จาก 4 ทันสมัย ถึงปฏิวัติเอไอ ในสัมพันธ์ 50 ปี ไทย-จีน
ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-จีน ที่บรรจบ 50 ปี ในปีนี้มีหลากแง่มุมที่ชวนสะท้อนย้อนคิด หนึ่งในนั้นคือพัฒนาการของบิ๊กเทคโนโลยีของจีน ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในบ้านเรา และเวทีโลก
เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ?
4 ทันสมัยสู่บิ๊กเทคโลก
หลังปี 1978 “เติ้ง เสี่ยวผิง” เปลี่ยนสังคมจีนครั้งใหญ่ ด้วยระบอบการปกครองสังคมนิยมใหม่ที่ใช้ระบบตลาดส่งเสริมเศรษฐกิจ และเปลี่ยนความเป็นอยู่ชาวจีนกว่าพันล้านคน ด้วยนโยบาย 4 ทันสมัย ภายใต้กรอบ 4 ประการ
ประการแรก คือ พัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 4 ด้านภายในปี 2000 ได้แก่ การเกษตร อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ
ประการที่สอง คือ การสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ และจิตวิญญาณแบบจีน ซึ่งต้องเริ่มจากการกินดี อยู่ดี
ประการที่สาม คือ การสร้างประชาธิปไตยสังคมนิยมฉบับจีนเอง
ประการสุดท้าย คือ เปิดประเทศรับการลงทุน ด้วยข้อเสนอยวนใจ “ตลาดใหญ่ การปกครองมั่นคงใต้ระบบเดียว”
ผลพวงจากการเปิดประเทศทำให้เกิดการพัฒนาเมืองสำคัญเป็นแหล่งลงทุนอุตสาหกรรมใหม่จากตะวันตก ที่โดดเด่นและคนไทยรู้จักดี คือ“เสิ่นเจิ้น” เป็นแหล่งผลิตสินค้าของโลก และกลายเป็นรากฐานแห่งอนาคตของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอในยุคต่อมา
“เสิ่นเจิ้น” เดิมเป็นชุมชนประมงเล็ก ๆ แต่ภายใต้แผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เมืองนี้เป็นหน้าด่านรับเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ด้วยแนวคิด “ก๊อบปี้” แล้วค่อย“พัฒนา” ซึ่งจีนทำได้โดดเด่นแม้ในช่วงแรกจะโดนปรามาสว่าเป็นของลอกเลียนแบบ แต่สิ่งที่จีนได้มาคือการรวมซัพพลายเชนขนาดใหญ่ และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตต่อยอดขึ้นจนทำให้เสิ่นเจิ้นกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีซัพพลายเชนใหญ่ที่สุดในโลกในปลายทศวรรษ 2010
การ “ลอกเลียน” การผลิตแบบตะวันตก ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา สอดคล้องกับจังหวะของโลกที่เทคโนโลยีเริ่มเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต และดิจิทัล ในทศวรรษ 1990 เสิ่นเจิ้น ไม่ใช่แค่แหล่งผลิตสินค้า แต่กำลังกลายเป็นเมืองที่ให้กำเนิดบริษัทอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีใหม่อีกด้วย
ในทศวรรษ 1990 จุดเปลี่ยนของโลก คือ การมาถึงของอินเทอร์เน็ตและเครือข่าย World Wide Web (WWW) ในช่วงเวลานั้น จีน เลือกที่จะ “รับ” อินเทอร์เน็ตเหมือนที่รับการผลิตอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่ “ปฏิเสธ” ที่จะใช้งาน www ทั้งหมด โดยรัฐบาลจีนเริ่มสร้างเครือข่ายของตนเอง และ “พัฒนา” ใหม่ให้เข้ากับท้องถิ่น ทั้งสร้างระบบเซ็นเซอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก The Great Firewall ในปี 1996 เพื่อสกัดกั้นการเข้ามาทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตของชาติตะวันตก ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่
ในช่วงนี้เอง เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในจีนเริ่มเติบโตขึ้น และด้วยอัตราประชากรมหาศาลทำให้เครือข่ายแข็งแรงเหมาะกับการสร้างระบบนิเวศของตนเอง ระหว่างนี้นักพัฒนาและวิศวกรซอฟต์แวร์ที่เรียนรู้จากสหรัฐอเมริกาเริ่มกลับมาที่จีน และสร้างระบบนิเวศอินเทอร์เน็ตขึ้นเอง เป็นยุคของ The BAT ( Baidu, Alibaba และ Tencent)
