โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ครึ่งแรกปี’68 รัฐช่วยเงิน-เอกชนหายใจ SMEsไทย รอดจริงหรือแค่ยืดเวลา

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SMEs ต้องดิ้นรนอยู่ในภาวะ ‘รอดแต่ลำบาก’ ท่ามกลางหนี้สินรุงรัง ต้นทุนที่สูงขึ้น และความสามารถในการแข่งขันที่ยังเปราะบาง

ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ต้องเผชิญความท้าทาย หลายประการ SMEs ไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ด้วยจำนวนมากกว่า 3 ล้านราย และเป็นแหล่งจ้างงานกว่า 12 ล้านคน ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ

หลายกิจการยังคงเผชิญกับยอดขายที่ไม่กลับมาเท่าก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่ต้นทุนทางธุรกิจยังคงปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าพลังงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ และราคาวัตถุดิบในประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจรายย่อยจำนวนมากต้องพึ่งพาการ ‘กู้ต่อ’ เพื่อ ‘ประคองกิจการ’ แทนที่จะเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน มิหนำซ้ำยังต้องเจอพิษสงครามการค้าจากภาษีสหรัฐ ก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องสะดุด อาจถึงขั้นปิดกิจการไปก็มี

‘ประชาชาติธุรกิจ’ พาย้อนดูช่วงครึ่งแรกปี 2568 ของมาตรการช่วยเหลือ SMEs จากรัฐบาลเพื่อหวังฟื้นเศรษฐกิจไทย แล้วชวนวิเคราะห์ว่าสามารถช่วยได้จริง หรือแค่ยืดเวลา

มาตรการรัฐเติมทุน-พักหนี้ หวังฟื้น SMEs ไทย

ท่ามกลางความเปราะบางของกลุ่ม SMEs ภาครัฐได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบการและกระตุ้นการฟื้นตัวในเชิงโครงสร้าง ภายใต้เป้าหมาย ฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่:

1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลโดย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และ ธนาคารออมสิน เปิดโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระหว่าง 1-3% เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะในภาคการผลิต บริการ และนวัตกรรม วงเงินสูงสุดในบางโครงการอยู่ที่ 5 ล้านบาท

2.พักชำระหนี้และปรับโครงสร้าง เพื่อบรรเทาภาระด้านกระแสเงินสด รัฐบาลร่วมกับสถาบันการเงินเปิดโครงการพักหนี้ และเร่งผลักดันการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับ SMEs ที่ยังมีประวัติสินเชื่อดี เพื่อลดความเสี่ยงถูกตัดเครดิตและปิดกิจการในระยะสั้น

3.ลดหย่อนภาษีธุรกิจขนาดเล็ก ในปี 2568 SMEs ที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลช่วงต้นปี รวมทั้งยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร โดยเปิดทางให้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพในระยะยาว

ทั้งยัง ส่งเสริม SMEs ที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และมีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท เรื่อง Digital Transformation ให้สามารถเอาค่าใช้จ่ายด้าน IT เช่น ค่าซื้อหรือค่าจ้างทำ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์อัจฉริยะ หรือบริการด้านดิจิทัล ที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีบริการดิจิทัล ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) แต่ไม่รวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์
มาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท

โดยมาตรการเหล่านี้สะท้อนความพยายามของภาครัฐในการ ‘ต่อลมหายใจ’ ให้กับกลุ่ม SMEs ที่มีบทบาทสำคัญแต่ฐานทุนยังจำกัด

ช่วยได้จริง หรือแค่ยืดเวลา ?

แม้มาตรการของรัฐจะครอบคลุมทั้งด้านการเงินและภาษี แต่เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยกลับมองว่า มาตรการที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในแง่ของการเข้าถึงและความยั่งยืนของความช่วยเหลือ

ผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคหลายรายระบุว่า

  • เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก เนื่องจากขาดหลักประกันหรือรายได้ที่สม่ำเสมอ
  • การพักหนี้ ช่วยได้เพียงระยะสั้น โดยไม่ช่วยสร้างรายได้ใหม่
  • มาตรการภาษี ไม่สามารถใช้ได้จริงในกรณีที่กิจการยังไม่มีผลกำไร

ซึ่งหากมองในมุมของภาคธุรกิจ สิ่งที่ต้องการอาจไม่ใช่แค่การ “อัดฉีดเงิน” แต่คือ เครื่องมือที่ช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขัน เช่น การสนับสนุนด้านการตลาด การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และการลดต้นทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ฟื้น SMEs = ฟื้นเศรษฐกิจไทย

