โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

'ชักหน้าให้ถึงหลัง' แก้กับดักหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 19 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 19 ชั่วโมงที่ผ่านมา

คอลัมน์ : เปลี่ยนเศรษฐกิจไทย ผู้เขียน : ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

‘ชักหน้าให้ถึงหลัง’ แก้กับดักหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนด้วยการปรับโครงสร้างเชิงสถาบันของระบบการเงินและพลังท้องถิ่น

ในช่วงต้นปี 2022 ผมมีโอกาสได้เดินทางไปยังบ้านโนนเจริญศิลป์ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินลูกรัง เมื่อรถตู้ของเราวิ่งผ่านถนนที่รายล้อมไปด้วยต้นกล้วยของชาวหมู่บ้าน ฝุ่นสีแดงฟุ้งกระจายตลบอบอวลไปตลอดทาง ผมเดินทางมาที่นี่เพื่อเรียนรู้พลวัตทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของ ‘คนฐานราก’

บ้านโนนเจริญศิลป์มีลูกบ้าน 236 ครัวเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีชีวิตสมถะตามแบบฉบับหมู่บ้านเกษตรที่เรารู้จักกัน

พระอาจารย์นพพร สุขวัฒโณ วัดป่าสมณวงศ์ ผู้เป็นทั้งผู้นำชุมชนและศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านโนนเจริญศิลป์เล่าเรื่องน่าตกใจให้ฟังว่า ชาวบ้านโนนเจริญศิลป์มีหนี้สินรวมกันสูงถึง 76 ล้านบาท ผมทดเลขเร็วๆ ในใจได้ว่า ชาวบ้านมีหนี้สินโดยเฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ 320,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากสำหรับครัวเรือนเกษตรที่มีวิถีชีวิตสมถะเช่นนี้ โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ติดกับดักหนี้ ทั้งในและนอกระบบ และเนื่องจากไม่มีกำลังชำระหนี้ ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องกู้เงินจากแหล่งหนึ่งไปชำระอีกแหล่ง การก่อหนี้ใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมทำให้ภาระดอกเบี้ยสูงขึ้น ในที่สุดชาวบ้านจึง ‘ติดกับดักหนี้’

ปัญหาหนี้ของชาวบ้านโนนเจริญศิลป์เป็นภาพสะท้อนของปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งประสบกันไปทั่วประเทศ หนี้ครัวเรือนในขณะนั้น ณ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 90.1 ของ GDP ปัจจุบันแม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 5 ปีแล้ว แต่สถานการณ์หนี้ในระดับมหภาคของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง และหากซูมลงไปในระดับบุคคล ปัญหาจะยิ่งน่าวิตกกังวลใจเพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับสวัสดิภาพปากท้องของคนไทย

งานวิจัยเรื่อง “เหลียวหลัง แลหน้า อนาคตหนี้ครัวเรือนไทย” ในงาน BOT Symposium ปี 2020 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่าหนึ่งในสามของคนไทยมีหนี้ และมีค่ากลางของมูลหนี้ต่อรายสูงถึง 128,384 บาท สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนไทยในปี 2019 ที่ 26,018 บาทเกือบห้าเท่า ในขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่าครัวเรือนเกษตรมีหนี้สินโดยเฉลี่ย 262,317 บาทต่อครัวเรือนในปี 2021 ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการระบาดของโควิด-19 ถึง 74%

การที่หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศชวนให้ตั้งคำถามว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนอาจมี ‘สาเหตุร่วม’ ซ่อนอยู่ เป็นไปได้ไหมว่าคนไทยส่วนใหญ่อาจกำลังเผชิญกับเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมที่บังคับให้พวกเขาต้องก่อหนี้จนติดกับดักหนี้

บทความนี้ เราจะมาพูดคุยกันถึงธรรมชาติของหนี้ ต้นตอของการก่อหนี้และผมจะพยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยอาศัยหลักเศรษฐศาสตร์และประสบการณ์ตรงของผู้นำชุมชน เพื่อให้เห็นภาพที่กระจ่างและรอบด้านที่สุด

