ยุโรปเร่งเครื่องคัดเลือก 5 บริษัทจรวดยุคใหม่ ผลักดันธุรกิจขนส่งอวกาศโดยเอกชน
สำนักงานอวกาศยุโรป (ESA) ประกาศเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมว่า ได้คัดเลือกบริษัทจรวด 5 แห่งเข้าสู่รอบถัดไปของโครงการ European Launcher Challenge (ELC) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเข้าถึงอวกาศอย่างอิสระของยุโรป โดยเน้นการสนับสนุนผู้พัฒนายานปล่อยขนาดเล็กและขนาดกลาง
ปัจจุบันยุโรปต้องรีบผลักดันธุรกิจขนส่งอวกาศโดยเอกชนด้วยเหตุผลสำคัญหลายประการ เช่น หลังจากที่รัสเซียหยุดให้บริการจรวด Soyuz แก่ยุโรปในปี 2022 และ SpaceX กลายเป็นผู้ให้บริการหลักของโลก ยุโรปจึงตกอยู่ในสถานะ ไม่มีจรวดใช้งานที่หลากหลาย
รวมไปถึงธุรกิจขนส่งอวกาศกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งบริษัทอเมริกันอย่าง SpaceX, Rocket Lab และ Firefly Aerospace ในสหรัฐอเมริกากำลังครองตลาด
โครงการ European Launcher Challenge (ELC)
โครงการ ELC เป็นโครงการใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาจรวด Ariane รุ่นใหญ่ที่ใช้มาหลายทศวรรษ และเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนารายใหม่เข้ามาแข่งขัน โดยโครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
การให้บริการปล่อยจรวดสำหรับ ESA ระหว่างปี 2026-2030
การพัฒนาและสาธิตยานปล่อยรุ่นใหญ่ขึ้น
แต่ละบริษัทมีสิทธิ์ได้รับเงินทุนสูงสุด 169 ล้านยูโร หรือ 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7,207 ล้านบาท ซึ่งประเทศสมาชิก ESA จะสรุปการจัดสรรงบประมาณในเดือนพฤศจิกายนนี้ ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีประจำปี ซึ่งจะกำหนดทิศทางโครงการอวกาศของยุโรปในอีก 3 ปีข้างหน้า
สำหรับ 5 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือก
บริษัท Isar Aerospace ประเทศเยอรมนี ผู้พัฒนา จรวด Spectrum ที่เคยทดลองปล่อยจากนอร์เวย์ในปี 2025 แต่ล้มเหลวหลังทะยานขึ้นไม่กี่วินาที
บริษัท Rocket Factory Augsburg หรือ RFA ประเทศเยอรมนี ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนา RFA One ซึ่งเคยเกิดเหตุระเบิดบนแท่นปล่อยในช่วงการทดสอบเดือนสิงหาคม 2024
บริษัท Maiaspace ประเทศฝรั่งเศส บริษัทในเครือของกลุ่ม Arianespace กำลังพัฒนา จรวด Maia ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
บริษัท PLD Space ประเทศสเปน บริษัทแห่งนี้เคยประสบความสำเร็จในการปล่อย จรวด Miura 1 แบบใต้วงโคจรในปี 2023 และเตรียมปล่อย Miura 5
บริษัท Orbex สหราชอาณาจักร บริษัทกำลังพัฒนา ไมโครลอนเชอร์ Prime สำหรับการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กจากสกอตแลนด์
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นในยุโรปที่ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีจรวด เช่น บริษัท Skyrora จากสหราชอาณาจักร, บริษัท Latitude ประเทศฝรั่งเศส และบริษัท HyImpulse ประเทศเยอรมนี ซึ่งกำลังดำเนินการตามแผนพัฒนาของตนเอง
การแข่งขันครั้งนี้สะท้อนถึงความพยายามของยุโรปในการยืนหยัดเป็นผู้นำด้านการปล่อยจรวด และลดการพึ่งพาชาติอื่นในภารกิจอวกาศระยะยาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ยุโรปเปิดตัวโครงการ INVICTUS ก้าวสำคัญสู่ยุคใหม่ของเครื่องบินอวกาศความเร็วเหนือเสียง
- อัปเดตยาน Starliner ต้องหยุดบินจนถึงปี 2026 และอาจไม่มีนักบินบนยานในภารกิจหน้า
- นักวิทยาศาสตร์ชี้ ทางช้างเผือกอาจถูกล้อมด้วย "กาแล็กซีกำพร้า" ที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกนับร้อย
- ทรัมป์ผลักดันร่างกฎหมาย "One Big Beautiful Bill" ทุ่ม 3 หมื่นล้าน สนับสนุนเครื่องบินอวกาศลับ X-37B
- กล้องเจมส์ เวบบ์ ฉลองครบ 3 ปี เผยภาพ "อุ้งเท้าแมวแห่งจักรวาล" สุดตระการตา