สภาถก #นิรโทษกรรมประชาชน เกือบหกชั่วโมงแต่ยังไม่ได้โหวต จับตาต่อ 16 กรกฎาคม 2568
9 กรกฎาคม 2568 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมห้าฉบับ แต่หลังอภิปรายไปได้ระยะหนึ่งพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง สส.พรรคเพื่อไทยสั่งปิดประชุมสภาในเวลา 17.09 น. ทั้งที่การอภิปรายยังไม่เสร็จสิ้น นัดถกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมต่อในวันที่ 16 กรกฎาคม 2568
เดิมวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-สร้างเสริมสังคมสันติสุขสี่ฉบับที่ค้างอยู่ในวาระการประชุมสภาต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยประชุมสภาที่แล้ว อย่างไรก็ดีอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุขอีกฉบับต่อสภาผู้แทนราฎร จึงมีร่างห้าฉบับที่เข้าสู่การพิจารณา การพิจารณาร่างกฎหมายทั้งห้าฉบับเริ่มต้นในเวลาประมาณ 11.00 น. โดยให้ผู้เสนอร่างทั้งห้าฉบับเริ่มชี้แจงหลักการและเหตุผลในร่างแต่ละฉบับ
ตัวแทนภาคประชาชนชี้แจง ย้ำมาตรา 112 ก็เป็นหนึ่งในคดีการเมือง
สำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนที่ภาคประชาชนเสนอ มีพูนสุข พูนสุขเจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการฝ่ายวิจัยกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ธนพัฒน์ กาเพ็ง-เบนจา อะปัญ ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw เป็นผู้แทนเข้ามาชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร
พูนสุข พูนสุขเจริญ กล่าวชี้แจงสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนรวมถึงหลักการและเหตุผลของร่างฉบับนี้ว่า
"ดิฉันขอเริ่มต้นจากการ วาดภาพให้ความขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมขนาดใหญ่ในระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมาแบบไวๆ นะคะ"
กลุ่มแรกตั้งแต่ปี 2548 มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาลคุณทักษิณจนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และยังมีการเคลื่อนไหวหลังจากนั้น (200 คน)
กลุ่มที่สอง ปี 2552 เป็นการชุมนุมของกลุ่มนปก.ซึ่งต่อมาเป็นกลุ่มนปช.ในปี 2553 เกิดเหตุสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงและยังมีการดำเนินคดีกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องโดยหลังปี 2553 เริ่มมีการดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง (ราว 1753 ราย )
"จนกระทั่งปี 2557 มีการชุมนุมกปปส. (221 ราย)และเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ประกาศให้พลเรือนถูกดำเนินในศาลทหาร ในฐานห้ามชุมนุมทางการเมือง คดีประชามติ คนอยากเลือกตั้ง (อย่างน้อย 2408 ) จนถึงปี 2562"
"ตั้งแต่ปี 2563 - มีนาคม 2568 อย่างน้อย 1977 คน นับเป็นระลอกล่าสุดของความขัดแย้งทางการเมือง คดีทที่มีคนถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินค่ะ เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด เมื่อมีคนไปชุมนุมก็ถูกกวาดจับจำนวนมาก ประมาณ 1400 คน รองลงมาคือคดีมาตรา 112 จำนวน 281 ใน 1977 คน ซึ่งต้องบอกว่าคดี 112 ถูกนำมาใช้มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย"
"ตัวเลขที่สำคัญที่สุด คือผู้ถูกจองจำทางการเมือง 51 คน ถ้านิรโทษกรรมฉบับประชาชนไม่ได้ไปต่อ คนกลุ่มนี้ก็จะอยู่ในเรือนจำต่อไป"
"ระยะเวลาในการนิรโทษกรรม 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ สาเหตุที่เราเสนอวันที่ 19 กันยายน 2549 คือวันรัฐประหารซึ่งเรามองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปี อย่างไรก็ตามเราตระหนักดีว่ามีการชุมนุมของพันธมิตรก่อนหน้านั้น หากจะขยายระยะเวลาเพื่อครอบคลุมกลุ่มบุคคลทั้งหมดก็สามารถทำได้"
"บุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรม ในมาตรา 4 เราเสนอให้นิรโทษกรรมประชาชน โดยไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดการสลายการชุมนุมที่กระทำการเกินกว่าเหตุ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ หากการกระทำนั้นกระทำการเกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113"
"เหตุผลในการยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากเราไม่ต้องการยอมรับวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ และกลุ่มบุคคลที่ยึดอำนาจการปกครองไปจากประชาชน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำไปโดยสมควรแก่เหตุแล้วย่อมได้รับความคุ้มครอง และถึงแม้ร่างกฎหมายนี้จะไม่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เจ้าหน้าที่รัฐได้รับความคุ้มครองและอภัยโทษตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 2559 และรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และ 2560 อยู่แล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความมุ่งหมายจะคุ้มครองประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่สุจริตเท่านั้น"
