แก้เกมสงครามผสมผสาน รับมือศึกนอก-แรงกดดันภายใน
เหตุการณ์พลทหารเหยียบกับระเบิดจากฝ่ายกัมพูชาเล่นสกปรก แทรกซึมเข้ามาฝังทุ่นระเบิดใหม่ในพื้นที่ช่องบกซึ่งมีการเคลียร์ทุ่นไปแล้ว ทำให้เกิดกระแสกดดันสวิงกลับมาที่ฝ่ายไทยว่า เป็นสุภาพบุรุษเกินไปหรือไม่? เพราะแค่ประท้วง หรือร้องเรียนคณะกรรมการออตตาวา ที่จะมีการประชุมประมาณเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ฝ่ายไทยอาจต้องเจอกับการลอบกัดของฝ่ายตรงข้ามอีกกี่ครั้ง
เพราะพื้นที่ตั้งแต่ช่องบก จ.อุบลราชธานี ถึง จ.บุรีรัมย์ ถือส่วนหนึ่งในสนามทุ่นระเบิด K5 หรือที่มักรู้จักกันในนาม ม่านไม้ไผ่ ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2528-2532 หลังจากที่กองทัพเวียดนามขับไล่กองกำลังเขมรแดงออกนอกประเทศกัมพูชาได้แล้ว จึงทำแนวสกัดกั้นเขมรแดงไม่ให้กลับเข้าประเทศด้วยการวางสนามทุ่นระเบิด ยาวกว่า 700 กม.ตามแนวชายแดนกัมพูชา-ไทย มีการบันทึกว่าสนามทุ่นระเบิด K5 นี้กว้างถึง 500 เมตร ความหนาแน่นของทุ่นระเบิดที่วางประมาณ 3,000 ทุ่น ต่อความยาว 1 กิโลเมตร
ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) โดยหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี, จ.ศรีสะเกษ, จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1 ในพื้นที่ จ.สระแก้ว และหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 (กองทัพเรือ) ในพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด แนวทุ่นระเบิด K5 ได้สำรวจสำเร็จแล้วหลายจุด รวมถึงบริเวณที่เกิดเหตุระเบิดที่ผ่านมา
จะมีพื้นที่บางส่วนรอบ “รวงผึ้ง” ในพื้นที่อุทยานภูจอง-นายงอย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดมที่ยังเคลียร์ไม่จบ เพราะหยุดปฏิบัติการไปเมื่อช่วงปี 2563 ซึ่งตอนนั้นกัมพูชาไม่ยอมให้มีการสำรวจ โดยหยิบยกเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิ์ ส่วนจุดที่เกิดเหตุมีการเคลียร์เป็นพื้นที่ “สีเขียว” แล้ว
สถานการณ์ชายแดน “ไทย-กัมพูชา” ตอนนี้ จึงดูน่าอึดอัด และอึมครึม ต่างฝ่ายต่างคุมเชิง ระมัดระวังท่าที เมื่อประกอบกับแนวรบด้านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการใช้มวลชนเป็นตัวแสดง ทำให้ระดับกระทรวงกลาโหมและกองทัพบกต้องย้ำแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ด้วยความรอบคอบเป็นพิเศษ และต้องใช้ข้อมูล กฎหมายในการมัดคอผู้บิดเบือนให้อยู่หมัด
ภาพที่ออกมาจึงเหมือนการ “ตั้งรับ” เสียเชิงให้กับกัมพูชา ขณะที่รัฐบาลก็เงื้อค้าง ไม่มีท่าทีใดในการตอบโต้อย่างสมน้ำสมเนื้อ กว่าที่กระทรวงการต่างประเทศจะออกโรงได้ก็ต้องรอหน่วยงานอื่นประณามไปหมดแล้ว
“ตรงนี้ที่อยากขอความเห็นใจ เพราะภาครัฐต้องทำงานตามขั้นตอน รัดกุม ถ้าทำแล้วพลาดจะมาตำหนิอีกว่าทำไมไม่รอบคอบ …..งานของ ศบ.ทก.และกระทรวงกลาโหมไม่ใช่แค่งานเรื่องทุ่นระเบิดเรื่องเดียว เราดูแม้กระทั่งสวัสดิการของน้องทหารที่ได้รับบาดเจ็บหรือพิการว่าจะทำอย่างไร เราคิดอยู่ตลอด ฉะนั้นคนที่รับผิดชอบ ปัญหาจะมาหลายทาง ตอนนี้ตนเองเหมือนหมาวิ่งกัดเห็บที่หางตัวเอง คือ พยายามทำให้ดีที่สุด” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รักษาการ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยดำเนินการล่าช้า
