จีนจับมือสถาบันลุ่มน้ำโขง จัดประชุมโลจิสติกส์ส่งเสริมการท่องเที่ยวรถไฟจีน ลาว ไทย
ที่สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) น.ส.หยาง หนิง รองกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยที่ จ.ขอนแก่น (Ms.Yang Ning Duputy Consulate General of The People's Repubic of Khon Kaen) พร้อมด้วย นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ร่วมแถลงข่าวการเตรียมการจัดการประชุมด้านโลจิสติกส์และการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ สป.จีน ประจำประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง และสำนักงานกิจการต่างประเทศของรัฐบาลประชาชนมณฑลยูนนานสป.จีน ได้กำหนดจัดการประชุมขึ้นในวันที่ 19 ส.ค.2568 ที่ จ.ขอนแก่น ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนจากนานาประเทศ และผู้ที่สนใจในการลงทุนและดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าพรมแดน โลจิสติกส์และการท่องเที่ยวตามระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว-ไทย เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
รองกงสุลใหญ่ฯ กล่าวว่า การเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าจีน-ลาว ในปี 2564 ที่ผ่านมาได้ทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางรถไฟโตขึ้น 4% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาที่หลวงพระบางและนครหลวงเวียงจันทน์ ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังคงก่อให้เกิดการจ้างงานในระดับภูมิภาคมากถึง 120,000 คน
ดังนั้นการจัดการประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ร่วมในการใช้โครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบบครอบคลุม การบูรณาการทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือระหว่างประชาชนในจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และไทย
"การแถลงข่าวในวันนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเริ่มต้นของแคมเปญเท่านั้น แต่ยังเป็นการสานต่อวิสัยทัศน์ร่วมของทั้งสามประเทศ รถไฟจีน-ลาว-ไทยเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างประเทศและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรถไฟสายนี้จะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่สำหรับการค้าข้ามพรมแดนและการท่องเที่ยวในภูมิภาค รวมไปถึงการช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนทั้งสามประเทศ ผ่านการประชุมที่จะมาถึงและโครงการต่าง ๆ เช่นแคมเปญ 10 แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม' ที่จะช่วยเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ สำหรับชุมชนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาคการท่องเที่ยวจีนยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการบูรณาการในภูมิภาคผ่านความร่วมมือในทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน"
ขณะที่ ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า รถไฟจีนลาว-ไทยเป็นมากกว่าเส้นทางเชื่อมต่อทางกายภาพ แต่ยังเป็นเส้นทางเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการฟื้นฟูของเศรษฐกิจและความยืดหยุ่นของภูมิภาค
"นี่ไม่ใช่เพียงแค่ระเบียงการขนส่ง แต่เป็นแพลตฟอร์มเปลี่ยนแปลงสำหรับโลจิสติกส์ที่ยั่งยืน การท่องเที่ยว และการเติบโตแบบครอบคลุมอย่างไรก็ตามการประชุมด้านโลจิสติกส์และการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ที่ จะจัดขึ้นในวันที่ 19 ส.ค. 2568 ที่ จ.ขอนแก่น งานนี้จะประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ได้แก่ การเสวนาหลัก การอภิปรายแบบแยกตามประเด็น นิทรรศการ และช่วงจับคู่ธุรกิจ โดยจะรวบรวมผู้เข้าร่วมที่สำคัญ ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ผู้นำธุรกิจ และผู้ประกอบการที่โดดเด่น รวมถึงนักลงทุนและพันธมิตรการพัฒนาที่สนใจในการพัฒนาระเบียงรถไฟสายนี้ การอภิปรายจะมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์สำคัญต่าง ๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งแบบหลายรูปแบบ การขยายโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ดิจิทัล การยกระดับการอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติอีกด้วย"