ค่าเงินบาทวิ่งในกรอบแคบ จับตาดูการเจรจาภาษีทรัมป์
ค่าเงินบาทวิ่งในกรอบแคบ นักลงทุนจับตาดูการเจรจาภาษีทรัมป์
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/7) ที่ระดับ 32.40/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/7) ที่ระดับ 32.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นายคริส วอลเลอร์ ผู้ว่าการเฟดกล่าวเมื่อวันศุกร์ (18/7) ว่า เขาสนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค. เพราะเชื่อว่าผลกระทบจากภาษีต่อเงินเฟ้อมีจำกัด พร้อมระบุว่าข้อมูลปัจจุบันไม่สะท้อนถึงตลาดแรงงานภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง และเฟดควรเร่งดำเนินการล่วงหน้า ก่อนการจ้างงานจะชะลอตัวลง
ด้านนายออสตัน กูลส์บี ประธานเฟดชิคาโกกล่าวว่า เขายังระมัดระวังต่อสัญญาณจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย.ที่ชี้ว่า ภาษีกำลังกดดันเงินเฟ้อสินค้าจำเป็น แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในเกณฑ์ดี และเฟดสามารถปรับลดดอกเบี้ยลงได้ค่อนข้างมากในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ขณะที่นายพาวเวลล์ประธานเฟดกำลังเผชิญคำวิจารณ์แทบทุกวันจากทรัมป์เกี่ยวกับความลังเลของเฟดในการลดดอกเบี้ย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านที่เพิ่มขึ้น 4.6% สู่ระดับ 1.321 ล้านยูนิตในเดือน มิ.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 1.290 ล้านยูนิตในเดือน มิ.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 1.290 ล้านยูนิต
ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 1.397 ล้านยูนิตในเดือน มิ.ย. และสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 1.390 ล้านยูนิต ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวดีขึ้นในเดือน ก.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนออกมาที่ระดับ 61.8 สูงกว่าที่คาดที่ระดับ 61.4 และการคาดการณ์เงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อที่ชะลอลงจะช่วยให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม และกระต้นการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ (21/7) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง หวังผลภาษีตอบโต้สหรัฐเก็บจากไทยไม่เกิน 20% ด้านกระทรวงพาณิชย์ย้ำ การเจรจายังไม่จบ เหลือประเด็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การเพิ่มรายการสินค้าที่จะเปิดตลาดให้สหรัฐและการสนับสนุนการลงทุนไทยในสหรัฐ รวมทั้งคาดว่าเสนอชื่อผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่เข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การลดภาษีให้กับสินค้านำเข้าของสหรัฐอเมริการในอัตรา 0% และเปิดตลาดให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐ อาจทำให้มีการลดกำแพงภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ลงมาในระดับใกล้เคียงประเทศอาเซียน
อย่างเช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ได้ ทำให้ลดความรุนแรงของภาษีตอบโต้ทางการค้าที่ระดับ 36% ต่อภาคส่งออกไทย ผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยจะลดลงมาได้ไม่ต่ำกว่า 9-10 เท่า กลุ่มสินค้าที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐในสัดส่วนสูงคิดเป็น 13-14% ของ GDP ไทย หากไทยไม่ได้ลดตอบโต้ทางการค้าที่ระดับ 36% ต่อภาคส่งออกไทย ผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยจะลดลงมาได้ไม่ต่ำกว่า 9-10 เท่า กลุ่มสินค้าที่พึ่งพิงตลาดสหรัฐในสัดส่วนสูงคิดเป็น 13-14% ของ GDP ไทย
หากไทยไม่ได้ลดภาษีจากระดับ 36% เลย จะทำให้มูลค่าส่งออกไทยสูญเสียหลายแสนล้านบาทในระยะยาว ด้วยการลดภาษีนำเข้า 0% เพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้องสหรัฐ อาจจะสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่งมีผลกระทบต่อภาคการผลิตภายในที่ปรับตัวไม่ได้แข่งขันไม่ได้และผลต่อตลาดแรงงาน และปัญหาอาจใหญ่กว่าหากไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบให้ดี หวั่นสินค้าสหรัฐทะลักเฉพาะสินค้าเกษตรสหรัฐอาจเพิ่มกว่า 100% กระทบต่อผู้ผลิตภายในรุนแรง
ภาวะดังกล่าวจะซ้ำเติมสถานการณ์ที่ผู้ผลิตภายในต้องเผชิญสินค้าทุ่มตลาดจากจีนอยู่แล้ว ด้าน ธปท.ย้ำ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบภาษีทรัมป์ ให้หารือกับธนาคารเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ทันที