คนไทยเป็นหนี้เพราะ ‘กระแสรายได้’ และ ‘กระแสรายจ่าย’ ไม่สอดคล้องกัน

เมื่อสอบถามพระอาจารย์ว่าทำไมชาวบ้านโนนเจริญศิลป์จึงเป็นหนี้กันทั้งชุมชน ท่านตอบว่าเป็นเพราะ ‘กระแสรายได้’ และ ‘กระแสรายจ่าย’ ไม่สอดคล้องกัน โดยชาวบ้านมีรายได้น้อยจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ตลอดจนผลผลิตที่ไม่แน่นอนและให้ผลเฉพาะบางช่วงของปี สวนทางกับรายจ่ายที่สูงและจำเป็นต้องจ่ายทุกเดือน

หากถอยออกมามองในภาพรวมจะพบว่าครัวเรือนไทยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศก็ประสบปัญหาจากความไม่สอดคล้องของกระแสรายได้และกระแสรายจ่ายเช่นกัน บทความวิชาการเรื่อง “เจาะลึกความเหลื่อมล้ำตลอดสามทศวรรษของประเทศไทย” จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ว่าคนไทย 60% ในกลุ่มรายได้ปานกลางมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้เฉลี่ยที่ 80% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่ข้อเท็จจริงที่น่ากังวลกว่าคือคนไทย 20% ในกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้อยู่ที่ราว 120% นั่นคือผู้มีรายได้น้อยมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งเราสามารถแตกปัญหาออกเป็น 3 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 รายได้น้อยและเติบโตช้า

พระอาจารย์นพพรเล่าว่ารายได้จากการเกษตรไม่เพียงพอกับรายจ่ายประจำในแต่ละเดือน ท่านยกตัวอย่างเปรียบเทียบราคาขายข้าวเปลือกกับราคาซื้อข้าวสาร (27 เมษายน 2022) กรมการค้าภายในรายงานว่าเกษตรกรขายข้าวเปลือกหอมมะลิได้ที่ราคาเพียง 12 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับราคาข้าวสารที่ราว 26.5 บาทต่อกิโลกรัม

โครงสร้างราคาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อเกษตรกรในพื้นที่บ้านโนนเจริญศิลป์เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของเกษตรกรทั้งประเทศ ปัญหารายได้เกษตรตกต่ำ นอกจากจะสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกแล้ว ยังเป็นผลจากการที่เกษตรกรเข้าไม่ถึงข้อมูลความต้องการสินค้าเกษตร และราคาสินค้าเกษตรขั้นสุดท้าย จึงวางแผนการเพาะปลูกและคำนวณราคาขายได้ยาก นอกจากนี้ เมื่อเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร จึงต้องพึ่งพาคนกลางในการส่งสินค้าไปหาผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารจึงเอื้อให้คนกลางมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าเกษตรกร ซึ่งมีนัยต่อการตั้งราคาสินค้าเกษตรที่หน้าฟาร์ม

เมื่อมองภาพรวมทั้งประเทศ รูปที่ 1 เปรียบเทียบอัตราการเติบโตเฉลี่ยของค่าจ้างแรงงานกับผลผลิตมวลรวมภายในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2011 ถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2018 โดยจำแนกตามภาคการผลิต โดยจะพบว่า (1) ค่าจ้างเติบโตค่อนข้างช้า โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมที่จ้างงานสูงถึง 32.4% ของผู้มีงานทำในปี 2018 (2) ค่าจ้างเติบโตช้ากว่ามูลค่าผลผลิตในหลายภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคบริการ เช่น ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก เป็นต้น

รูปที่ 1 อัตราการเติบโตในระยะยาวของค่าจ้างแรงงานและผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (ราคาปัจจุบัน)

ประเด็นที่ 2 รายได้ไม่แน่นอนและไม่สม่ำเสมอ

ปัญหารายได้ไม่แน่นนอนและไม่สม่ำเสมอก็เป็นอีกปัญหาที่ประสบกันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่จ้างแรงงานในสัดส่วนสูงอย่างเช่นภาคเกษตรกรรม โดยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ของมูลค่าผลผลิตจากภาคเกษตรกรรม (คิดตามมูลค่าปัจจุบัน) มีค่าสูงถึง 15.2%