The BAT เกิดขึ้นภายใต้ระบบและเติบโตก้าวกระโดด นอกจากนี้ ยุค 2000 เป็นยุค Web Portal ทำให้ Baidu Alibaba และ Tencent เริ่มยึดหัวหาดการใช้อินเทอร์เน็ตทั้งประเทศ
ประกอบกับจีนได้กลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก เมื่ออินเทอร์เน็ตมีบทบาท ในโลกอีคอมเมิร์ซ Alibaba สามารถเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ค้าและผู้ซื้อบนแพลตฟอร์มเดียวกันได้ นั่นก็คือ “เถาเป่า” ที่เริ่มสร้างความเชื่อมั่นจากระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นรากฐานระบบการค้าในปัจจุบัน
ในขณะที่ Tencent พัฒนาตนเองจากเว็บพอร์ทัล มายังเว็บแชต QQ เริ่มรุกตลาดเกมออนไลน์ และคอนเทนต์ออนไลน์
ขณะเดียวกัน เมื่อสิ้นยุค 2010 ประเทศจีนได้อัพเกรดโครงข่ายโทรคมนาคมสู่ 4G อย่างรวดเร็ว ในจังหวะที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคของสมาร์ทโฟน และ App Base ทั้ง 3 บริษัทตัดสินใจเปลี่ยนตนเองจากเว็บเบสสู่การพัฒนาบริการดิจิทัลเพื่อตอบสนองเทคโนโลยีใหม่
3 บิ๊กเทคจีนข้างต้นกลายเป็นพี่ใหญ่ที่ฟูมฟักบริษัทเทคโนโลยีอีกมากมายในจีน เป็นทั้งผู้ให้ทุน และพันธมิตรในอีโคซิสเต็ม และเป็นหัวหอกส่งบริการดิจิทัลออกไปบุดตลาดโลก รวมถึงในไทย
กำเนิด Huawei Technologies
ในยุคของการเริ่มต้น 4 ทันสมัย รากฐานของบริษัทเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจะไม่สามารถลืมตาอ้าปากเกิดได้เลย หากไม่มีการวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่แข็งแรง
“เหริน เจิ้งเฟย” อดีตทหารช่างสื่อสาร ตัดสินใจลาออกมาตั้งบริษัทของตนเอง ชื่อ Huawei ณ เมือง “เสิ่นเจิ้น” ในปี 1987 มีเป้าหมายเพื่อปฏิวัติธุรกิจโทรคมนาคมในจีน และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
“เสิ่นเจิ้น” สำหรับเขาไม่ใช่แค่เมืองโรงงานหรือแหล่งผลิตสินค้าราคาถูก แต่เป็น “ซิลิกอน วัลลีย์” แห่งดินแดนตะวันออกที่จะกลายเป็นมหานครเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด
Huawei ประสบความสำเร็จในการคิดค้นและผลิตสินค้าเอง สินค้าตัวแรกคือตู้สลับสายสัญญาณโทรศัพท์ระบบดิจิทัลในปี 1993 และยังได้รับเงินทุนเพื่อขยายสำนักงานวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างอุปกรณ์โครงข่ายที่ผลิตเองมาทดแทน อุปกรณ์จากฝั่งยุโรปและอเมริกา
การขยายสู่ตลาดโลก ในปี 1997 Huawei ได้เข้าไปวางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในฮ่องกง และเริ่มตั้งสำนักงานวิจัยและพัฒนาในอินเดีย ปัจจุบันมีกว่า 21 สาขาทั่วโลก
ในทศวรรษ 2000 Huawei พยายามเข้าไปวางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย
หนึ่งในโอเปอเรเตอร์มือถือรายสำคัญอย่าง “แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส” หรือเอไอเอส ได้ทดลองใช้อุปกรณ์ของ Huawei เปรียบได้กับกุญแจดอกสำคัญในการประตูบานแรกให้กับบิ๊กเทคสัญชาติจีนรายนี้ ที่ปัจจุบันกลายเป็นซัพพลายเออร์รายสำคัญในประเทศไทย
และกลายเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลิตอุปกรณ์หลากหลาย ไม่ใช่แค่โครงข่ายโทรคมนาคมอีกต่อไป ยังมีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นที่สุด คือ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเริ่มในปี 2004 สมาร์ทโฟนของ Huawei หลากหลายซีรีส์ สามารถเจาะตลาด และกลายมาเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายสำคัญของโลกด้วย