ส่วนนายวิชัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน หนึ่งในแคนดิเดตผู้ว่าการธนาคารแหงประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปัจุบันอยู่ในภาวะที่ไม่ดี และมีโอกาสที่จะชะลอตัวซึมยาว เนื่องจากเครื่องยนต์หลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2 ตัว การส่งออกและการท่องเที่ยวกำลังมีปัญหา ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเกิดสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้มาก่อน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ
ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมีปัญหาเรื่องมาตรการภาษีนำเข้าจากสหรัฐมาเพิ่มเติม ซึ่งคิดว่าหากยังไม่เปลี่ยนวิธีในการบริหารจัดการ จากเดิมที่ต่างคนต่างทำไม่บูรณาการความร่วมมือกัน จะทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้มีความยากมากขึ้น
เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นองค์ประกอบทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาขาดความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาสังคมสูงอายุ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง โดยแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่นั้น ถึงแม้จะมีหนทางแก้ไขไม่กี่วิธี แต่มีความตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน เรื่องแรกคือเศรษฐกิจต้องดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจดีขึ้นรายได้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย GDP โตก็คือรายได้โต รายได้เพิ่มขึ้นก็มีเงินชำระหนี้มากขึ้น พอรายได้เพิ่มขึ้นก็ทำให้ตัวหายหนี้ต่อ GDP ลดลง
เรื่องที่ 2 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เขาจ่ายเงินผ่อนเท่าเดิม ถ้าดอกเบี้ยลงก็ไปตัดเงินต้นได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงในท้ายที่สุด และเรื่องที่ 3 คือการออกมาตรการพิเศษตางๆ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.36-32.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.36/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/7) ที่ระดับ 1.1620/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/7) ที่ระดับ 1.1638/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ แสดงความเชื่อมั่นว่า สหรัฐจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) ได้ทันก่อนเส้นตายวันที่ 1 ส.ค.นี้
ซึ่งเป็นวันที่ภาษีนำเข้าชุดใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยเขาเปิดเผยว่า ตนเองเพิ่งพูดคุยกับฝ่ายเจรจาการค้าของ EU และยังมีช่องว่างให้เจรจาต่อรองสำหรับข้อตกลง พร้อมย้ำว่า นี้คือการพูดคุยกันระหว่างสองพาร์ตเนอร์การค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และมั่นใจว่าจะได้ข้อตกลงในที่สุด ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก ปธน.ทรัมป์ ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจาก EU และเม็กซิโก ในอัตรา 30% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ได้ภายในเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่นกรอบระหว่าง 1.1614-1.1652 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1643/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/7) ที่ระดับ 148.53/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/7) ที่ระดับ 148.4849 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น ประกาศในวันนี้ (21/7) ว่าจะยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป แม้พรรคฝ่ายค้านจะพ่ายแพ้ครั้งสำคัญในการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูง จนไม่สมารถครองเสียงข้างมากได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง นายกอิชิบะยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพและต่อเนื่องของรัฐบาล และได้ประกาศเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.67-148.66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 147.87/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ สุนทรพจน์ของนายพาวเวลล์ (Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (22/7) ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ เดือน มิ.ย. (23/7) สินค้าคงคลังน้ำมันดิบของสหรัฐ (23/7), การตัดสินใจดอกเบี้ยของธนาคารกลาง BOE เดือน ก.ค.ของยูโรโซน (24/7), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (24/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการเดือน ก.ค. ของสหรัฐ (24/7), ยอดขายบ้านใหม่เดือน มิ.ย. ของสหรัฐ (24/7), ยอดขายสินค้าคงทนของสหรัฐ (25/7)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.9/-7.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6/-5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ค่าเงินบาทวิ่งในกรอบแคบ จับตาดูการเจรจาภาษีทรัมป์
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net