วิชารัฐมนตรี (4)
เนื้อหาหนังสือ "วิชารัฐมนตรี" ศาสตร์และศิลป์ของ "การนำ" ผ่านมุมมองเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เขียนโดย ดร.ยุวดี คาดการณ์ไกล และณัฐธิดา เย็นบำรุง จัดทำโดยมูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ มีทั้งหมด 6 บท รวม 156 หน้า
บทที่ 3 (ต่อ)
3.ปรับวิธีคิดในงานวิจัยแนวหน้าและปรับการทำงานแบบก้าวกระโดด
วิทยาศาสตร์ไทยไม่แพ้ใคร เอนก เหล่าธรรมทัศน์ให้ความเชื่อมั่นว่า “วิทยาศาสตร์ของไทยดีที่สุดในอาเซียน เหนือกว่ามาเลเซีย เหนือกว่าอินโดนีเซีย เหนือกว่าเวียดนามมาก ถ้าไปดูด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเวียดนาม ยังตามหลังไทยมาก ไทยนำฟิลิปปินส์ จะแพ้ก็เพียงสิงคโปร์ แต่ก็ไม่ใช่แพ้ทุกด้าน เป็นรองแค่บางเรื่อง ไม่ใช่ทุกๆ เรื่อง เช่น เรื่องดาราศาสตร์ อวกาศ ไทยมีความรู้ความสามารถทำอะไรเองได้ ไทยเป็นที่หนึ่ง เหนือกว่าสิงคโปร์ เราต้องคิดอะไรแบบนี้ไว้เสมอ ต้องมี Mindset แบบนี้ เพราะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า Mindset ด้อยค่าตัวเอง”
- เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน (Synchrotron) ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน : การพัฒนาใช้เทคโนโลยีสัญชาติไทย
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ชี้ว่า ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ซึ่งได้มาจากญี่ปุ่น ถอดชิ้นส่วนมาจากญี่ปุ่นแล้วเอามาประกอบและคิดดัดแปลงให้ดีขึ้น “เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน” นี้อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ได้รับการยอมรับจากประเทศที่พัฒนาแล้วว่าเป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพ และเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลต่องานวิจัยทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรมและด้านอื่นๆ ที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมมูลค่าสูง ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งทุนมนุษย์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ยังเล่าว่า “มีคนบอกผม ถ้าอยากรู้ว่าประเทศไหนเป็นชาติที่มีความศิวิไลซ์ให้ดูสองเรื่อง คือ เรื่องการวิจัยด้านอวกาศกับการวิจัยที่ใช้แสงซินโครตรอน ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่นโยบายกระทรวง อว. เน้นทำทั้งสองเรื่อง ตอนนี้ประเทศไทยมีเครื่องซินโครตรอนแล้วที่โคราช และกำลังจะสร้างเองอีก 1 เครื่อง” ขณะนี้ไทยกำลังจะมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ซึ่งเน้นให้ทำได้เองไม่ต่ำกว่า 50% และถ้ามีเครื่องที่ 3 ในฐานะรัฐมนตรี อว. จึงย้ำว่า ควรมุ่งเน้นทำเองให้ได้ 90% ด้วยแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีสัญชาติไทยตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบการก่อสร้าง การผลิตชิ้นส่วน การพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบต่างๆ เช่น อุปกรณ์ระบบสุญญากาศ ระบบแม่เหล็ก ระบบปรับแต่งพิกัดเชิงกลความแม่นยำสูง ระบบควบคุม เป็นต้น เพื่อใช้กับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่นี้ ในอนาคตที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ร่วมกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ในประเทศไทยให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และทำให้อุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยนั้นนำมาใช้งานกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ได้
- เครื่องโทคาแมค (Tokamak) ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ : การวิจัยพลังงานบริสุทธิ์
