“วราวุธ” เผย พม. เร่งช่วย พลทหารเหยียบทุ่นระเบิด มอบกายอุปกรณ์ นวัตกรรมขาเทียมไดนามิก พร้อมดูแลสิทธิสวัสดิการครอบครัว
วันนี้(22 ก.ค.68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว พม.) เปิดเผยถึงการช่วยเหลือพลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุเหยียบทุ่นระเบิดพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยตน พร้อมด้วยนายโชคชัย วิเชียรชัยยะ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (อธิบดี พก.) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจพลทหารที่ได้รับบาดเจ็บในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ โดยจะได้นำกายอุปกรณ์ขาเทียมไดนามิก sPace ซึ่งเป็นนวัตกรรมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวในการดำรงชีวิตให้ใกล้เคียงกับคนทั่วไปได้มากที่สุด อีกทั้งให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องบริการและสิทธิสวัสดิการต่างๆ ของกระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากการช่วยเหลือพลทหารที่ประสบเหตุแล้ว
กระทรวง พม. พร้อมให้การดูแลช่วยเหลือครอบครัวอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมผู้รับสิทธิสวัสดิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้ง กระทรวง พม. กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ทหารหาญผู้เสียสละตนเองในการปกป้องอธิปไตยบนผืนแผ่นดินไทย นอกจากนี้ ตนในนามผู้แทนมูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา จะนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้แก่ทหารทั้ง 3 ท่านที่ได้รับบาดเจ็บด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention) และมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาดังกล่าวอย่างแข็งขันมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ด้วยกลไกการประสานการทำงานระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้รอดชีวิตจากทุ่นระเบิด องค์กรผู้แทนคนพิการ และภาคประชาสังคม เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างครอบคลุมและตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง ประกอบกับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติและการพัฒนาการช่วยเหลืออย่างบูรณาการ อาทิ การเชื่อมโยงและปรับปรุงฐานข้อมูลประชาชนกลุ่มเปราะบาง (คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อย) และการออกแบบการบูรณาการ 5 ด้าน (ด้านรายได้ การมีงานทำ สุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคม) ภายใต้แนวคิด One Data for All Rights : การบูรณาการเพื่อสิทธิประชาชน รวมทั้งการขับเคลื่อนโครงการจัดหาครอบครัวอุปการะ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลคนพิการด้วยความเอื้ออาทร