เช่นเดียวกับ พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ก็ถูกโลกโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ดีแต่พูด” ปล่อยให้กัมพูชาเล่นงานอยู่ฝ่ายเดียว จนต้องอธิบายให้สังคมได้เข้าใจว่า ในปฏิบัติการบางอย่างก็ไม่สามารถเปิดเผยได้
ขณะที่ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก เคยสั่งการในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. ให้ใช้กลไกระดับภาคและระดับจังหวัด สนับสนุนและเสริมการปฏิบัติภารกิจของกองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 2 บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งอยู่ภายใต้บริบทของสถานการณ์แบบผสมผสาน (Hybrid) รวมถึงได้เน้นย้ำในการใช้ศักยภาพของมวลชนในพื้นที่ในการเสริมสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง และสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงตามแนวทางอย่างสันติ
แต่ภาพรวมของสถานการณ์ขณะนี้ นอกจากแนวรบในพื้นที่ซึ่งมีทหารทั้งสองฝ่ายตรึงกำลังอยู่ตลอดแนว มีความสุ่มเสี่ยงและอ่อนไหวอยู่แล้ว ยังมีสถานการณ์ของมวลชนสองชาติที่ต้องการเข้ามาแสดงความเป็นเจ้าของปราสาทตาเมือนธม-ปราสาทตาควาย ด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์รายวัน ซึ่งก็มีความเสี่ยงเช่นกันที่จะเกิดการทะเลาะวิวาทหรือเผชิญหน้ากันได้ทุกเมื่อ
เป้าหมายของรัฐกัมพูชาคือ การสร้างพื้นที่ข่าวในโลกโซเชียล ดึงกระแสประชาชนให้ออกมาเคลื่อนไหว สนับสนุนรัฐบาลกัมพูชา และเป็นแนวร่วมในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ที่มีการยื่นต่อศาลโลก
ก่อนหน้านั้นยังก่อกวนด้วยการย้ายหมุดปราสาทตาเมือนธมในแอปพลิเคชัน Google Map จากฝั่งประเทศไทยอยู่ไปในฝั่งกัมพูชา เพื่อสร้างหลักฐานเท็จฟ้องสื่อต่างชาติและศาลโลก รวมทั้งหลอกชาวเขมรด้วยกันให้เข้าใจผิดว่า ปราสาทตาเมือนธมอยู่ในดินแดนกัมพูชามาเนิ่นนาน และประเทศไทยต้องการรุกรานดินแดนกัมพูชา เพื่อต้องการยึดปราสาทตาเมือนธม
หรือกรณีที่มีข่าวว่า กัมพูชาเปิดแนวรบในโลกไซเบอร์ ด้วยการจ้างแฮกเกอร์เกาหลีเหนือเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับไทย
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งกระทรวงกลาโหมและกองทัพของไทยจึงต้องเจอกับข้าศึกภายนอก และกระแสกดดันภายในประเทศที่ “ไม่ได้ดังใจ” ซึ่งไม่ต้องไปพูดถึงรัฐบาลว่ามีจุดยืนอย่างไร เพราะเท่าที่เห็นคือ อยู่ในสถานะลอยตัว “ปิดจ๊อบ” ไม่เผาผีกับ “ฮุน เซน” แล้วก็โยนเผือกร้อนให้ทหารรับหน้าเสื่อไปเต็มๆ
ขณะที่ยุทธศาสตร์ของทหารในระดับกระทรวงกลาโหม พยายามใช้ทุกช่องทางในการหยั่งท่าทีของกัมพูชา และต่อรองให้มีการปรับกำลังทหารกลับเข้าที่ตั้งเดิม ลดการเผชิญหน้า
ซึ่งดูเหมือนว่า กัมพูชาเองก็ต้องการหาทางลง แต่สถานการณ์เลยเถิดเกินกว่าจะกลับหลังหันได้ รอแค่จังหวะในการพาดบันไดหาทางลง เพียงแต่ต้องอาศัยกำลังภายในจากบางฝ่ายเท่านั้น
ขณะที่กองทัพบกใช้ยุทธวิธีในการรักษาพื้นที่โดยไม่ได้เปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบว่าทำอย่างไร แม้จะทำให้ทหารเสียคะแนนนิยมไปบ้าง แต่ในสุดท้ายปลายทางคือหวังความได้เปรียบและรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง.