คึกฤทธิ์ชีวิตไทย (28)
ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
การอยู่ “อย่างไทย” ทำได้หลายหลายวิธี สิ่งหนึ่งก็คือการใช้ชีวิตอยู่ใน “บ้านไทย”
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดมาในสมัยที่บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สิ่งหนึ่งคือแบบอย่างการใช้ชีวิต ที่ฝรั่งเรียกว่า “Lifestyle” เพราะตอนที่ท่านเกิดนั้นเป็นช่วงที่คนไทยโดยเฉพาะชนชั้นสูงกำลัง “เห่อฝรั่ง” คือนิยมใช้ชีวิตแบบฝรั่ง การกินอยู่ การแต่งกาย จนถึงบ้านเรือน ก็เป็นแบบฝรั่งไปเสียสิ้น ซึ่งก็อาจจะเป็นไปเพราะลัทธิล่าอาณานิคมที่แผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคนี้อย่างรุนแรงประการหนึ่ง และอาจจะเป็นไปด้วยนิสัย “ชอบของใหม่” อันเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์ ที่อยากจะรู้ อยากเห็น หรืออยากทดลองของใหม่ ๆ เหล่านั้น
พวกฝรั่งที่เข้ามาในไทยในยุครัชกาลที่ 5 และ 6 ส่วนใหญ่จะมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในย่าน “สีลม” ว่ากันว่าตั้งแต่ที่มีการตัดถนนเจริญกรุง ที่ฝรั่งเรียกว่า New Road ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเริ่มจากหน้าวัดพระเชตุพน (บริเวณหน้ากรมการรักษาดินแดนในปัจจุบัน) ตรงไปย่านสำเพ็ง ขนานไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ตัดปากคลองพ่อยมบริเวณตำบลบางรัก ถึงสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม (บริเวณที่เป็นสะพานกรุงเทพในปัจจุบัน และเรียกตรงที่ถนนมาสิ้นสุดนั้นว่า “ถนนตก”) ความยาวประมาณ 8 กิโลเมตรเศษ โดยมีจดหมายเหตุกล่าวถึงเหตุผลในการสร้างถนนเจริญกรุงในครั้งนั้นว่า “มีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลได้เข้าชื่อกันขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศและอ้างว่า เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ”
ข้อมูลในวีกิพีเดียบอกว่า เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า New Road ชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซิงพะโล่ว แปลว่าถนนตัดใหม่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า "ถนนเจริญกรุง" ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน
"ทางที่ทำใหม่ตรงวัดพระเชตุพน ตรงออกไปนอกกำแพงข้ามคลองไปริมบ้านแขกเมืองเขมร เลี้ยวไปถึงป้อมปัจนึกแล้วข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ตรงลงไปถึงบางคอแหลมนั้น โปรดเกล้าฯให้เรียกว่า ถนนเจริญกรุง ห้ามอย่าให้เรียกอย่างอื่นต่อไป จดหมายประกาศให้ราษฎรรู้จงทั่ว"
“ในขณะที่ตัดถนนเจริญกรุงตอนใน โปรดให้ตัดถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครด้วย เมื่อหลักฐานว่าเมื่อ พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสถนนเจริญกรุงและถนนทุกสายที่สร้างในรัชกาล โปรดให้มีการฉลองถนนถึง 3 วัน 3 คืน หลังจากสร้างถนนเรียบร้อยแล้วจึงได้สร้างตึกแถวโดยได้แบบอย่างจากสิงคโปร์ ตึกแถวประดับโคมไฟซึ่งเริ่มจากการใช้ตะเกียงน้ำมัน แล้วเปลี่ยนมาใช้ไฟแก๊ส จนเมื่อ พ.ศ. 2427 มีการตั้งบริษัทไฟฟ้าสยามเป็นครั้งแรก ไฟตามท้องถนนจึงเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทน”
ที่ต้องกล่าวถึงเรื่องการตัดถนนเจริญกรุงนี้ขึ้นมา ก็เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า การพัฒนาบ้านเมืองของฝรั่งจะเริ่มด้วยการตัดถนนเป็นสิ่งแรก อย่างที่พวกโรมันได้ริเริ่มขึ้นในช่วงก่อนคริสตกาล ที่ได้ตัดถนนออกจากกรุงโรมไปทั่วทุกทิศทุกทางทั่วทวีปยุโรป ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นการแผ่ขยายอาณาเขตของจักรวรรดิโรม แต่ยังเป็นการ “แพร่กระจาย” ทางวัฒนธรรมแบบฝรั่ง ซึ่งชาวโรมันถือว่าพวกเขา “เป็นเจ้า” หรือผู้ให้กำเนิดในวัฒนธรรมชั้นสูงนี้ หรือในการสร้างบ้านเมืองในสหรัฐอเมริกา ทุกเมืองก็จะต้องเริ่มด้วยถนนสายหลักเป็นแกนอยู่ในแนวกลางเมือง มีส่วนราชการเป็นต้นว่าออฟฟิสนายอำเภอและไปรษณีย์อยู่ตรงกลาง รวมถึงร้านขายของชำและร้านตัดผม สุดปลายถนนด้านหนึ่งจะเป็นที่ตั้งของโบสถ์ให้ผู้คนได้ไปทำบุญ ส่วนอีกปลายด้านหนึ่งจะเป็นแหล่งบันเทิงเริงรมย์ เช่น ร้านเหล้าและซ่องโสเภณี ดังที่จะเห็นในหนังคาวบอยต่าง ๆ หรือถ้าไปเที่ยวโรงถ่ายภาพยนต์ก็จะมีเมืองจำลองแบบนี้ตั้งแสดงให้เข้าไปชม
สำหรับประเทศไทย แต่ไหนแต่ไรเรามีแม่น้ำเป็น “แกนชีวิต” ทั้งการตั้งบ้านเรือน การทำมาหากิน และการคมนาคมไปมาหาสู่กัน และเมื่อตั้งกรุงเทพฯเราก็มาตั้งริมแม่น้ำ โดยมีการขุดคูคลองต่าง ๆ อยู่รอบ ๆ จำนวนมาก กระนั้นตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 ก็มีการขุดคลองเป็นวงรอบพระนครถึง 3 ชั้น แต่ก็เป็นคูคลองเพื่อการป้องกันข้าศึกศัตรูไปเสียทั้งสิ้น กระทั่งในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังจากที่ไทยจำยอมต้องทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับจักรวรรดิอังกฤษ ในทางตรงนั้นเราได้เสียอธิปไตยในราชอาณาจักรบางส่วนนั้นไปแล้ว แต่ในทางอ้อมได้ทำให้การค้าทางเรือของไทยขยายตัวไปอย่างมหาศาล แต่เดิมที่เราเคยได้แต่ขายข้าวและของป่ากับจีนเป็นส่วนใหญ่มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 2 และ 3 แต่ครั้นอังกฤษมาบังคับให้ไทยต้องเปิดประเทศ เราก็ขายสินค้าให้กับฝรั่งมากขึ้นด้วย ทำให้มีการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกนี้ขยายตัวไปรอบ ๆ พระนคร ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงมีการขุดคลองเชื่อมเมืองต่าง ๆ รอบกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้มีการขนส่งสินค้าต่าง ๆ เข้ามายังท่าเรือที่กรุงเทพฯได้สะดวกมากขึ้น จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการก่อสร้างทางรถไฟ รวมถึงถนนสายหลัก ๆ อีกหลายสาย ทำให้ประเทศไทยเชื่อมโยงไปได้ทั่วถึงกัน และนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน
ครั้นถึง พ.ศ. 2438 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “เจ้าสัวยม” ได้บริจาคที่ดินตั้งแต่แยกถนนวิทยุ ตรงที่ต่อกับถนนวัวลำพอง (ปัจจุบันคือถนนพระราม 4) เลียบตรงมาขนานกับถนนสีลมไปทางทิศตะวันออกจนจรดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงออกค่าจ้างแรงงานกรรมกรชาวจีนให้ขุดคลองขึ้นสายหนึ่ง แต่แรกจึงเรียกว่าคลองเจ้าสัวยม (หรือบางส่วนก็เรียก “คลองพ่อยม”) ต่อมาเจ้าสัวยมนี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสาธรราชายุตก์” จึงให้เรียกคลองนี้ว่า “คลองหลวงสาธรราชายุตก์” แต่ผู้คนสะดวกที่จะเรียกสั้น ๆ ว่า “คลองสาธร” มาโดยตลอด (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “สาทร” ตามหลักภาษาที่ปราชญ์สมัยใหม่ท่านว่าถูกต้องกว่า)
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สันนิษฐานว่า ย่านสีลมและคลองสาธรที่ถนนเจริญกรุงตัดผ่านนี้ คงไม่ใช้เพียงเพื่อ “ให้นายห้างฝรั่งมาขี่ม้าเล่น” ดังเช่นที่ในจดหมายเหตุครั้งแรกสร้างถนนนี้ได้กล่าวไว้ แต่อาจจะมีความเชื่อมโยงไปได้ว่า พอมีคนจีนอพยพเข้ามาประเทศไทยมาก ๆ ตั้งแต่ที่เราสร้างพระนครแห่งใหม่นี้ขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ครั้นสร้างพระนครแล้วเสร็จ แรงงานชาวจีนก็หาทางไปรับจ้างอื่น ๆ ตั้งแต่รับจ้างฝรั่งไปจนถึงคนไทย อีกทั้งคนไทยก็ไม่ชอบค้าขายหรือทำไร่ทำสวน จะมีบ้างก็คืออาชีพทำนาที่ทำมาตั้งแต่เก่าก่อนนั้น ดังนั้นคนจีนจึงมาเช่าที่ดินคนไทยทำสวนและค้าขายพืชสวนเหล่านั้น เมื่อร่ำรวยขึ้นก็ซื้อที่มาเป็นเจ้าของเสียเอง อย่างที่ในย่านหนึ่งริมคลองเจ้าสัวยมก็ได้มีคนจีนมาทำสวนปลูกพลูสำหรับกินกับหมากอยู่เป็นอันมาก และก็คงจะเป็นพลูที่มีคุณภาพดี มีชื่อเสียง จนมีคนเรียกย่านตรงนั้นว่า “สวนพลู”
คนไทยเองแต่เดิมก็ยังชอบที่จะอยู่ริมแม่น้ำและลำคลองต่าง ๆ อันเป็นนิสัยที่ชอบ “ความสงบร่มเย็น” มาแต่โบราณกาล แต่พอเข้าสู่ยุค “ฝรั่งครองเมือง” ชุมชนริมแม่น้ำก็คงจะเริ่มแออัดยัดเยียดและหาที่อยู่ที่ร่มเย็นได้ยากขึ้น คนไทยเหล่านี้จึงอาจจะมองด้วยสายตาที่เชื่อในฝรั่งอีกด้วยว่า ถิ่นฐานที่ฝรั่งไปอยู่กันมาก ๆ นั้น น่าจะเป็นที่อยู่ที่อาศัยที่ดีกว่าสมัยก่อน ซึ่งสีลมและที่ที่ใกล้เคียงกัน คือย่านสาธรนี้ก็คงจะ “อยู่เย็นเป็นสุข” มาก ๆ เช่นเดียวกัน
นี่คือจุดกำเนิดของ “บ้านไทยซอยสวนพลู” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์” ที่จะได้กล่าวต่อไป