เนื่องจากแหล่งพลังงานฟอสซิลที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักในปัจจุบันกำลังจะหมดไป และการใช้พลังงานจากฟอสซิลยังส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง ทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานสะอาดเพื่อความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน ไทยเองก็มีแผนจะทดลองสร้างปฏิกิริยาฟิวชั่นด้วยเครื่องโทคาแมคที่ได้รับมาจากต่างประเทศ เป็นเครื่องโทคาแมคที่ไทยพัฒนาร่วมกับสถาบันพลาสมาฟิสิกส์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีชื่อว่า Thai Tokamak-1 หรือ 1T-1 และมีการนำมาต่อเติมปรับแต่งเพื่อการทดลองและวิจัยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นและต่อยอดให้เป็นพลังงานที่นำมาใช้ได้ จนเป็นพลังงานสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีกัมมันตรังสี และสามารถใช้ได้นานแสนนาน ในฐานะผู้นำของกระทรวง อว. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ตอกย้ำว่า เราไม่ใช่ทำการทดลองเพื่อทดลอง เราไม่ใช่ทดลองเพื่อสนุกหรือทดลองเพื่อจะผลาญเงิน แต่ทดลองเพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการได้มาซึ่งพลังงานที่สะอาดและไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง Carbon footprint อันเป็นหมุดหมายสำคัญของการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่เป็นสมาชิกของการทดลองปฏิกิริยาฟิวชั่นด้วยเครื่องโทคาแมค และเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศที่ทดลองก่อนที่จะแปรเปลี่ยนฟิวชั่นให้เป็นพลังงานที่ใช้การได้จริงภายใน 20 ปีข้างหน้า
- ปรับมุมมองและวิธีทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน
ในอดีตที่ผ่านมาการให้เงินวิจัยภาคเอกชนทำได้ยากมาก แต่ในปัจจุบันไทยได้ตระหนักแล้วว่า เงินที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 20 ที่เป็นของภาครัฐ อีกร้อยละ 80 เป็นของภาคเอกชน เอนก เหล่าธรรมทัศน์จึงมีแนวคิดออกแบบวิธีการใช้เงินวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 20 ของทั้งหมดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ด้วยการไปเชื้อเชิญให้ภาคเอกชนนำเงินมาทำการวิจัยตามที่กระทรวง อว. ชี้เป้า วิจัยเป็นเรื่องที่กระทรวง อว. มีความโดดเด่น จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจัดตั้งกองทุนขึ้นมากองทุนหนึ่ง สำหรับที่จะไปช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสภาอุตสาหกรรม แต่เป็นส่วนที่ขาดการวิจัย ขาดนวัตกรรม คณะผู้นำในสภาอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมาจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้เล็งเห็นแล้วว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะอยู่ได้ ก็ต้องมีอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อมมาช่วยสนับสนุน และยิ่งไปกว่านั้น การที่อุตสาหกรรมจะสามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ ก็จะต้องมีงานวิจัยนวัตกรรมเป็นตัวเสริม ขณะนี้กระทรวง อว. ได้ปรับการทำงานเพื่อสามารถให้ทุนแก่ภาคเอกชนในการทำวิจัยและทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้ ด้วยการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจัดตั้ง “กองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม” เพื่อสนับสนุนงานวิจัยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การสนับสนุนงบประมาณในกองทุนนี้ดำเนินการในลักษณะ matching fund โดยกระทรวง อว. จะใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ลงเงิน 1,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี และสภาอุตสาหกรรมจะลงเงินอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 2,000 ล้านบาท สิ่งสำคัญจากการตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมนี้ คือการปฏิรูปการวิจัยโดยที่มีภาคเอกชนเป็นพันธมิตรกับกระทรวง อว.
