จวกกกต.ล่าช้า สั่งฟัน‘เกศกมล’ จี้เร่งส่งศาลฎีกา
"ทนายอั๋น" เผย กกต.สั่งฟัน “เกศกมล” ตั้งแต่ 30 เม.ย. ปมใช้ตำแหน่ง "ศาสตราจารย์" เท็จสมัคร สว. โทษหนักจำคุก 10 ปี ตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี จี้ส่งศาลฎีกาพิจารณาด่วนภายในศุกร์นี้ "สมชัย" ฉะ กกต.ล่าช้า เพิ่งทำคำวินิจฉัยเสร็จทั้งที่มีมติตั้งแต่ 3 เดือน ซ้ำยังไม่ได้ยื่นศาลฎีกา ส่งผลเสียต่อกระบวนการทางนิติบัญญัติ “ดีเอสไอ" ประสาน "วุฒิสภา" ตรวจสอบใบสมัคร-กรอกโปรไฟล์ “ที่ปรึกษา-ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ช่วยประจำตัว สว.” หลังพบพิรุธคนนอกแต่งตั้ง เส้นเงินรับโอน “เงินเดือน” อาจโยงคณะบุคคลที่แต่งตั้ง
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ 21 กรกฎาคม นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รับมติคำวินิจฉัยของ กกต. คำร้องในคดีให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ น.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรณีวุฒิการศึกษา เข้าข่ายเป็นการหลอกลวงในการลงสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น สว. หนังสือลงวันที่ 18 ก.ค. 2568 โดย กกต.มีมติให้ดำเนินคดีกับ น.ส เกศกมล ในความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งและคดีอาญา กรณีใช้คำว่า “ศาสตราจารย์” ซึ่งจะมีอัตราโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี และตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี
“ผมขอประกาศตรงนี้มันหมดเวลาของเธอแล้ว คำวินิจฉัยส่งถึงผมเรียบร้อยในฐานะเป็นคนร้อง แต่เดิมทำเป็นจะเอาเรื่องของวุฒิการศึกษาปริญญาเอก แต่ผมมาคัดค้าน ท้ายที่สุดก็ยอมใส่คำว่าศาสตราจารย์ไป ไม่เหลือแล้ว” นายภัทรพงศ์กล่าว
นายภัทรพงศ์ยังฝากไปถึง กกต.ขอให้ส่งเรื่องของน.ส.เกศกมลไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งภายในวันศุกร์นี้ เนื่องจากไม่มีเหตุให้ดึงเรื่อง เนื่องจากส่งคำวินิจฉัยไปให้ตน และได้รับเอกสารเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ดังนั้นตนจึงหวังว่าคดีดังกล่าวจะส่งเรื่องไปให้ศาลพิจารณาต่อในวันศุกร์นี้
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กกรณี กกต.เพิ่งแจ้งผลคำวินิจฉัยให้ดำเนินคดีอาญากับ น.ส.เกศกมลว่า กกต.มีคำวินิจฉัยตั้งแต่ 30 เม.ย. 2568 ให้เพิกถอนการเป็น สว. โดยต้องส่งมติคำวินิจฉัยไปให้ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยในขั้นต่อไป เนื่องจากเป็นการให้ใบแดงหลังการประกาศผล ระยะเวลากว่าที่ กกต.จะจัดทำเอกสารคำวินิจฉัยหลังจากการมีมติ ใช้เวลาเกือบ 3 เดือน ซึ่งถือว่าล่าช้ามาก และถึงวันนี้ยังไม่ได้ส่งถึงศาลฎีกา ซึ่งศาลจะต้องใช้เวลาอีกช่วงหนึ่งก่อนจะมีคำวินิจฉัยว่าเห็นชอบกับ กกต.หรือไม่ สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพการทำงานของ กกต. ซึ่งส่งผลเสียต่อกระบวนการทางนิติบัญญัติ เนื่องจากตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัย สว.ดังกล่าวยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในวุฒิสภาได้ตามกฎหมาย