ดูเหมือนความไม่แน่นอนและความไม่สม่ำเสมอของรายได้ส่วนหนึ่งเป็น ‘ธรรมชาติ’ ของรายได้ในภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมซึ่งผลผลิตออกมามากน้อยตามฤดูกาล และหากใช้เทคนิคทางสถิติตัดผลของฤดูกาลออกจะพบว่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานลงมาอยู่ที่ 5.5% นั่นแปลว่าการที่ ‘รายได้กระจุกตัว’ ในบางฤดูกาลไม่สอดคล้องกับรายจ่ายจำเป็นที่ต้องจ่ายทุกเดือน จึงส่งผลให้เกิด ‘Mismatch’ ระหว่างกระแสรายได้และกระแสรายจ่าย ซึ่งบริหารจัดการได้ยาก

นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรยังมีความผันผวนตามความสมบูรณ์ของผลผลิตซึ่งขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ และยังผันผวนตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งยิ่งส่งผลให้การบริหารกระแสรายรับรายจ่ายของเกษตรกรยากยิ่งขึ้นไปเป็นเท่าตัว

เมื่อถอยมามองภาพกว้างของรายได้แรงงานไทย ข้อมูลทางสถิติพบว่า ปัญหารายได้ไม่แน่นอนและไม่สม่ำเสมอจะทวีความรุนแรงขึ้นในกลุ่มแรงงานนอกระบบ การสำรวจแรงงานนอกระบบประจำปี 2021 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าแรงงานนอกระบบระบุถึงปัญหาการจ้างงานไม่ต่อเนื่องมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากปัญหาค่าตอบแทนต่ำ โดยคิดเป็น 23.7% ของแรงงานนอกระบบที่ประสบปัญหา

นอกจากนี้ งานวิจัยจาก Korwatanasakul (2021) ยังชี้ว่าแรงงานนอกระบบมีโอกาสได้รับบาดเจ็บจากการทำงานสูงกว่า และบาดเจ็บมากกว่าแรงงานในระบบอย่างมีนัยสำคัญ แรงงานนอกระบบจึงมีความเสี่ยงที่จะต้องหยุดงานและสูญเสียรายได้บ่อยและหยุดเป็นระยะเวลานานกว่าแรงงานในระบบ

ประเด็นที่สาม รายจ่ายที่สูงเป็นรายจ่ายจำเป็น จึงตัดลดได้ยาก

งานศึกษาในส่วนของรายจ่าย ชี้ว่าครัวเรือนรายได้ปานกลางและครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนของรายจ่ายจำเป็นในอัตราที่สูง โดยพบว่าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารสูงถึง 43% และ 51% ตามลำดับ สอดคล้องกับคำบอกเล่าของพระอาจารย์นพพรที่เล่าว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องจ่ายค่าอาหาร ค่าน้ำมันรถ และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เช่น ค่าใช้จ่ายในการส่งบุตรหลานไปเรียนระดับอุดมศึกษาในหัวเมืองใหญ่ เป็นต้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ล้วนเป็นรายจ่ายจำเป็นที่ตัดลดได้ยาก

เมื่อคนในระบบเศรษฐกิจมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ขณะที่รายได้มีความผันผวนสูง คนจึงก่อหนี้เพื่อปิดช่องว่างระหว่างรายได้และรายจ่าย

ติดกับดักหนี้ เพราะหนี้อยู่ผิดที่ผิดทาง

ในทางเศรษฐศาสตร์ การก่อหนี้มีประโยชน์เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนในระบบเศรษฐกิจสามารถบริหารทรัพยากรทางการเงินโดยการโยกย้ายความมั่งคั่งระหว่างเวลา อีกทั้งยังช่วยบริหารความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของรายได้หรือรายจ่าย ทั้งนี้ การก่อหนี้จะยั่งยืนหากก่อให้เกิดรายได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพราะหากสามารถจัดสรรเงินกู้ไปผลิตหรือลงทุนได้ก็จะสามารถสร้างรายได้ในระยะยาวและมีกำลังใช้คืนหนี้

อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงและเร่งตัวขึ้นเร็วผิดปกติ โดยความผิดปกติที่สำคัญ คือ การที่หนี้กระจุกตัวในกลุ่ม ‘หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้’ โดยมีงานศึกษาพบว่าจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัญชีสินเชื่อบัตรเครดิตมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของจำนวนบัญชีสินเชื่อของครัวเรือนทั้งหมดและคิดเป็นมูลหนี้สูงถึง 70% ของมูลหนี้รวม

เหตุใดครัวเรือนไทยจึงก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในสัดส่วนที่สูงเกินไป? เป็นไปได้หรือไม่ว่า หนี้เหล่านี้อาจไม่ได้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด แต่เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้แต่อยู่ผิดที่ผิดทาง โดยผมมีข้อสังเกตสองประการ

ประการแรก ข้อค้นพบจาก Manprasert and Wongkaew (2021) ตั้งข้อสังเกตว่าระบบการเงินไทยปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อธุรกิจ (รูปที่ 2) โดยสินเชื่อเพื่อการบริโภคโดยเฉลี่ยในปี 2010-2018 อยู่ที่ 65.2% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าสินเชื่อธุรกิจที่ 48.3% ซึ่งผิดปกติเมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในระดับพัฒนาเดียวกันซึ่งมีสินเชื่อธุรกิจใกล้เคียงหรือสูงกว่าสินเชื่อเพื่อการบริโภค

รูปที่ 2 สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและสินเชื่อธุรกิจต่อ GDP

ประการที่สอง ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว สถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อธุรกิจ ‘มากกว่า’ สินเชื่อส่วนบุคคล รูปที่ 3 คำนวณการเปลี่ยนแปลงสะสมของมาตรฐานการให้สินเชื่อ โดยค่าลบสะท้อนว่ามาตรการให้สินเชื่อเข้มงวดขึ้น จากรูปจะพบว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกซับไพรม์ในปี 2008-2009 และวิกฤตโควิด-19 สถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อธุรกิจมากกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 (ปี 2021) สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อธุรกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความเข้มงวดในการให้สินเชื่อส่วนบุคคลเริ่มคงที่

รูปที่ 3 ความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ

จากข้อสังเกตสองประการข้างต้น ครัวเรือนไทยอาจจำเป็นต้องก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อนำไปประกอบธุรกิจ เพราะไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจได้ จึงต้องย้ายมาก่อหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งบันทึกเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แทน โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังอย่างมากในการให้สินเชื่อธุรกิจ เมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคล

ปัญหาที่ตามมาคือครัวเรือนที่ขอสินเชื่อเพื่อการบริโภคเพื่อนำไปดำเนินธุรกิจจะต้องรับภาระดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อธุรกิจมาก หรืออาจกล่าวในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ว่าผู้กู้ต้องเผชิญกับ ‘ส่วนชดเชยความเสี่ยง (Risk Premium)’ ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลหลายประเภทยังเป็นสัญญาระยะสั้น จึงบริหารจัดการได้ยาก เมื่อผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้จึงต้องขอสินเชื่อส่วนบุคคลจากสถาบันการเงินอื่นมาชำระหนี้ หากไม่สามารถกู้จากสถาบันการเงินในระบบได้ ก็ต้องกู้เงินนอกระบบซึ่งมีต้นทุนสูงกว่ามาก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมครัวเรือนไทยจึงติดกับดักหนี้ได้ง่าย แต่หนีออกจากกับดักหนี้ได้ยาก

เมื่อปัญหาหนี้ครัวเรือนสะท้อนถึงความไม่สอดคล้องของกระแสรายได้-กระแสรายจ่ายและปัญหาที่คนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะคนฐานรากไม่อาจหลีกเลี่ยง ขณะเดียวกัน พลวัตของระบบการเงินไทยยังสะท้อนอีกด้วยว่าคนในระบบเศรษฐกิจตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้พวกเขาเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ได้มากเท่าที่ควร จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า โครงสร้างเชิงสถาบันของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินมากน้อยเพียงใด

