ส่องข้อเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม หลังทรัมป์ปรับภาษีจาก 46% เหลือ 20%
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังสนใจกำหนดเส้นตายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่กำลังใกล้เข้ามา โดยในเดือนเมษายน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศรายการขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ต่อประเทศต่างๆ เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอัตราภาษีที่ทรัมป์ประกาศว่าจะเพิ่มนั้น ก็ไม่ใช่น้อยๆ และอาจทำให้เศรษฐกิจของนานาประเทศผันผวนได้เลย
เหตุการณ์วันนั้น ทำให้หลายประเทศต้องหาแนวทางสารพัด ใช้ในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อลดภาษีและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หนึ่งในประเทศที่เจรจาจนลดภาษีได้ และได้รับความสนใจในสายตานานาชาติก็คือ ‘เวียดนาม’ ซึ่งในเดือนเมษายน ทรัมป์ตั้งอัตราภาษีต่อสินค้าที่จะส่งจากเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ไว้ถึง 46% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด (2 กรกฎาคม 2025) ทรัมป์ได้ประกาศว่า สหรัฐฯ จะเก็บภาษีเวียดนามในอัตราต่ำกว่าที่ประกาศไว้ โดยสินค้าที่นำเข้าจากเวียดนามไปยังสหรัฐฯ จะถูกจัดเก็บภาษีที่ 20% ส่วนสินค้าที่ขนส่งจากประเทศที่สาม ผ่านเวียดนามไปยังสหรัฐฯ (trans-shipments) จะถูกจัดเก็บภาษีที่ 40% อีกทั้งเวียดนามจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราภาษี 0%
อัตราภาษีที่ถูกปรับลดลงอย่างมากครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายสนใจว่า เวียดนามเจรจาได้อย่างไร? และการปิดดีลครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่คู่แข่งอย่าง จีน หรือไม่?
เวียดนามยอมให้สหรัฐฯ เสียภาษี 0%
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงสิ่งที่เวียดนามตกลงทำเพื่อแลกกับการปรับภาษี ว่า “ในทางกลับกัน เวียดนามจะทำบางอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือ การให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาดการค้าของตัวเองได้ทั้งหมด”
ทรัมป์ระบุว่า เวียดนามจะ “เปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ” ซึ่งหมายความว่า สหรัฐฯ จะสามารถขายสินค้าของตัวเองในเวียดนามได้ โดยที่ “ภาษีเป็นศูนย์” หรือสหรัฐฯ ไม่ต้องเสียภาษีเลยนั่นเอง
Việt Nam News หรือสำนักข่าวของรัฐบาลเวียดนามรายงานว่า ทรัมป์และ โต เลิม (Tô Lâm) ผู้นำระดับสูงของเวียดนาม ได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ โดยระบุถึงดีลเพิ่มเติมว่า “เลิมได้เสนอให้สหรัฐฯ รับรองเวียดนาม เป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาดโดยเร็ว และยกเลิกข้อจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไฮเทคบางประเภท”
ตั้งภาษี trans-shipments ถึง 40% เกี่ยวกับจีนอย่างไร?