"ความล่าช้ายังส่งผลเสียต่อตัว สว.ที่ถูกวินิจฉัยด้วย วันใดข้างหน้าที่ศาลมีคำวินิจฉัยว่า สว.ดังกล่าวมีความผิด จะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทุกอย่าง เช่น เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเดือนผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วย สว.ทุกคน และค่าใช้จ่ายทุกอย่างนับแต่วันแรกของการเป็น สว.ต่อทางราชการ" นายสมชัยระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องดังกล่าว กกต.มีมติเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 มีมติยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของน.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 62 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 และให้ดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 77 (4) ฐานใช้คำนำหน้า “ศาสตราจารย์” โดยมิได้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ตามกฎหมายของประเทศไทย จึงเป็นการหลอกลวงเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
โดยคดีนี้มีจุดเริ่มต้นจากคำร้องของนายภัทรพงศ์ ศุภักษร และนายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เคยได้ยื่นเรื่องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ น.ส.เกศกมล อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยของ กกต.เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 ก.ค.นี้ ซึ่งล่าช้ากว่า 3 เดือน สำหรับขั้นตอนต่อไปคือ กกต.ต้องยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อให้ศาลพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครและสิทธิเลือกตั้งของ น.ส.เกศกมล พร้อมดำเนินคดีอาญา ซึ่งหากศาลพิพากษาว่าผิดอาจต้องเผชิญโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และต้องคืนผลประโยชน์ที่ได้รับในฐานะ สว. โดยระหว่างนี้ น.ส.เกศกมลจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ สว.ได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
วันเดียวกัน มีรายงานความเคลื่อนไหวของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 ที่มี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนกรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง สว. รวมถึงผู้ที่เป็นสมาชิกอั้งยี่และผู้สนับสนุน หรือคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน สว. ระบุว่า ภายหลังจากที่ดีเอสไอได้สอบปากคำพยานในคดีอั้งยี่-ฟอกเงินรวมแล้ว 90 ปาก โดยมีทั้งกลุ่มที่เข้าไปรู้เห็นการวางแผน การทำหน้าที่ต่างๆ โดยเป็นการรู้เห็นด้วยตนเอง และพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเงินด้วยนั้น สำหรับพยานในล็อตถัดไปที่จะเชิญมาสอบปากคำ ส่วนใหญ่เป็นผู้ช่วยหรือผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษาประจำตัว สว. ซึ่งดีเอสไอจะตรวจสอบถึงการแต่งตั้งว่ามีที่มาอย่างไร เพราะจากรายงานข้อมูล พบว่ามีเงินบางส่วนได้ถูกโอนกลับไปที่คณะบุคคลบางกลุ่ม
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษฯ เปิดเผยว่า ในการกำหนดประเด็นสอบสวนปากคำพยานล็อตที่เป็นผู้ช่วย หรือผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษาประจำตัว สว.นั้น ดีเอสไอ พบข้อเท็จจริงว่าส่วนใหญ่คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ที่ สว.แต่งตั้งมาด้วยตนเอง แต่มีคณะบุคคลแต่งตั้งมา ดีเอสไอจึงได้มีการทำหนังสือไปยังวุฒิสภา เพื่อจะขอตรวจสอบใบกรอกประวัติจากวุฒิสภาว่าแต่ละคนมีโปรไฟล์กันอย่างไรบ้าง และจะนำไปสู่การวิเคราะห์เส้นทางการเงิน การทำธุรกรรมทางการเงิน
"โดยเฉพาะในส่วนของการโอน-รับโอนภายในบัญชีเมื่อมีการรับเงินเดือนเรียบร้อยแล้ว เมื่อได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องจำเป็นเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจึงจะได้หารือร่วมกันภายในคณะพนักงานสอบสวนใน 1-3 วันนี้ ว่าเห็นควรเชิญบุคคลใดมาสอบปากคำพยานในวันที่เวลาใดต่อไป".