สภาฯถก 5 ร่างกม.นิรโทษกรรม ยังเห็นต่างคดี 112 โรมวอนเปิดกว้าง-อย่าโหวตคว่ำ
สภาฯถก ร่างกม. นิรโทษกรรม รวม 5 ฉบับ “รังสิมันต์ ชี้ต้องเปิดกว้างการนิรโทษกรรม-ไม่เลือกปฏิบัติ ยันคนโดนคดี112 เพราะถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ วอน สภาฯ อย่าโหวตคว่ำ ขณะที่”ภราดร” ย้ำไม่หนุนนิรโทษฯ 112 เหตุสังคมไม่เอาด้วย หวั่นชุมนุม เตือนสติ อย่าเอาบางกรณีพัวพันทำให้ทุกกรณีต้องตกขบวน เหมือนนิรโทษกรรมสุดซอย
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข และ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมี ส.ส. และภาคประชาชนเสนอรวม 5 ฉบับ 1. ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ ส.ส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ 2.ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอโดย นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม 3.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. เสนอโดย พรรคประชาชน 4.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน และ 5.ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฉบับที่เสนอเข้ามาใหม่ และยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระ แต่ประธานในที่ประชุมอนุญาตให้นำมาพิจารณาในคราวเดียวกันได้
จากนั้น เป็นการอภิปรายเสนอในแต่ละร่าง โดย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า การนิรโทษกรรมจำเป็นต้องเปิดกว้างให้มากที่สุด และไม่ต้องการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ในร่างกฎหมายของพรรคประชาชน จึงไม่ได้กำหนดฐานความผิดหรือคดีตามมาตราใด ขณะที่ช่วงเวลาไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุด เพราะที่ผ่านมามีการใช้นิติสงครามเล่นงานประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง และใช้เครื่องมือกฎหมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่ที่รุนแรงที่สุดคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงกฎหมายความสะอาด หรือการไม่พกบัตรประชาชน กลั่นแกล้งประชาชนที่เห็นต่าง สิ่งที่พรรคประชาชนต้องการสะท้อน คือ การนิรโทษกรรมการเมืองจะสำเร็จได้ หรือใครจะได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง สิ่งสำคัญ คือบรรยากาศการเมือง ที่สามารถพูดคุยเจรจาของฝ่ายต่างๆ ได้
“คนที่โดนคดี 112 นั้น พบว่า การตั้งข้อหาหลายครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้ดูข้อเท็จจริง และรายละเอียด ไม่ดูพยานหลักฐาน ไม่ได้ให้ความเป็นธรรม ทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่อยๆ ซึ่งยอมรับว่า เนื้อหาของร่างกฎหมายที่เสนอเป็นที่ไม่สบายใจของ ส.ส. และหลายฝ่าย แม้จะเขียนกว้างๆ และไม่ได้ระบุว่า มีกฎหมายใดบ้างที่ได้รับนิรโทษกรรม แต่หลายฝ่ายพยายามบอกว่า หากรวม มาตรา112 จะไม่โหวตให้ ผมมองว่า หากติดกรอบแบบนี้ สังคมจะคลี่คลายความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ ผมขอให้ทบทวน เพราะเชื่อว่า จะเป็นทางออกให้สังคมไทย” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ในกลไกของร่างกฎหมาย ได้กำหนดให้มีกรรมการกลางที่ประกอบด้วย ตัวแทนจากศาล รัฐสภา และรัฐบาล เพื่อพิจารณาว่าคดีใดที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรมบ้าง ดังนั้น ขอให้สบายใจว่าหากร่างกฎหมายของพรรคประชาชนผ่าน ไม่ใช่ว่าพรรคจะกำหนดว่าใครจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่กรรมการพิจารณา ซึ่งตนมองว่าจุดนี้คือความเป็นธรรม