นอกจากนี้ยังกระโดดไปพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว โซลูชั่นพลังงานสะอาด พลังงานดิจิทัล ทำให้มีบทบาทเกินกว่าจะเป็นบริษัทโทรคมนาคม ด้วยเทคโนโลยีที่มาถึง ความต้องการชิปขั้นสูงเริ่มมากขึ้น อีกกรณีสงครามการค้าที่โดนกดดันจากสหรัฐ ทำให้ Huawei ต้องกลับมาอยู่ในโหมดของการพึ่งพาตนเอง ด้วยการเปลี่ยนตนเองเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อพัฒนาชิปขั้นสูงใช้งานเอง
ยุคเอไอการปฏิวัติครั้งใหม่
ในปี 2012 ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ประกาศความฝันแบบจีนที่เปรียบเสมือนการเดินทางที่ยาวนาน 100 ปี พร้อมกับแผนระยะสั้น พัฒนาการผลิตครั้งใหญ่ Made in China 2025 ที่ต้องการให้กำลังการผลิตของจีนมุ่งสู่การสร้างความเชื่อมั่น และเป็นสิ่งที่คนจีน และคนทั่วโลกยอมรับในคุณภาพและมาตรฐาน
เป็นช่วงเวลาของการปฏิวัติเอไอ ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่อีกครั้งนับแต่ยุคอินเทอร์เน็ต เป็นต้นมา
ตามแผน Made in China 2025 ที่เริ่มในปี 2015 จะเริ่มแบรนด์สินค้าจีนมากมาย ทะลักสู่ตลาดโลกทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น Xiaomi ที่มีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมทุกด้านของชีวิตผู้บริโภค หรือบริษัท dji ที่ผลิตโดรนขนาดเล็กให้คนทั่วไปใช้
สินค้าเทคโนโลยีของจีนจำนวนมากได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค
ไม่ใช่เท่านั้น ในแผนระยะยาว จีนต้องการเป็นผู้นำของโลกในทุกด้านในปี 2049 ซึ่งเทคโนโลยีในยุคหน้า ที่จะเป็น “พิมพ์เขียว”
ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ของจีนกำหนดไว้มียุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องเร่งสร้าง 3 เสาหลัก คือ
1.อุตสาหกรรมอวกาศ มีโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ที่เป็นอิสระของตนเอง
2.ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ความพยายามพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของจีน เริ่มตั้งแต่ปี 2016 เมื่อเอไอ AlphaGo ของ Google เอาชนะมนุษย์ได้ จึงทุ่มทรัพยากรมหาศาลเพื่อเเข่งขัน ประกอบกับจีนมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของตนเองที่แยกขาดจากโลกภายนอก ทำให้มีปริมาณข้อมูลมหาศาลและมีความเฉพาะเจาะจง
กระทั่งในปี 2022 ที่ Generative AI กลายเป็นสิ่งใหม่ที่เปลี่ยนแปลงโลก หนึ่งในผู้เล่นที่จะมีบทบาทในเกมนี้ คือ DeepSeek โมเดลเอไอภาษาจากจีน ที่ประสบความสำเร็จในการโชว์ประสิทธิภาพภายใต้ข้อจำกัดด้านการกีดกันเทคโนโลยี ทำให้สามารถพัฒนาเอไอต้นทุนถูกลง แต่ฉลาดเท่าโมเดลราคาแพงได้
ในส่วนเอไอเพื่อการประมวลผลจะนำไปใช้กับการบริหารจัดการเมืองผ่านอุปกรณ์ไอโอทีที่สามารถนำไปช่วยบริหารจัดการเมืองได้ 100% ภายในปี 2035 และไปสู่การพัฒนา AGI (Artificial General Intelligence) ที่ “คิดเองได้” ภายใต้กรอบศีลธรรมแบบจีน
3.ควอนตัมคอมพิวติ้ง สำหรับประมวลผลข้อมูลมหาศาลในระยะเวลาสั้น นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลเอไอที่เร็ว แม่นยำ และซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งจีนมี National Quantum Lab
ในยุคของเอไอ น่าจับตามองว่า จีน จะทลายขีดจำกัดขึ้นเป็นผู้นำภายใต้แรงกดดันทางเทคโนโลยี ในเวทีภูมิรัฐศาสตร์ได้หรือไม่
แต่หากดูตามเส้นทางของจีนจากยุคเปิดประเทศในปี 1978 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทางยาวนานกว่า 50 ปี
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : จาก 4 ทันสมัย ถึงปฏิวัติเอไอ ในสัมพันธ์ 50 ปี ไทย-จีน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net