อีกหนึ่งประเด็นที่มองข้ามไม่ได้คือ การเก็บภาษี trans-shipments ที่ 40% โดยภาษีประเภทนี้ จะมีผลกับสินค้าที่มีชิ้นส่วนมาจากประเทศหนึ่ง เช่น จีน แต่ถูกส่งผ่านเวียดนามก่อนที่จะส่งออกไปยังสหรัฐฯ
เป็นที่รู้กันดีว่า จีนเป็นผู้จัดหาชิ้นส่วนและวัตถุดิบจำนวนมาก ให้แก่เวียดนามและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการผลิตสินค้าให้เสร็จสมบูรณ์ และในขณะเดียวกัน จีนยังมีการส่งออก ‘สินค้าสำเร็จรูป’ หรือ ‘สินค้าที่เกือบจะสมบูรณ์แล้ว’ ผ่านเวียดนาม เพื่อผ่านกระบวนการประกอบขั้นสุดท้ายเพียงเล็กน้อยในเวียดนาม
วิธีดังกล่าวถูกมองว่า เป็นการแสดงแหล่งกำเนิดว่าสินค้านั้นๆ มาจากประเทศไหนอย่างไม่ถูกต้อง โดยสินค้าที่ผลิตในจีนบางส่วน อาจถูกเข้าใจว่าผลิตในเวียดนามทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
“บทเรียนประการหนึ่งสำหรับประเทศอื่นๆ ก็คือ สหรัฐฯ ตั้งใจจะใช้ข้อตกลงเหล่านี้เพื่อกดดันจีน” สตีเฟน โอลสัน (Stephen Olson) อดีตผู้เจรจาการค้าของสหรัฐฯ กล่าวกับ The Guardian
ด้วยเหตุนี้เองหลายคนจึงมองว่า ‘หัวใจสำคัญ’ ของข้อตกลงระหว่างทรัมป์กับเวียดนาม รวมถึงการเจรจากับคู่ค้ารายใหญ่รายอื่นๆ คือความพยายาม ‘ต่อต้าน’ สิ่งที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน โดย ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ เคยพูดถึงเวียดนามว่า “โดยพื้นฐานแล้วเป็นอาณานิคมของจีนคอมมิวนิสต์” พร้อมกับอธิบายว่า การขนถ่ายสินค้าของจีนผ่านเวียดนาม มีส่วนทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า
“พวกเขา (จีน) ติดฉลาก ‘Made in Vietnam’ และส่งมาที่นี่ (สหรัฐฯ) เพื่อหลบเลี่ยงภาษี” นาวาร์โรให้สัมภาษณ์กับ Fox News
หลังจากที่ทั่วโลกรับรู้ข้อตกลงระหว่างทรัมป์กับเวียดนาม เหอ หย่งเฉียน (He Yongqian) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีน ก็ตอบโต้ทันที โดยระบุว่า “เราคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำข้อตกลงโดยแลกมาด้วยผลประโยชน์ของจีน หากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นขึ้น จีนจะตอบโต้โดยเด็ดขาดเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของตน”
อีกสิ่งที่ต้องเข้าใจคือ อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับทั้งสหรัฐฯ และจีน โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็น 30% ของ GDP เวียดนาม ขณะที่จีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยเวียดนามต้องพึ่งพาจีนในการจัดหาวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าต่างๆ ตั้งแต่รองเท้าไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เวียนามจะเป็นอย่างไรต่อไป?
ในอีกมุมหนึ่ง หลายคนกังวลว่า trans-shipments อาจเป็นคำที่ถูกทำให้มีมิติทางการเมือง ซึ่งหากสหรัฐฯ กำหนดความหมายของคำนี้อย่างกว้างเกินไป สินค้าจำนวนมากอาจตกเป็นเป้าหมายอย่างไม่เป็นธรรม
ดร.เหงียน คาค เซียง (Nguyen Khac Giang) นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS Yusof Ishak กล่าวว่า เป็นเรื่องไม่สมจริงหากจะคาดหวังว่าสินค้าเวียดนามส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ไม่ใช่สินค้าเกษตร จะต้องผลิตขึ้นทั้งหมดภายในประเทศ
เขาอธิบายว่า “เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิต และในฐานะศูนย์กลาง คุณจะต้องรับปัจจัยการผลิตจากประเทศอื่นๆ แล้วผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มในเวียดนาม จากนั้นจึงส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ”
ทั้งนี้เขาเสริมว่า สิ่งที่ต้องจับตามองจากนี้ไปคือ สัดส่วนของผลิตภัณฑ์ควรเป็นเท่าใด กล่าวคือต้องมีส่วนประกอบจากประเทศอื่นๆ ในสัดส่วนเท่า จึงจะเข้าข่ายการเก็บภาษี trans-shipments อีกทั้งเราคงต้องติดตามต่อไปว่า เวียดนามรวมถึงนานาประเทศ จะปรับตัวกับความผันผวนทางเศรษฐกิจจากภาษีของทรัมป์อย่างไร
อ้างอิงจาก