‘พิชัย’ ชี้ ‘ภาษีทรัมป์’ คือ ยาขมที่ทุกประเทศต้องเจอ ยันไม่ได้ล่าช้า แต่ต้องรอบคอบ
"พิชัย" ชี้ "ภาษีทรัมป์" ไม่ใช่ยาหวานแต่คือยาขมที่ทุกประเทศต้องเจอ ยันไม่ได้ล่าช้า แต่ต้องรอบคอบ เพื่อให้ข้อเสนอเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ลั่นไม่มีอะไรได้มา 100% อาจต้องเสียบ้าง
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาภาษีทรัมป์ว่า ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ย้ำชัดว่าประเทศไทยจะยึดหลักผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ มุ่งสร้างความสมดุลทางการค้าที่ยั่งยืน แม้เส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 จะใกล้เข้ามา แต่ผลลัพธ์สุดท้ายยังคงต้องจับตา เพราะหลายประเทศก็ยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้เช่นกัน
"ยืนยันว่าไทยไม่ได้ล่าช้าในการเจรจา แต่เป็นการใช้เวลาทบทวนข้อมูลอย่างรอบคอบ เพื่อให้ข้อเสนอเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล การได้เห็นบทเรียนจากประเทศอื่นที่เจรจาไปก่อนหน้านี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้ไทยเข้าใจความต้องการหลักของสหรัฐคือ "ความสมดุลทางการค้า" ซึ่งช่วยให้ไทยมีเวลาพิจารณาข้อเสนอที่ยื่นไปเพิ่มเติมอย่างรอบคอบ
สำหรับผลตอบรับข้อเสนอของไทยในการเจรจาภาษีการค้ากับสหรัฐ ขณะนี้ยังมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งคิดว่ายังต้องหารือกันต่อเนื่องในระยะต่อไป ยังไม่จบเลยในทีเดียว ส่วนผลลัพธ์ในการเจรจาครั้งนี้จะเป็นอย่างไร จะจบหรือภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 หรือไม่ หรืออาจจะต้องต่อเนื่องไป และยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะหลายประเทศที่มีการเจรจาแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะจบ
ที่ผ่านมาไทยได้มีการหารือกับสหรัฐในหลายระดับอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเจรจาผ่านระบบออนไลน์ และการเจรจาต่อหน้า ซึ่งการที่ได้เห็นผลการเจรจาของประเทศอื่นเข้าไปก่อนไทย ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้สามารถมองออกว่าสหรัฐต้องการอะไร ซึ่งหลัก ๆ คือ ต้องการให้เกิดความสมดุลทางการค้า ทำให้เรายังมีเวลาคิดและทบทวนเกี่ยวกับข้อเสนอที่ได้ส่งไป
สำหรับการเจรจาการค้ากับสหรัฐภายใต้กรอบ Preferential Trade Agreement (PTA) ไทยได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการทบทวนหลายรอบ โดยไทยพร้อมขยายการเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐเพิ่มเป็น 69% จากปัจจุบันมูลค่าสินค้าสหรัฐที่ส่งมายังไทย อยู่ที่ 63-64% โดยการเปิดตลาดครั้งนี้จะรวมรายการสินค้าที่ไทยไม่เคยเปิดให้สหรัฐมาก่อนในอัตราภาษี 0% เช่น ปลานิล ลำไย และรถยนต์พวงมาลัยซ้าย แม้ว่าสหรัฐอาจจะไม่ได้มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าดังกล่าวมากนัก แต่ก็ถือเป็นการแสดงเจตนาที่ดีและคาดว่าจะไม่กระทบผู้ผลิตในประเทศ
ประเด็นสำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ การสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ที่สหรัฐให้ความสำคัญอย่างมาก นายพิชัย ชี้ว่า กติกาการค้าโลกอาจจะต้องเปลี่ยนไป โดยสินค้าที่มีสัดส่วน Local Content สูงอาจไม่ได้โดนภาษีนำเข้าจากสหรัฐเพียง 40% อีกต่อไป แต่อาจพุ่งสูงถึง 60-80% ดังนั้นไทยอาจต้องกลับมานิยามคำว่า Local Content กันใหม่ ซึ่งอาจรวมถึงต้นทุนการผลิตในไทย บวกกับต้นทุนจากสหรัฐและพันธมิตร
"วันนี้เราไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ต้องปรับตัว โดยเฉพาะการเพิ่ม Local Content ในห่วงโซ่การผลิตให้สูงขึ้นถึง 60-70% ให้ได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันภาษีได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การปรับสัดส่วน Local Content นั้นต้องใช้เวลา บางอุตสาหกรรมอาจใช้เวลาถึง 5-10 ปี เพื่อปรับจาก 5% ไปเป็น 50%" นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญของไทยในขณะนี้ คือ ต้องดึงการลงทุนใหม่ให้เกิดขึ้น เพราะการลงทุนถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สะท้อนจากการปรับงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาทมาเน้นในโครงการระยะสั้นเพื่อเชื่อมโยงไปถึงโครงการในระยะกลางและยาว
นอกจากนั้น ในระหว่างนี้รัฐบาลกำลังเร่งเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลของแต่ละกลุ่มว่าได้รับผลกระทบอย่างไร และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อที่รัฐบาลจะได้เตรียมมาตรการทางการเงินในการให้ความช่วยเหลืออย่างถูกต้องต่อไป
"เรื่องนี้ไม่ใช่ยาหวาน แต่เป็นยาขมที่ทุกประเทศต้องเจอทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องเร่งทำให้เกิดความเข้าใจและเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยการตัดสินใจด้วยการยึดประเทศเป็นหลัก และต้องเข้าใจว่าไม่มีอะไรได้มา 100% อาจจะต้องเสียไปบ้าง" นายพิชัย กล่าว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘รมว.คลัง’ คาดวันนี้ได้ข้อสรุปชงชื่อ ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ คนใหม่เข้าครม.หรือไม่
- ‘พิชัย’ แจงเหตุเชิญ ‘ทักษิณ’ ร่วมถก ‘ภาษีทรัมป์’ เผย 3 เงื่อนไข ยันไทยไม่เสียเปรียบ
- ‘เศรษฐา’ เชื่อ ‘พิชัย-ทีมไทยแลนด์’ ต่อรองภาษีทรัมป์ เหลือ 20% เท่าเวียดนาม
ติดตามเราได้ที่