เขากระโดงเดือด ตระกูลชิดชอบ พัวพันที่ดินการรถไฟ 178 ไร่
คดีข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่ยืดเยื้อมากว่า 100 ปี กำลังถูกจุดประเด็นอีกครั้ง หลังการเปลี่ยนแปลงผู้นำในกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ดินนับพันไร่ ซึ่งถูกระบุว่าเป็น ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่กลับมีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนให้กับบุคคลและเครือข่ายธุรกิจตระกูลดัง
ชนวนเหตุร้อนแรง คือที่ดินบริเวณเขากระโดง ซึ่ง รฟท. อ้างสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2462-2465 โดยยืนยันว่านี่คือ ที่ดินของรัฐ ที่ไม่สามารถออกโฉนดหรือ น.ส. 3 ให้กับเอกชนได้เลย แต่กลับพบว่าที่ผ่านมามีการออกเอกสารสิทธิ์ไปแล้ว ทำให้คณะกรรมการชุดใหม่กำลังถูกจับตาว่าจะสามารถไขปมปริศนาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ผิดปกติเหล่านี้ได้หรือไม่
ข้อถกเถียงสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจของคณะกรรมการชุดก่อนหน้าที่ ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ทั้งที่ศาลฎีกาและศาลปกครองมีคำวินิจฉัยชัดเจนว่าที่ดินเป็นของ รฟท. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ถึงกับออกโรงเอง ยื่นคำขาดว่าหากไม่มีความชัดเจนภายใน 7 วัน จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาสอบสวน เนื่องจากเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก
ข้อมูลวงในระบุว่า ที่ดินพิพาทรอบเขากระโดงมีพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ และที่น่าตกใจคือมีพื้นที่ถึง 178 ไร่ ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในความครอบครองของ "ตระกูลชิดชอบ" และเครือข่ายบริษัท โดยมีรายละเอียดการครอบครองและที่ตั้งที่ชัดเจน สร้างความกังขาในหมู่สาธารณชนว่าเหตุใดที่ดินของรัฐจึงไปอยู่ในมือของเอกชนได้
รฟท. ถือไพ่เหนือกว่า ด้วยคำวินิจฉัยของศาลหลายคดีที่ยืนยันว่าที่ดินเป็นของ รฟท. และที่สำคัญคือคำพิพากษาศาลฎีกาใน คดีหมายเลข 8027/2561 ที่สั่งให้นายสุภวัฒน์ ผู้ครอบครองที่ดินต่อจากนายชัย ชิดชอบ ไม่มีสิทธิ์ครอบครอง และต้องจ่ายค่าเสียหาย 4 ล้านบาทให้กับ รฟท. ซึ่งได้ชำระเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายปี 2566
นอกจากนี้ ยังมี ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุชัดเจนว่า หากที่ดินเป็นของรัฐ จะไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ นี่ไม่ใช่ข้อพิพาทสิทธิ์ระหว่างเอกชน แต่เป็นประเด็นที่ดินของรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดินต้องใช้มาตรา 60 ในการสอบสวนและเพิกถอน
ขณะนี้ รฟท. ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเอาคืนที่ดินทั้งหมด แม้ศาลจะไม่อนุญาตคุ้มครองชั่วคราวในบางส่วน แต่ก็รับพิจารณาคดีในประเด็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ
มหากาพย์เขากระโดง ครั้งนี้ จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยจะสามารถนำที่ดินของรัฐกลับคืนมาสู่แผ่นดินได้อย่างไร และจะคลายข้อกังขาของประชาชนที่เฝ้ารอคำตอบมานานนับศตวรรษได้หรือไม่.
ที่มาประกอบเนื้อหาข่าวเนชั่นอินไซต์