บทเรียน : รัฐมนตรีคือคน “นำ” ไม่ใช่เป็นเพียงคนบริหาร
จากผลงานการปลดล็อกข้อจำกัดทางการศึกษาและการวิจัย ผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยก้าวข้ามกรอบเดิมๆ เปิดโอกาสให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างยืดหยุ่น ในด้านการวิจัย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เช่น ธัชชา ธัชวิทย์ และธัชภูมิ เพื่อยกระดับงานวิจัยของประเทศให้สามารถตอบโจทย์ยุคสมัย ผสมกับแนวคิดเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน โดยให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ นำความรู้เหล่านี้มาต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดประโยชน์ต่อสังคม
ผลงานที่เกิดขึ้นของกระทรวง อว. ในระหว่างการนำของรัฐมนตรีเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นั้น สะท้อนให้เห็นว่า บทบาทของรัฐมนตรีไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการบริหารงานภายใต้โครงสร้างของระบบราชการ แต่ต้องเป็น “ผู้นำ” ที่สามารถกำหนดทิศทาง ผลักดันนโยบาย และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้นำในที่นี้มีได้หลายระดับ ทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่มีวิสัยทัศน์เท่านั้น ยังต้องมีโลกทัศน์ด้วย มีความสามารถในการกำหนดทิศทางได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าผู้นั้นเป็นผู้นำระดับไหน เขาจะต้องเห็นภาพใหญ่กว่าจุดที่ตัวเองดูแลอยู่ ต้องมองให้กว้างออกไป ให้เห็นความเชื่อมโยง และเห็นตัวเองว่าอยู่ในจุดไหนของภาพใหญ่ทั้งหมด เพื่อให้การขับเคลื่อนงานไปสู่ทิศทางที่กำหนดได้
ดังนั้น ผู้นำแบบรัฐมนตรีไม่ใช่เพียงผู้สั่งการหรือจัดสรรงบประมาณ แต่ต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและกำหนดเป้าหมายระยะยาวให้กับประเทศ ผู้นำต้องมองเห็นโอกาสท่ามกลางข้อจำกัด และกล้าทำในสิ่งที่แตกต่างจากกรอบเดิม เอนก เหล่าธรรมทัศน์ไม่ได้มองว่าตนเป็นเพียงผู้บริหารกระทรวง แต่เป็นผู้นำที่ต้อง “คิด” ออกแบบนโยบาย และติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เริ่มต้นนั้นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แท้จริง เขาเชื่อว่าหน้าที่ของรัฐมนตรีไม่ใช่การ “ทำงาน” แทนข้าราชการ นักวิจัย หรือนักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการ “นำ” ด้วยวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ให้ทิศทางและผลักดันการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงกำหนดนโยบายแล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของระบบราชการดำเนินไปเอง
กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากการมีหน้าที่ “นำ” ไม่ใช่สั่งการในที่ประชุม ซึ่งคล้ายกับที่อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง เคยกล่าวไว้ว่า Minister is executive, is not presiding. นั่นหมายถึง รัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการนำและผลักดันนโยบายนั้นให้มีการดำเนินงานไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมเท่านั้น
บทที่ 4
รัฐมนตรีกับการคิดเชิงยุทธศาสตร์
"ภายใต้เวลาจำกัด จึงต้องเลือกทำสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือต้องคิดอย่างมียุทธศาสตร์ อย่าทำด้วยวิชาการอย่างเดียว ยุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่ระบบราชการของไทยไม่ค่อยได้คิด เรามักคิดแบบทำดี ทำให้พร้อม ทำให้สมบูรณ์ ทำให้ครบถ้วน เราคิดแต่แบบนี้ ความเป็นจริงแล้ว เราต้องหักตัวเราเองเข้าไปสู่สนามแห่งการประชันขันแข่งทั่วโลก ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ที่ดีคือยุทธศาสตร์ที่ชนะ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์รอความพร้อม"
ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเป็นผู้นำเชิงยุทธศาสตร์มีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา แล้วผู้นำเชิงยุทธศาสตร์มีลักษณะอย่างไร
ผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Leader) คือผู้นำที่มีความสามารถในการชักจูงผู้อื่นให้ตัดสินใจในการช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จระยะยาวขององค์กรและสังคม ในขณะเดียวกัน ก็รักษาความมั่นคงของงานในระยะสั้นไปด้วย ผู้นำเชิงยุทธศาสตร์จะต้องกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับอนาคต วางแผนกลยุทธ์เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์นั้น และกระตุ้นให้ผู้คนปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้นำเชิงยุทธศาสตร์นั้นจะคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น คิดสิ่งใหม่ๆ ท้าทายสิ่งเดิมๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความรู้สึกร่วมในเป้าหมายให้กับองค์กรและสังคม
ดังนั้น หัวใจของผู้นำเชิงยุทธศาสตร์จึงต้องเป็นผู้นำที่มีการคิดเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Thinking) ซึ่งเป็นกระบวนการเชิงรุกที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สถานการณ์ที่ซับซ้อน การคาดการณ์ความท้าทาย การพัฒนากลยุทธ์ที่นำไปดำเนินการได้เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว และสร้างสมดุลระหว่างการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์กับการวิเคราะห์เชิงตรรกะ ผู้นำที่มีการคิดเชิงยุทธศาสตร์ย่อมเป็นผู้นำที่มีความสามารถในการเข้าใจสถานการณ์และผลกระทบในวงกว้างจากการตัดสินใจ มีมุมมองในการวางแผนเพื่ออนาคต การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ การรับรู้และการกำหนดทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายโดยรวม
ในบทบาทรัฐมนตรีนั้น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มองว่า “ภายใต้เวลาจำกัด จึงต้องเลือกทำสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือต้องคิดอย่างมียุทธศาสตร์ อย่าทำด้วยวิชาการอย่างเดียว ยุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่ระบบราชการของไทยไม่ค่อยได้คิด เรามักคิดแบบทำดี ทำให้พร้อม ทำให้สมบูรณ์ ทำให้ครบถ้วน เราคิดแต่แบบนี้ ความเป็นจริงแล้ว เราต้องหักตัวเราเองเข้าไปสู่สนามแห่งการประชันขันแข่งทั่วโลก ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ที่ดีคือยุทธศาสตร์ที่ชนะ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์รอความพร้อม”
เขาชี้ให้เห็นถึงยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวง อว.คือ มุ่งผลักดันไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน พ.ศ.2580 ซึ่งยึดตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเพื่อให้ยุทธศาสตร์นี้บรรลุผล จึงมีกระบวนการทำงานเชิงรุก ชักจูงให้ผู้บริหารและภาคีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง อว. มองเห็นเป้าหมายระยะยาวร่วมกัน และเห็นบทบาทของตนที่จะเป็นส่วนสำคัญในการทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ที่จะผลักดันไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว
ทำไมต้องกำหนดยุทธศาสตร์มุ่งผลักดันไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว
เนื่องจากประเทศไทยเผชิญกับการติดกับดักรายได้ปานกลางมานาน หลายฝ่ายต่างกังวลและหาหนทางที่จะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เอนก เหล่าธรรมทัศน์เห็นว่าหนทางที่สำคัญคือประเทศต้องมีขีดความสามารถในด้านการผลิตแบบใหม่ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น บทบาทของกระทรวง อว.จึงสำคัญ
หากพิจารณาดูแล้ว เวลานี้ กระทรวง อว.ทำในสิ่งที่เป็น “Medium-tech” หรือ “Hi-tech” ด้วยตัวเองได้มากขึ้น เริ่มมีอาการเหมือนตอนที่สิงคโปร์ก้าวกระโดดทางวิทยาศาสตร์ เหมือนตอนที่เกาหลีก้าวกระโดดทางวิทยาศาสตร์ เหมือนตอนที่จีนก้าวกระโดดทางวิทยาศาสตร์ ไทยเองเริ่มมีอาการของคนที่ไม่ได้อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา แต่เริ่มมีอาการของคนที่อยู่ในประเทศที่กำลังจะเป็นประเทศที่พัฒนา อย่างน้อยในขั้นต้นคือ ถ้าไทยทำ “Medium-tech” และ “Hi-tech” ได้ ก็จะดีดตัวเองให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้
