“ดร.สันติธาร” มองดีลภาษีสหรัฐ-เวียดนามยังไม่ชัด แนะไทยเจรจาเชิงนโยบาย-ปรับตัวเชิงโครงสร้าง
"ดร.สันติธาร" มองดีลภาษีสหรัฐ-เวียดนามยังไม่ชัด แนะไทยเจรจาเชิงนโยบาย-ปรับตัวเชิงโครงสร้าง สูตร 40-20-10-0 จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐหรือไม่?
วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เวลาประมาณ 09.13 น. ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (tdri) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศว่าได้ “ดีล” กับเวียดนามสำเร็จ โดยมีหัวใจสำคัญคือ
- 40% ภาษีสำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ มองว่าเป็น “Transshipping” สินค้าจากประเทศอื่น (เช่น จีน) ที่เพียงผ่านเวียดนาม แล้วแปลงร่างเป็นสินค้าจากเวียดนามก่อนส่งไปสหรัฐ
- 20% สำหรับสินค้านำเข้าทั่วไป
- 10% สำหรับสินค้าที่ผลิตในเวียดนามแทบทั้งหมด
- และเวียดนามจะเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐแบบ “ศูนย์ภาษี” (Zero Tariff) และศูนย์แบบไม่มีการกีดกันอื่นด้วย
แม้จะเป็นข้อตกลงระหว่างสองประเทศ แต่จริง ๆ แล้วอาจกลายเป็นต้นแบบของแนวทางใหม่ที่สหรัฐ จะใช้ต่อประเทศที่ “เกินดุลการค้า” กับอเมริกา… ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น
แต่รายละเอียดของดีลนี้ ยังไม่ชัดเจน และนั่นคือประเด็นสำคัญ
1. คำจำกัดความของ Transshipping มีผลชี้ขาด
ถ้าภาษี 40% ใช้เฉพาะกับการเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจนผลกระทบอาจจำกัด แต่ถ้าขยายความหมายให้ครอบคลุมถึงสินค้าที่มี สัดส่วนชิ้นส่วนนำเข้าจากจีนหรือประเทศอื่นมาก แม้จะแปรรูปในเวียดนามจริง ผลกระทบจะขยายวงกว้าง
2. ภาษีอาจแปรผันตามสัดส่วนของชิ้นส่วนนำเข้า
รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ภาษีอาจขึ้นกับสัดส่วน foreign content ถ้านำเข้าชิ้นส่วนมาก เสียภาษีสูง (ราว 20%) ถ้าผลิตในเวียดนามแทบทั้งหมด อาจเสียแค่ 10%
3. ภาษีอาจลดลงในอนาคต สำหรับสินค้าบางประเภท
รายงานจาก Politico ชี้ว่า ทั้งสองประเทศยังอยู่ระหว่างการร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ อาจลดภาษีให้กับสินค้านำเข้าหลายหมวด เช่น เทคโนโลยี รองเท้า สินค้าเกษตร ของเล่น ถ้าเป็นจริง ภาษีเฉลี่ยที่เวียดนามต้องจ่ายอาจต่ำกว่าที่ประกาศไว้มาก
แล้วไทยควรถามตัวเองอะไรบ้าง?
1. สูตร 40-20-10-0 จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ สำหรับประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ หรือไม่?
หากเวียดนามกลายเป็นต้นแบบ และสหรัฐฯ นำแนวทางนี้ไปใช้กับประเทศอื่น ไทยต้องเตรียมพร้อมทั้งในแง่การเจรจาเชิงนโยบาย และการปรับตัวเชิงโครงสร้าง
2. หากไทยต้อง‘ เปิดหมด’ ให้สินค้าสหรัฐอนวเดียวกับเวียดนาม ผลกระทบคืออะไร
เรามีมาตราการเยียวยาอุตสาหกรรมและ ผู้ถูกกระทบโดยเฉพาะคนตัวเล็กพอไหม
3. ระบบพิสูจน์ “แหล่งที่มา” ของสินค้าจากไทย เข้มแข็งพอหรือยัง?
ถ้าภาษีขึ้นกับสัดส่วนของชิ้นส่วนนำเข้า ประเทศที่ไม่มีระบบตรวจสอบที่เชื่อถือได้ อาจถูกตีความให้ต้องเสียภาษีสูงเกินจริง แม้จะไม่ได้ทำผิด
4. ถ้าไทยต้องดีลแบบเดียวกัน “ใครได้–ใครเสีย” และภาษีจะหนักหรือเบาแค่ไหน?
บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันบางอุตสาหกรรมในประเทศอาจโดนสินค้านำเข้าแย่งตลาด ส่วนภาษีที่ไทยจะเจอ จะขึ้นกับ 2 ปัจจัย ไทยเจรจาได้ดีแค่ไหน โครงสร้าง supply chain ของเรามี foreign content และสินค้าปลอมตัวเป็นไทยมากแค่ไหน
5. ไทยพร้อมจะยกเครื่องโครงสร้างการผลิต” เพื่อสร้างแต้มต่อหรือยัง?
สูตร 40-20-10-0 ไม่ใช่แค่ภาษี แต่มันสะท้อนว่าโลกการค้าใหม่อาจจะให้รางวัลกับประเทศที่สร้างมูลค่าในประเทศได้จริง (มากยิ่งกว่าเดิม) จึงต้องเร่งลงทุนและปรับฐานการผลิตใหม่ ไม่ให้ตกขบวนของโลกยุคใหม่
ข้อตกลงเวียดนาม–สหรัฐฯ ไม่ใช่จุดจบ แต่คือจุดเริ่มต้นของแนวทางการค้าแบบใหม่
ขอเป็นกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ที่กำลังเจรจา
ที่มา : เฟซบุ๊ก สันติธาร เสถียรไทย - Dr Santitarn Sathirathai