ด้าน นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เสนอเนื้อหาของร่างกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย ว่า ฉบับของพรรคภูมิใจไทย มีเนื้อหาตรงกับฉบับของนายวิชัย และนายปรีดา โดยหลักใหญ่นิรโทษกรรม ผู้ที่กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมือง เว้นไม่นิรโทษกรรมให้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มทำผิดมาตรา 112 กลุ่มทำผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กลุ่มที่ถูกดำเนินคดีอาญาร้ายแรงถึงชีวิต และกลุ่มที่ก่อความเสียหายให้กับเอกชน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม จะไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะกลุ่มคนการเมือง หนีไม่พ้นเกิดอคติหรือเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด แฝ่ายหนึ่ง และมีเพียงคนในกระบวนการของศาลยุติธรรม ซึ่งต่างจากฉบับของนายวิชัยและนายปรีดา ที่กำหนดให้มีตัวแทนของฝ่ายการเมือง คือ รัฐบาลส.ส. และ ส.ว. ร่วมพิจารณา
“พรรคภูมิใจไทย แสดงจุดยืนว่า คนที่ละเมิดหรือทำผิด มาตรา 112 ไม่สามารถนิรโทษกรรมให้ได้ หากนิรโทษกรรมให้กลุ่มนี้อาจทำให้เกิดปัญหาใหม่ มีการชุมนุมเรียกร้องไม่จบหรือไม่ ทั้งนี้การตั้งหลักของพรรคคือ หากนิรโทษกรรมไม่ได้ทั้งหมด ต้องมีบางส่วนที่ได้รับประโยชน์ จำเป็นต้องตัดบางส่วนจากสมการ เพราะสังคมมีความเห็นต่างจำนวนมาก ซึ่งไม่รู้ว่าฝ่ายไหนมากกว่า แต่สิ่งที่เรียนรู้จากทฤษฎีดอกไม้หลากสีในกระถางเดียวกัน เหมือนกับในสังคมประชาธิปไตยที่ไม่สามารถทำให้ทุกคนคิดเห็นได้เหมือนกัน จึงเป็นเหตุผลที่ถึงเวลาแล้วต้องคืนความยุติธรรมให้คนส่วนหนึ่งในกระบวนการชุมนุม”นายภราดร กล่าว
นายภราดร กล่าวต่อว่า ถึงเวลาหันหน้าหากันเริ่มสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น ตั้งแต่พ.ร.บ.บังคับใช้ แต่ตนเข้าใจดีถึงความรู้สึกของกลุ่มคนที่ไม่ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้ แต่ในอนาคตเมื่อสังคมพูดคุย และคนเหล่านั้นสำนึกผิดต่อการกระทำ เชื่อว่า สังคมและสภาฯ พร้อมกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ดังนั้นเราควรต้องรอสังคมมีความพร้อมในบางกรณี อย่าทำให้บางกรณีพัวพันทำให้ทุกกรณีต้องตกขบวนไปด้วย เรามีตัวอย่างของความเจ็บปวดมาแล้ว กรณีของนิรโทษกรรมสุดซอยที่สังคมรับไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลสังคมค่อยๆทำไป เพื่อที่จะให้มีผู้ได้รับอนิสงฆ์จากร่างฉบับนี้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ดันเข้าไป ถึงเวลาไม่ได้รับการนิรโทษกรรมสักคนเดียว แบบนี้ไม่เกิดประโยชน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของกลุ่มร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมทางการเมืองนั้น พบว่า เนื้อหามีความคล้ายกัน คือ การนิรโทษกรรมทางการเมือง โดยให้มีกรรมการกลางขึ้นมาพิจารณาบุคคลที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม สำหรับคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมนั้นมีความต่างและแยกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฉบับที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคกล้าธรรม พรรคคภูมิใจไทย ได้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนคือ ไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ขณะที่ฉบับของพรรคประชาชนและฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน รวมการนิรโทษกรรมคดี 112 ไว้ด้วย
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สภาฯถก 5 ร่างกม.นิรโทษกรรม ยังเห็นต่างคดี 112 โรมวอนเปิดกว้าง-อย่าโหวตคว่ำ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th