ปรับโครงสร้างเชิงสถาบันของระบบการเงินไทยเพื่อย้ายหนี้ไปเป็นสินเชื่อที่ก่อให้เกิดรายได้

ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจไทยต้องการภาคการเงินที่ช่วยสร้าง ‘โอกาส’ ให้คนในระบบเศรษฐกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเคลื่อนย้ายกระแสรายรับที่เหลื่อมกับกระแสรายจ่ายให้สอดคล้องกันมากขึ้น

สินเชื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรการเงิน การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนอาจไม่ได้หมายถึงการลดหรือจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อ แต่หมายถึงการสร้างเงื่อนไขและแรงจูงใจให้ทั้งคนที่ต้องการขอสินเชื่อและสถาบันการเงินย้ายหนี้ไปเป็นสินเชื่อที่ก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น

อุปสรรคสำคัญของการย้ายหนี้ไปเป็นสินเชื่อที่ก่อให้เกิดรายได้คือ ‘ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร’ ที่ทำให้สถาบันการเงินจำเป็นต้องระมัดระวังในการให้สินเชื่อ การประเมินสินเชื่อของสถาบันการเงินส่วนใหญ่ในไทยเป็นแบบ Risk-based อันเป็นมรดกตกทอดจากการปรับโครงสร้างระบบการเงินไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจการเงินไทยในปี 2540 วิกฤตครั้งนั้นมีต้นตอมาจากความเปราะบางในภาคการเงิน

โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถาบันการเงินดำเนินธุรกิจโดยโอบรับความเสี่ยงไว้มากจนเกินไป เช่น สาขาธนาคารให้สินเชื่อโดยไม่ได้เก็บข้อมูลและประเมินความเสี่ยงในการชำระหนี้อย่างถี่ถ้วนพอ เป็นต้น ความเปราะบางสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้บริบทที่ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารอำพรางความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกว่าปัญหานี้ว่า ‘Moral Hazard’

อย่างไรก็ตาม การประเมินสินเชื่อแบบ Risk-based ในระบบการเงินที่ข้อมูลข่าวสารไม่สามารถไหลเวียนอย่างสมบูรณ์อาจ ‘จำกัดโอกาส’ ที่ธุรกิจที่มีศักยภาพจะเข้าถึงสินเชื่อ เพราะไม่สามารถส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่บ่งชี้ถึงศักยภาพของตนให้สถาบันการเงินไปประเมินได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมีนัยต่อศักยภาพในการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหา Moral Hazard ดังนั้น ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข

การแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้โดยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้กู้เปิดเผยเจตจำนงในการกู้เงิน การจัดตั้ง ‘ตัวกลางเครดิต’ (Credit Mediator) เพื่อประสานให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ ตลอดจนแนวคิดการจัดตั้งทะเบียนหลักประกันแห่งชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเสนอและตรวจสอบหลักประกันในการกู้ยืม

นอกจากนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการความเสี่ยงในปัจจุบันอาจดีพอที่จะเอื้อให้สถาบันการเงินสามารถกระจายอำนาจหน้าที่ในการประเมินสินเชื่อลงมาให้สาขาในระดับภูมิภาคได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับผู้กู้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินสินเชื่อ

ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารระหว่างสถาบันการเงินกับผู้กู้ยังสามารถบรรเทาลงได้ หากสถาบันการเงินสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อนำไปใช้ในการประเมินสินเชื่อและออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น โดยปัจจุบันมีโครงการที่สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสถาบันการเงิน

อาทิ ข้อตกลงในการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากระหว่างสถาบันการเงินเพื่อใช้ในกระบวนการประเมินสินเชื่อและออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นในอนาคต การสนับสนุนอาจต่อยอดไปเป็นการสร้างระบบนิเวศของข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ และการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินในการบริหารทรัพยากรทางการเงินร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับสินเชื่อที่ก่อขึ้นเพื่อบริโภค วิธีการประคับประคองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไว้ในระดับที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน คือ การสร้างสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางการเงินเพื่อจูงใจให้ครัวเรือนใช้จ่ายเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างสมดุลระหว่างความสุขระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาว ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางการเงิน
ถึงเวลาแล้วที่เราจะช่วยกันทบทวนว่า เราควรจะสร้างระบบนิเวศการเงินที่ช่วยให้โอกาสคนมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเคลื่อนย้ายกระแสรายรับที่ Mismatch กับกระแสรายจ่าย ซึ่งเป็นวิถีของคนไทยส่วนใหญ่ หรือ เราควรออกแบบให้คนที่มีรายได้เหนือรายจ่ายอยู่แล้วและมีรายได้ประจำเข้าถึงเงินกู้?

แก้หนี้จากรากฐาน ผ่านการเติบโตจากฐานราก

นอกจากการปรับโครงสร้างเชิงสถาบันของระบบสถาบันการเงินแล้ว การแก้ปัญหาหนี้จะยั่งยืนก็ต่อเมื่อคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับทักษะ ทรัพยากรและบริบทแวดล้อมของแต่ละคน การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจะให้ผลตอบแทนที่ยั่งยืนและให้อำนาจทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตเศรษฐกิจ

พระอาจารย์นพพรเล่าถึงความพยายามของชุมชนบ้านโนนเจริญศิลป์ในการแสวงหารายได้ที่มั่นคงและแน่นอนขึ้น โดยให้น้ำหนักไปกับสิ่งที่ชุมชนแก้ได้ด้วยตัวเอง พระอาจารย์มองเห็นโอกาสในการส่งออกกล้วยไปยังญี่ปุ่น จึงชักชวนให้ชาวบ้านหันมาปลูกกล้วย พระอาจารย์ประสานให้ลูกศิษย์ที่ปลูกกล้วยจนชำนาญมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ชาวบ้าน และลงมือทำการตลาดด้วยตนเอง ปัจจุบันบ้านโนนเจริญศิลป์จึงสามารถส่งออกกล้วยไปยังญี่ปุ่นได้สำเร็จ ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถบริหารจัดการรายจ่ายและบรรเทาภาระหนี้ลงได้ไม่มากก็น้อย

หากถอดบทเรียนจากความสำเร็จก้าวแรกของบ้านโนนเจริญศิลป์จะพบว่า ชุมชนมีบทบาทสำคัญในการมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับบริบทและประสบการณ์ของท้องถิ่น ชุมชนมีศักยภาพในการสร้าง สะสมและนำองค์ความรู้ไปต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ดำเนินนโยบายจากส่วนกลางมีบทบาทใน ‘การให้พลังกับท้องถิ่น’ โดยการกระจายอำนาจในการออกแบบและดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจให้ชุมชน สนับสนุนเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพและบริหารความเสี่ยง ตลอดจนประสานให้เกิดความเชื่อมโยงเป็นประโยชน์กับชุมชน การให้พลังกับท้องถิ่นนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุดแล้ว ยังเป็นการแบ่งงานกันทำระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ความหวังคือการลุกขึ้นมาทำ

“ตึกที่พังจากฐานราก จะพังทั้งตึก เราพูดกันว่าคนฐานรากคือกระดูกสันหลังของชาติ แต่กระดูกสันหลังเรามีปัญหา”

ในช่วงท้ายของบทสนทนา เราพูดคุยกันถึง ‘เรื่องเศร้า’ และ ‘ความหวัง’ ของระบบเศรษฐกิจไทย สำหรับ ‘เรื่องเศร้า’ พระอาจารย์เห็นว่าคนฐานรากเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นทั้งแรงงาน และคนที่ซื้อสินค้าและบริการ ท่านตั้งคำถามว่าระบบเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อไปได้อย่างไร หากเศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอและเปราะบาง เปรียบได้กับตึกสูงตระหง่านแต่ฐานรากคลอนแคลน เรื่องที่เศร้าที่สุดคือ หากปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากไม่ได้รับการแก้ไข ในไม่ช้าฐานรากของตึกจะทรุดตัว ส่งผลให้ตึกถล่มลงมาทั้งตึก ต่อให้สร้างชั้นบนให้แข็งแรงเพียงใดก็ต้องถล่มตามฐานรากลงมาอยู่ดี

