วิกฤติไม่เลิก! จับตาสงครามการค้าระลอกใหม่ดันทองคำลุ้น 3,400 เหรียญฯ-ทองไทย 52,000 บาท
นางสาว อารีรัตน์ มุราชัย หัวหน้านักวิเคราะห์ บริษัท จีแคป จำกัด หรือ GCAP GOLD เปิดเผยว่า ทิศทางราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระลอกใหม่ โดยทรัมป์ได้ประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้า 30% กับสินค้าจากสหภาพยุโรปและเม็กซิโก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
หลังจากก่อนหน้านี้ ทรัมป์เพิ่งประกาศขึ้นภาษี 35% กับสินค้าจากแคนาดา และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายอัตราภาษี 15-20% กับประเทศคู่ค้าอื่นๆ โดยรวมแล้วมีมากกว่า 23 ประเทศที่ได้รับจดหมายแจ้งขึ้นภาษีภายในสัปดาห์เดียว
ทั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มที่สหรัฐฯ กำลังกลับมาใช้นโยบายการค้าที่มีลักษณะกีดกันมากขึ้นอย่างชัดเจน และจากความเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลให้ภาวะความเสี่ยงในตลาดเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนจึงหันมาครอบครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ราคาทองคำกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
อีกปัจจัยที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน(CPI)ของสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดประกาศในวันที่ 15 ส.ค.นี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่า CPI จะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2.6% จากเดิม 2.4% โดยหากตัวเลขดังกล่าวออกมาตรงตามคาดการณ์หรือสูงกว่า จะส่งผลกดดันต่อราคาทองคำในระยะสั้น เนื่องจากทำให้ลดโอกาสที่เฟดจะเร่งผ่อนคลายนโยบายการเงินในเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังต้องรอฟังถ้อยแถลงจากเจ้าหน้าที่เฟดอีกหลายรายควบคู่ไปด้วย ก่อนเข้าสู่ช่วง “Blackout Period” ในวันที่ 19 กรกฎาคม นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่เฟดจะงดให้ความเห็นต่อสาธารณะก่อนการประชุม FOMC
ดังนั้นจากประเด็นดังกล่าว ฝ่ายวิจัย GCAP GOLD จึงประเมินกลยุทธ์การลงทุน ราคาทองคำสามารถเบรกกรอบ Sidewayขึ้นมาได้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคาในทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น
นักลงทุนที่ถือสถานะซื้ออยู่สามารถทยอยขายทำกำไรบางส่วน เมื่อราคาขยับขึ้นไปทดสอบแนวต้านบริเวณ 3,400 ดอลลาร์/ออนซ์ และ 3,430 ดอลลาร์/ออนซ์ ราคาทองคำไทยประมาณ 51,800–52,000 บาท
ขณะเดียวกันในการปรับตัวขึ้นอาจจะมีจังหวะของการย่อสลับพักตัวลงมาบ้างในโซน 3,335 ดอลลาร์/ออนซ์ และ 3,305 ดอลลาร์/ออนซ์ ทองคำไทยประมาณ 51,100-50,800 บาท นักลงทุนที่ยังไม่มีสถานะสามารถใช้จังหวะดังกล่าวในการเข้าเก็บสะสมเพิ่มเติมได้เช่นกัน แต่การย่อปรับฐานไม่ควรหลุดระดับ 3,300 ดอลลาร์/ออนซ์ หากราคาหลุดต่ำกว่าระดับนี้ อาจส่งสัญญาณว่าแนวโน้มขาขึ้นเริ่มอ่อนแรงลง