17 ก.ค.ชี้ชะตาฮั้ว สว. อนุฯกกต.จ่อฟัน 229 ราย "แสวง"มีส่วนได้เสีย
วันที่ 13 กรกฎาคม 2568 มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า คดีการฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฮั้ว สว.) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลาง ชุดที่ 26 ที่ กกต.ตั้งขึ้น กำลังเดินทางเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญ โดยมีการนัดประชุมเพื่อสรุปสำนวนในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ ซึ่งถือเป็นวันครบกำหนดสิ้นสุดของกรอบเวลาที่ได้รับการขยายมาครั้งสุดท้าย
แหล่งข่าวในสำนักงาน กกต.ระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยื่นคำขอขยายเวลาสอบสวนเพิ่มเติม จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าในการประชุมวันที่ 17 ก.ค.นี้ คณะกรรมการฯ จะมีมติสรุปสำนวน พร้อมเสนอความเห็นให้ กกต.ดำเนินการเอาผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 77(1) ประกอบมาตรา 62 โดยในคดีนี้มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก
คาดว่าจะมีการเสนอให้ดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งสิ้น 229 ราย โดยแบ่งเป็น สว.ชุดปัจจุบัน จำนวน 138 ราย และบุคคลภายนอกอีก 91 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้บริหารพรรคการเมืองหลายคน มีทั้งกรรมการบริหาร และ ระดับผู้นำพรรคจะถูกกล่าวหาด้วย
เข้าสู่ขั้นตอนที่ 2-4 ของ กกต.
หลังจากสำนวนจากคณะกรรมการสอบสวนฯ เสร็จสิ้นแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ตามระเบียบ กกต. ได้แก่ การส่งให้ฝ่ายพนักงานสืบสวนและไต่สวนพิจารณาวิเคราะห์เพิ่มเติม และเสนอความเห็นผ่านลำดับชั้น ได้แก่ ผู้อำนวยการฝ่าย, รองผู้อำนวยการสำนัก, ผู้อำนวยการสำนัก จนถึง เลขาธิการ กกต. เพื่อให้ความเห็นในฐานะผู้บริหารสูงสุดของสำนักงาน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่านายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. จะไม่เป็นผู้ลงความเห็นในสำนวนนี้ด้วยตนเอง เนื่องจากดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง สว.ระดับประเทศ ซึ่งถือว่าอาจเข้าข่ายเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” ตามหลักจริยธรรมและข้อกำหนดของ กกต. จึงเตรียมมอบหมายให้รองเลขาธิการ กกต.เป็นผู้ให้ความเห็นแทน
ตามระเบียบว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 ขั้นตอนนี้ต้องดำเนินการภายใน 60 วัน โดยเลขาธิการ กกต. หรือ ผู้แทน ที่ได้รับมอบหมาย ยังสามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมได้ หากเห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์
เล็งตั้งคณะอนุวินิจฉัยพิเศษสู้คดีใหญ่
หลังจากผ่านขั้นตอนของสำนักงาน กกต.แล้ว สำนวนจะเข้าสู่ ขั้นตอนที่ 3 คือ การพิจารณาโดยคณะอนุวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและข้อโต้แย้ง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 35 คณะ คณะละ 5–7 คน ทำหน้าที่กลั่นกรองสำนวนก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ชุดใหญ่
ในกรณีของคดีฮั้วเลือก สว. ซึ่งมีความซับซ้อนและมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก มีแนวโน้มว่า กกต. อาจมีคำสั่งตั้งคณะอนุวินิจฉัยชุดพิเศษขึ้นมาทำหน้าที่โดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเร่งรัด
ตามกรอบระเบียบที่เกี่ยวข้อง คณะอนุวินิจฉัยฯ มีเวลาพิจารณา 90 วัน โดยสามารถขอขยายเวลาได้ตามความจำเป็น และมีอำนาจสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม หากเห็นว่าสำนวนยังขาดข้อมูลในบางส่วน
ขั้นสุดท้ายชี้ชะตาโดยกกต.ชุดใหญ่
เมื่อผ่านขั้นตอนของคณะอนุวินิจฉัยฯ แล้ว สำนวนจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือ การพิจารณาของ ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต.ชุดใหญ่ ซึ่งมีอำนาจชี้ขาดว่าจะ มีมูลความผิดหรือไม่, ส่งเรื่องให้ศาลพิจารณา หรือ ยุติเรื่องหากเห็นว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ
ทั้งนี้ หาก กกต.มีมติให้ส่งฟ้องศาล และศาลรับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาอาจต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีตามกฎหมาย