สหรัฐฯ เปิดระบบค้ำประกันราคา "แร่หายาก" หวังโค่นอำนาจผูกขาดจีน
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สหรัฐอเมริกากำลังเดินหน้าอย่างจริงจังเพื่อลดการพึ่งพาจีนในตลาด "แร่หายาก" ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น
ล่าสุด รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการสร้างระบบราคารับซื้อแร่หายากที่สูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน เพื่อดึงดูดการลงทุน และท้าทายการผูกขาดตลาดจากจีนโดยตรง
ที่ผ่านมา โลกตะวันตกต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อลดการพึ่งพาจีน ซึ่งผูกขาดห่วงโซ่อุปทานแร่หายากกว่า 90% ของโลก โดยอุปสรรคสำคัญคือกลไกราคาที่จีนกำหนด ซึ่งกดราคาต่ำจนบั่นทอนแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาเหมืองในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก
บรรดาผู้ผลิตและเหมืองแร่ในโลกตะวันตกต่างเรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบราคาแยกต่างหากมานานแล้ว เพื่อให้พวกเขาสามารถแข่งขันในการจัดหาแร่กลุ่มนี้ซึ่งประกอบด้วยธาตุ 17 ชนิด ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดทางยุทธศาสตร์ในการผลิตแม่เหล็กถาวรประสิทธิภาพสูง
โดยเฉพาะในยุทโธปกรณ์ทางการทหาร เช่น โดรน เครื่องบินขับไล่ รวมถึงมอเตอร์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) และกังหันลม
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ค้ำประกันราคา MP Materials
ภายใต้ข้อตกลงที่เปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DoD) จะค้ำประกันราคาขั้นต่ำให้กับ MP Materials (MP.N) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายเดียวในประเทศ ด้วยราคาเกือบสองเท่าของระดับราคาในตลาดปัจจุบัน
บริษัท MP Materials มีฐานอยู่ที่ลาสเวกัส ได้ดำเนินการผลิตและแปรรูปแร่หายากอยู่แล้ว และคาดว่าจะเริ่มการผลิตแม่เหล็กเชิงพาณิชย์ที่โรงงานในรัฐเท็กซัสได้ในช่วงปลายปีนี้
นักวิเคราะห์มองว่าข้อตกลงด้านราคาที่เริ่มมีผลบังคับใช้ทันทีนี้ จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเป็นผลดีต่อผู้ผลิตนอกประเทศจีน แต่ก็อาจทำให้ต้นทุนของผู้บริโภคปลายทาง เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ และลูกค้าต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น
กลไกราคาใหม่และผลกระทบในวงกว้าง
ภายใต้กลไกนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะจ่ายส่วนต่างให้กับ MP Materials หากราคาตลาดของแร่หายากสองชนิดที่ได้รับความนิยมที่สุด (นีโอไดเมียมและเพรซีโอดิเมียม หรือ NdPr) ต่ำกว่าราคาประกันที่ 110 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม
แต่ในทางกลับกัน หากราคาสูงกว่า 110 ดอลลาร์ กระทรวงกลาโหมจะได้รับส่วนแบ่งกำไร 30%
ผู้ที่อาจได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากระบบราคานี้ ยังรวมถึงบริษัทอื่น ๆ เช่น Solvay กลุ่มบริษัทเคมีภัณฑ์จากเบลเยียม ซึ่งเพิ่งประกาศขยายการลงทุนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
แม้ว่า Solvay จะปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ผู้ผลิตและนักพัฒนาเหมืองแร่หายากรายอื่น รวมถึงผู้ถือหุ้น ต่างแสดงความยินดีต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว
Alvaro Castellon ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาของบริษัท Aclara Resources ซึ่งกำลังพัฒนาเหมืองแร่หายากในชิลีและบราซิล พร้อมทั้งมีแผนสร้างโรงงานแยกแร่ในสหรัฐฯ ให้ความเห็นกับ Reuters ว่าข้อตกลงนี้ได้ "เพิ่มเส้นทางเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ๆ" ให้กับบริษัท
เป้าหมายการผลิตและอุปสงค์ในอนาคต
ในปีที่ผ่านมา MP Materials ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิถึง 65.4 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาแร่โลหะหายากที่ถูกกดดันจากกลไกราคาของประเทศจีน
เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ MP Materials เตรียมเดินหน้าขยายกำลังการผลิตแม่เหล็กที่โรงงานในรัฐเท็กซัส โดยตั้งเป้าหมายเริ่มต้นที่ 1,000 เมตริกตันต่อปี และมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ตันในอนาคต
ภายใต้ข้อตกลง กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดด้วยสัดส่วน 15% และ MP Materials จะสร้างโรงงานผลิตแม่เหล็กแห่งที่สองในสหรัฐฯ ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 7,000 ตันต่อปี
ทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 10,000 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการใช้แม่เหล็กของสหรัฐฯ ทั้งหมดในปี 2024
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมถึงแม่เหล็กอีก 30,000 ตันที่สหรัฐฯ นำเข้ามาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแล้ว จากข้อมูลของ Adamas Intelligence ซึ่งคาดการณ์ว่าความต้องการแม่เหล็กถาวรจากแร่หายากทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในทศวรรษหน้า สู่ระดับประมาณ 607,000 ตัน โดยสหรัฐฯ จะมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงที่สุดที่ 17% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า