อขึ้นมาจากภาชนะทองคำ (lot-drawing system) ตามธรรมเนียมตั้งแต่ปี 1792 ซึ่งเคยใช้เลือกทะไลลามะ 3 องค์ก่อนหน้า”
จีนอ้างว่าพิธีนี้เป็น “รูปแบบเฉพาะของศาสนาพุทธทิเบต” และสะท้อน “เสรีภาพทางศาสนา” ภายใต้กฎหมายของจีน พร้อมย้ำว่าการสืบทอดทุกกรณีต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลาง
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์จำนวนมากมองว่าจีนใช้พิธีดังกล่าวเพื่อควบคุมทิศทางศาสนาในทิเบต และกำหนดผู้นำจิตวิญญาณตามเป้าหมายทางการเมืองของรัฐ แม้จีนจะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยอ้างว่า ทุกอย่างเป็นไปตามประวัติศาสตร์และกฎหมาย