นายกสมาคมทนายฯ ชี้อำนาจยุบสภา ‘ไม่ใช่อำนาจเฉพาะตัวนายกฯ’
นายกสมาคมทนายความฯ ยก รธน.มาตรา 103 เทียบ 107 ชี้อำนาจยุบสภาไม่ใช่อำนาจเฉพาะตัวนายกฯ รักษาการนายกฯ มีสิทธิยุบสภาได้ ฉะ รธน. “มีชัย” ไม่ได้เอามาจากอังกฤษ แต่เป็นรัฐธรรมนูญ “แบบไทยๆ” ที่ไม่มีในอังกฤษ
9 กรกฎาคม 2568 - นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คสมาคมทนายความเเห่งประเทศไทยว่า บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ
ตามที่นักกฎหมายบางท่านมีความเห็นว่า การยุบสภาเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะหมายถึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีที่จะถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภา เพราะการยุบสภาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 แต่ผมกลับมีความเห็นต่างโดยเห็นว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ผู้ที่รักษาการแทนย่อมมีอำนาจที่จะถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาได้ โดยมีเหตุผลดังนี้
1. การใช้อำนาจขององค์กรในระบอบประชาธิปไตยจะมีการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยองค์กรที่ใช้อำนาจบริหารได้แก่ คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 วรรคท้าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีได้ทุกคน โดยไม่มีข้อจำกัดว่าตรวจสอบได้เฉพาะนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะเป็นการตรวจสอบระหว่างองค์กร ในทางกลับกันฝ่ายบริหารก็มีสิทธิลงโทษฝ่ายนิติบัญญัติด้วยการขอให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการถ่วงดุล เมื่อคณะรัฐมนตรีถูกฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบได้ทุกคน แล้วเหตุไฉนอำนาจการถ่วงดุลด้วยการขอให้ทรงยุบสภาจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ผมจึงเห็นว่าอำนาจการถ่วงดุลดังกล่าว “ฝ่ายบริหาร” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ มิได้เป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคล เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รองนายกรัฐมนตรีที่รักษาการแทนจึงมีสิทธิที่จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ได้
2. การใดที่กฎหมายต้องการให้เป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี การนั้นจะมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ได้แก่ อำนาจการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ หากความเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นสิ้นสุดลงรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) จึงบัญญัติให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วย หรือการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งซึ่งเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีเช่นกัน รัฐธรรมนูญ มาตรา 171 จึงบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ แต่การยุบสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง รัฐธรรมนูญกลับไม่มีบทบัญญัติให้เห็นว่าเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะเป็นผู้ถวายคำแนะนำ
บทบัญญัติของ มาตรา 103 และ มาตรา 171 แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้
มาตรา 103 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการทั่วไป
มาตรา 171 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี “ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ”
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายมีชัยเป็นผู้ร่างตามความต้องการของ คสช. จึงไม่ได้เอาแบบอย่างมาจากอังกฤษอย่างที่อ้างกัน เพราะอังกฤษไม่มีการพักงานนายกรัฐมนตรีและไม่มี ส.ว. แบบที่ให้เลือกกันเองจนเกิดการฮั้ววุ่นวายกันทั้งประเทศ จึงเป็นรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ หรือแบบนายมีชัย หรือแบบ คสช. แล้วแต่จะเรียก
หากผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้การยุบสภาเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญก็ต้องบัญญัติไว้ชัดเจนเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 171 เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า การถวายคำแนะนำให้ทรงยุบสภาเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนก็ย่อมมีสิทธิที่จะถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะเป็นอำนาจการถ่วงดุลของฝ่ายบริหารให้แก่คณะรัฐมนตรีที่เป็นหมู่คณะ จึงไม่ได้เป็นอำนาจเฉพาะตัวที่เป็นส่วนบุคคลของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่เช่นนั้นเหตุใดรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 กับ มาตรา 171 จึงบัญญัติไว้แตกต่างกัน แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนโดยไม่ต้องตีความหรือต้องไปอ้างประเพณีการปกครองของประเทศอังกฤษแต่อย่างใด