ภายใต้บริบทที่ SMEs ไทย เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสำคัญต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และระบบจ้างงาน การฟื้นฟูภาคธุรกิจกลุ่มนี้จึงไม่ใช่เพียงการ “ช่วยให้รอด” แต่คือ “หัวใจของการฟื้นเศรษฐกิจไทยในระยะยาว”
หากมาตรการของรัฐยังคงเน้นการเยียวยาเชิงปริมาณ โดยไม่เร่งปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจรายย่อย การฟื้นตัวก็อาจเป็นเพียงภาพลวงตาในระยะสั้นเท่านั้น

เศรษฐกิจไทยจะยืนได้อย่างแข็งแรงหรือไม่ อาจต้องเริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ ว่า “SMEs ไทย ลุกขึ้นได้จริงหรือยัง?”

ธุรกิจ SMEs ขาดทุนสะสมเพิ่ม พิษทรัมป์สะเทือนปิดกิจการพุ่ง

ล่าสุดนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้ปัจจัยความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องนโยบายภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) เศรษฐกิจโลกชะลอ และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ เรื่องเสถียรภาพการเมือง ซึ่งอาจจะกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณ

รวมถึงยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ กำลังซื้อลดลง จึงเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะเห็นภาพการปิดตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีต่อเนื่อง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็กและรายย่อย สะท้อนจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ปี 2567 พบว่า ธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 100 ล้านบาท มีจำนวนธุรกิจที่ปิดกิจการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ต่อปี

หากดูข้อมูลย้อนหลัง 4 ปี มีการปิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2564 อยู่ที่ 19,237 ราย ปี 2565 เพิ่มเป็น 21,765 ราย และปี 2566 เพิ่มเป็น 23,280 ราย และปี 2567 อยู่ที่ 23,551 ราย เชื่อว่าในปี 2568 จะยังคงเห็นธุรกิจเอสเอ็มอีปิดกิจการต่อเนื่อง ในอัตราทรงตัวที่ 7% ต่อปี

ธุรกิจเปิดใหม่ไปรอดได้ลดลง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจำนวนธุรกิจจัดตั้งหรือเปิดใหม่ ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปีเช่นกัน โดยจากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า ปี 2567 มีจำนวนบริษัทเปิดใหม่อยู่ที่ 86,464 ราย เพิ่มจากปี 2566 ที่อยู่ 84,083 ราย และในปี 2565 อยู่ที่ 75,354 ราย และในปี 2564 อยู่ที่ 71,550 ราย

แต่พบว่าผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่รอดได้ หลังช่วงเริ่มต้น (Early Stage) หรือธุรกิจอยู่รอดหลังดำเนินธุรกิจไปแล้ว 3 ปี จะเห็นว่ามีแนวโน้มลดลง ซึ่งโดยเฉลี่ยปรับลดลง 5% ต่อปี โดยในปี 2567 มีธุรกิจที่อยู่รอด 53,018 ราย ลดลงจากปี 2566 ที่อยู่ 59,966 ราย และลดลงจากปี 2565 ที่อยู่ 60,369 ราย และในปี 2564 อยู่ที่ 62,726 ราย

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ครึ่งแรกปี’68 รัฐช่วยเงิน-เอกชนหายใจ SMEsไทย รอดจริงหรือแค่ยืดเวลา

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ประชาชาติธุรกิจ

ธปท.คุมแบงก์ใช้งาน AI จ่อคลอดแนวทางจัดการความเสี่ยง

3 ชั่วโมงที่ผ่านมา

อีก 3 เดือนข้างหน้าก็ยังไม่ดี ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯดิ่งต่อเนื่อง ปัญหาด่านเขมร-ภาษีสหรัฐ

7 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

ครึ่งแรกปี’68 รัฐช่วยเงิน-เอกชนหายใจ SMEsไทย รอดจริงหรือแค่ยืดเวลา

ประชาชาติธุรกิจ

อีก 3 เดือนข้างหน้าก็ยังไม่ดี ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯดิ่งต่อเนื่อง ปัญหาด่านเขมร-ภาษีสหรัฐ

ประชาชาติธุรกิจ

"ฉันทวิชญ์" ถกทูตสหรัฐ กระชับความร่วมมือการค้าไทย-สหรัฐ

ประชาชาติธุรกิจ
ดูเพิ่ม
Loading...