ประเทศที่ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางก็คือ ค่าแรงนั้นแพงเกินกว่าที่จะทำอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูก ดังที่เราเห็นได้จากการที่ต้องเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำ และคนไทยเองก็ไม่ยอมทำเพราะว่าค่าจ้างถูกเกินไป อุตสาหกรรมประเภทนี้เราทำไม่ได้แล้ว เราเหมือนนกที่บินอยู่ระดับกลางแล้วถูกประเทศที่ค่าจ้างต่ำกว่า เช่น เขมร เวียดนาม และลาวเบียดขึ้นมา ก็ถูกเบียด ถูกชน จากข้างล่าง สะบักสะบอม ครั้นไทยจะขยับที่อยู่ในระดับกลางให้สูงขึ้น ก็ไม่มีแรงที่จะบินขึ้นไปได้ ถูกสิงคโปร์ เกาหลี จีน ประเทศตะวันตกซึ่งอยู่เต็มท้องฟ้าและถูกข้างบนกระแทกลงมา บินขึ้นไปก็โดนเขากระแทกลงมา เราอยู่เฉยๆ ตรงกลางก็ถูกข้างล่างกระแทกขึ้นไป เรียกว่าติดกับดักรายได้ปานกลาง วิธีที่จะออกจากกับดักรายได้ปานกลางมีอยู่ไม่กี่ทาง ที่สำคัญก็คือ ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเราเอง ทำให้สามารถผลิตในสิ่งที่เป็น “Medium-tech” และ “Hi-tech” ได้ และจะต้องผลิตด้วยตนเองให้มากที่สุด เพราะคนไทยเก่งวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซื้อให้น้อยที่สุด หรือซื้อมาแล้วต้องเรียนรู้และประยุกต์จนสามารถผลิตได้ด้วยตนเอง
การคิดและนำอย่างมียุทธศาสตร์ ทำได้อย่างไร
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เริ่มด้วยมุมมองและความเชื่อมั่นที่เห็นว่า โลกยุคนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว เทคโนโลยีช่วยย่นย่อให้เราสามารถทำอะไรได้มากขึ้น เร็วขึ้น และดีขึ้น คนไทยเก่งและมีความสามารถ ประเทศไทยเป็นชาติวิทยาศาสตร์ได้ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ด้วยความเป็นไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของไทย จึงมั่นใจว่า ด้วยศักยภาพและสมองทั้ง 2 ข้างของคนไทย โดยเฉพาะศักยภาพของคนในกระทรวง อว. ซึ่งเป็นกระทรวงแห่งโอกาสและอนาคต สามารถจูงใจให้บุคลากรทำเรื่องยากๆ ได้ เพื่อเป็นเข็มทิศและปูทางให้กับประเทศ นำประเทศให้เดิน 2 ขา ด้วยขาหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ และอีกขาหนึ่งคือสังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์
ในช่วงแรกของการนำเสนอความคิดนี้ ผู้ร่วมงานยังไม่ค่อยเข้าใจนัก เพราะบุคลากรส่วนใหญ่ในกระทรวง อว. มาจากสายวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เมื่อได้ฟังรัฐมนตรีเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เน้นย้ำความคิดดังกล่าวอยู่เสมอ รวมไปถึงการได้ดำเนินนโยบายให้เห็นในทางปฏิบัติมาระยะหนึ่ง หลายคนเริ่มเข้าใจและเห็นภาพการพัฒนาประเทศโดยใช้ทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ผสมสานมากขึ้น ดังความคิดที่สะท้อนจากอดีตปลัดสิริฤกษ์ ได้กล่าวว่า
“ท่านรัฐมนตรีเอนก เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การกล่าวปาฐกถา การนำประชุมใดๆ ก็ตาม ท่านมักให้มุมมองเสมอว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในหลายด้าน ประการแรก ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ดี มีรากเหง้าและอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ประการที่สอง ปัจจุบันของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ และประการที่สาม อนาคตของประเทศยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้หากพัฒนาอย่างถูกทิศทาง
ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเชื่อ เพราะผมจบจากสายวิทยาศาสตร์ เชื่อแบบตะวันตกว่าถ้าจะพัฒนาต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม วิทยาศาสตร์เป็นฐานเท่านั้น แต่ท่านรัฐมนตรีมองว่า การจะโตได้ต้องโตจากจุดแข็งไม่ใช่จุดอ่อน จุดแข็งของไทยไม่ได้มีเพียงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่รวมถึงมิติทางสังคมศาสตร์ วัฒนธรรม และเอกลักษณ์เฉพาะตัว คนทั่วโลกนึกถึงไทยในฐานะประเทศที่มีผู้คนเป็นมิตร อาหารอร่อย แหล่งท่องเที่ยวงดงาม และวัฒนธรรมที่รุ่มรวย สิ่งเหล่านี้เป็นทุนที่สำคัญ และหากสามารถผสมผสานกับวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมได้อย่างลงตัว ไทยก็จะสามารถเดินไปข้างหน้าด้วย “สองขา” ที่มั่นคง ขาหนึ่งคือสังคมศาสตร์และมิติทางวัฒนธรรม ขาอีกข้างคือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”.
(อ่านต่อวันพฤหัสฯ หน้า)