เมื่อถามถึง ‘ความหวัง’ ท่านเล่าว่า “ความหวังอยู่ที่สิ่งที่เราทำได้ เราต้องลุกขึ้นมาทำ” พระอาจารย์เล่าว่าการลงมือทำ นอกจากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองแล้ว ยังทำให้คนรอบข้างเห็นว่าเราลงมือทำจริง และแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะช่วยสร้าง ‘ความศรัทธา’ ให้คนรอบข้างลงมือทำตาม

“พระเทศน์มีเยอะแล้ว อาตมาขอเป็นพระทำ”

ปัญหาความไม่สอดคล้องของกระแสรายได้และรายจ่าย และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ตามมาเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้ามาแก้ไข การพยายามร่วมกันอาจเป็นเรื่องยาก แต่จะง่ายขึ้นหากทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจไทยลุกขึ้นมาเริ่มลงมือทำ

ได้เวลาลุกขึ้นมาทำแล้วครับ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘ชักหน้าให้ถึงหลัง’ แก้กับดักหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ประชาชาติธุรกิจ

Whoscall เพิ่มปุ่ม SOS แนะนำขั้นตอน ช่วยเหยื่อมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน

38 นาทีที่แล้ว

ราคาทองวันนี้ (3 ก.ค. 68) ขยับขึ้น 100 บาท ทองรูปพรรณบาทละ 52,200 บาท

52 นาทีที่แล้ว

ไทยครองแชมป์เมืองหลวงอาหารเอเชีย-แปซิฟิก ดันเป้าศูนย์กลางอาหารโลกปี’69

55 นาทีที่แล้ว

“สรวงศ์” ขับเคลื่อนนโยบายต้านโด๊ป หนุนงบฯ-ยกระดับมาตรฐานตาม WADA

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความหุ้น การลงทุนอื่น ๆ

OR เปิดตัวแอป blueplus+ โฉมใหม่ หนุนกลยุทธ์ Digital Transformation เชื่อม OR’s Ecosystem อย่างไร้รอยต่อ

Share2Trade

AMARC สุดฮอต!!! แนวโน้มรายได้-กำไรเติบโตดี

Share2Trade

หุ้นไทยภาคเช้า ปิดบวก 3.67 จุด แรงซื้อ DELTA-CCET หนุนคาดหวังเจรจาไทย-สหรัฐใกล้ได้ข้อสรุป

การเงินธนาคาร

โรงไฟฟ้า BLCP ผนึก Algal Bio เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกด้วยนวัตกรรมจุลสาหร่าย

Share2Trade

คาดผลกระทบภาษีสหรัฐ ขึ้นทุก 10% มีผลต่อ GDP ราว 1% โบรกฯชี้สะเทือนตลาดไม่มาก

Share2Trade

ผู้บริหารไทยประกันชีวิต รับโล่เกียรติยศศิษย์เก่าดีเด่น ม.ธรรมศาสตร์

สยามรัฐ

CCET-DELTA นำทัพ หุ้นกลุ่มอิเล็กฯ วิ่งทะยานแรง รับข่าวสหรัฐฯ คลายล็อกชิปจีน

Share2Trade

ราคาทองวันนี้ (3 ก.ค. 68) ขยับขึ้น 100 บาท ทองรูปพรรณบาทละ 52,200 บาท

ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวและบทความยอดนิยม

'ชักหน้าให้ถึงหลัง' แก้กับดักหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ประชาชาติธุรกิจ

สุริยะ-ภูมิธรรม รักษาการนายกฯ มีอำนาจยุบสภาได้หรือไม่

ประชาชาติธุรกิจ

กยศ. ชวน 'รุ่นพี่' ส่งต่ออนาคตให้น้อง ชำระหนี้คืนภายใน 5 ก.ค. นี้

ประชาชาติธุรกิจ
ดูเพิ่ม
Loading...