เปิดประวัติ 'วิทัย รัตนากร' เตรียมนั่งตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ ผู้ผลักดันแนวคิด Social Bank เน้นลดดอกเบี้ย ช่วยดัน GDP
วันนี้ (22 กรกฎาคม 2568)นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เสนอชื่อ ‘นายวิทัย รัตนากร’ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลำดับที่ 25 โดยกระบวนการหลังจากเสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว จะเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป เพื่อแทนที่ ‘ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ซึ่งจะครบวาระสิ้นเดือนกันยายนนี้
ประวัติการทำงาน วิทัย รัตนากร
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มาตั้งแต่ปี 2563 และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันออมสินสู่การเป็น Social Bank ด้วยการปรับบทบาทให้เป็นเครื่องมือของรัฐในการขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนแก่ประชาชนฐานราก
โดยเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารหนี้ครัวเรือน การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจภายใต้ภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ยังผันผวน รวมถึงการออกแบบนโยบายการเงินที่ตอบโจทย์สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว จึงถูกมองว่าเป็นผู้บริหารที่มีความเข้าใจกลไกเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในภาคการเงินและภาคธุรกิจ เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กรรมการและรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)
ประวัติการศึกษา
- ป.โท เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ป.โท กฎหมายธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ป.โท การเงิน Drexel University, USA
- ป.ตรี เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุมมองและแนวคิด
วิทัย รัตนากร มีแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาหนี้สิน โดยเคยนำเสนอมุมมองว่าการมีหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องเข้าใจและเลือกประเภทหนี้ให้ดี คือควรพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเป็นสำคัญ และหลีกเลี่ยงหนี้บัตรเครดิตหากไม่จำเป็น
ส่วนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่ต้องอาศัย 3 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจเติบโต, การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ
การเก็บออมก็เป็นเรื่องสำคัญ อันดับแรกต้องมีเป้าหมายให้ชัดว่าปลายทางต้องการมีเงินเท่าไหร่ ลองคำนวณง่าย ๆ จากเงินที่ต้องการใช้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณ คูณกับระยะเวลาที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังจากนั้น แล้วออมให้สม่ำเสมอ หากปัจจุบันยังมีไม่พอใช้ ลองเริ่มออมจากเงินเดือนที่ได้เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
ด้านมุมมองต่อปัญหาเศรษฐกิจ เขาก็เคยแสดงทัศนะว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซึม ดังนั้น การฟื้นฟูให้กลับมาเติบโต ต้องทำงานควบคู่กันอย่างใกล้ชิด ทั้งมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางการคลัง ซึ่ง ธปท. มีบทบาทสำคัญมากต่อการกำหนดนโยบายการเงิน เพื่อส่งต่อไปถึงระบบเศรษฐกิจ
การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำสุด ๆ เพื่อนำไปสู่การลดดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินแบบทันที หรือทยอยลดลงในอัตราที่มากพอสมควร จะทำให้ยอดหนี้ของประชาชนลดลงด้วย รวมถึงช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายกับดอกเบี้ยเงินกู้ ต้องห่างกันไม่มากหรือแคบลงกว่าปัจจุบัน
ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำควบคู่กับแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ พร้อมสร้างการเติบโตไปพร้อม ๆ กัน ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
แหล่งข้อมูล: The Standard, TNN Thailand, Bangkokbiznews, Thairath