"การกระทำที่ได้รับนิรโทษกรรม เราพิจารณาบนฐานว่า ไทยเคยมีกฎหมายนิรโทษกรรมมา 23 ฉบับ แต่ไม่มีฉบับใดเลยที่ครอบคลุมระยะเวลายาวนานแบบครั้งนี้ ดังนั้นการนิรโทษกรรมโดยระบุวัน และระบุข้อหาอย่างเดียวจะไม่ตอบโจทย์ เพราะอาจทำให้แคบไป หรือกว้างเกินไป อย่างเช่นหากระบุเพียงฐานความผิดทำร้ายร่างกาย หรือฐานความผิดเกี่ยวกับการจราจรในระยะเวลายี่สิบปีนี้ก็จะทำให้กลายเป็นการนิรโทษกรรมคดีที่ไม่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เราจึงเสนอว่าแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นคดีที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองก็ให้ได้รับการนิรโทษกรรมได้เลยทันที ไม่ต้องผ่านการพิจารณาอีก ได้แก่
คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 และประกาศคณะรักษาความสงบฉบับที่ 38/2557
คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
ปัญหาคดีมาตรา 112 ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ศาลบ่ายเบี่ยงไม่เรียกพยาน ตัดพยาน พิจารณาโดยไม่เปิดเผย พิพากษาลับหลังจำเลย พิพากษาในห้องเวรชี้ พิพากษาโดยไม่อนุญาตให้นำข้อความออกไปเผยแพร่ พิพากษาเกินกว่าองค์ประกอบของกฎหมาย ฯลฯ
32 ใน 51 ผู้ต้องขังที่ถูกดำเนินคดี 112 ท่านจะเห็นว่ามีคนถูกดำเนินคดีหลักพัน แม้คดี 112 จะน้อยกว่าคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือคดีอื่นๆ แต่คดีมาตรา 112 เป็นประเภทคดีที่ที่มีคนติดคุกสูงสุดในปัจจุบัน
คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559
คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับ (1)-(5)
กลุ่มที่สองคือ มาตรา 3ให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลที่
เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง
หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง
หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง"
"บุคคลที่มีอำนาจในการพิจารณา ตามมาตรา 3 คือ “คณะกรรมการนิรโทษกรรม” ซึ่งประกอบไปด้วย สภาผู้แทน 14 ตัวแทนผู้เสียหาย 4 องค์กรภาคประชาชน 2 ทำหน้าที่พิจารณาว่า ดคีใดคือคดีการเมือง และทำเรื่องการเยียว และกำกับตำรวจให้ลบประวัติอาชญากรรม"
"เหตุที่เราให้น้ำหนักกับส.ส.เพราะ ความเห็นเราคือพวกท่านคือตัวแทนประชาชนและย่อมรู้ว่าคดีใดคือการเมืองและไม่ใช่การเมือง"
"และเราเสนอให้อำนาจคณะกรรมการในการพิจารณาทั้งเป็นรายบุคคล รายคดีและเหตุการณ์ซึ่งจะทำให้พิจารณาได้เร็วขึ้น ซึ่งกำหนดระยะเวลาการทำงานไว้สองปี ขยายได้ไม่เกินหนึ่งปี และหากพ้นกำหนดให้ศาลพิจารณาว่า ดคีใดเป็นคดีการเมือง"
"คดีมาตรา 112 เป็นคดีอาญา และเป็นคดีการเมือง คดี 112 เป็นคดีอาญาเช่นเดียวกับคดีมาตรา อื่นๆ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกัน หากกล่าวว่าคดี 112 เป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีการเมือง ในตรรกะนี้ก็จะไม่มีใดเลยได้รับการนิรโทษกรรมเพราะทุกคดีเป็นคดีอาญา"
"คดี 112 คือ คดีการเมืองค่ะ หลักฐานคืออะไร หลักฐานคือ ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้คดีมาตรา 112 ต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม"
"คดี 112 เป็นคดีความมั่นคง ถูกต้องค่ะ เช่นเดียวกับคดีมาตรา 113 มาตรา 116 ก็เป็นคดีความมั่นคงซึ่งสามารถนิรโทษกรรมได้ ไม่เป็นจริง"
"คดี 112 มีโทษรุนแรง ใช่ค่ะ คดี 112 มีอัตราโทษจำคุก 3-15 ปี ซึ่งนับว่าสูง แต่ไม่ได้สูงที่สุดเพราะมีมาตราอื่นที่มีโทษสูงกว่า อาทิเช่น มาตรา 113 ซึ่งมีโทษประหารชีวิต ถ้าสามารถนิรโทษกรรมโทษประหารชิวิตได้ ดิฉันไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่สามารถนิรโทษกรรมให้โทษจำคุก เช่น มาตรา 112 ได้"
"ท่านประธานคะ ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ และในสังคม ประเด็นมาตรา 112 อาจเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและเห็นว่าคนที่ถูกดำเนินคดีควรต้องรับโทษ จนกระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่อยากแม้กระทั่งรับหลักการกฎหมายของประชาชนเข้าไปพูดคุยต่อในวาระที่สอง แต่ในสังคมระหว่างประเทศที่ยึดหลักในการอยู่ร่วมกันด้วยสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การควบคุมตัวบุคคลด้วยมาตรา 112 เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ เป็น arbitrary dentention ขัดต่อหลักการในข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง"
"ท่านประธานคะ รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน เห็นได้จากการที่ไทยได้ลงสมัครและได้รับเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในปัจจุบัน แต่สถานการณ์กลับกลายเป็นว่าเราเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชนจากกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ จากรัฐสภายุโรป จากสหรัฐอเมริกา ล่าสุดเมื่อวานนี้เอง ที่ไทยได้ดำเนินคดีกับพลเมืองอเมริกันในคดีมาตรา 112 และปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน"
"ท่านประธานคะ ร่างกฎหมายฉบับประชาชนนี้ อาจจะมีคนบางส่วนไม่เห็นด้วย แต่ร่างฉบับนี้ร่างอยู่บนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชน และยืนอยู่ข้างเดียวกับประชาคมโลก การรับหลักการร่างประชาชนจะเปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไป"
"ในประเด็นหนึ่งดิฉันเสนอให้มีการคำนึงถึงอายุของผู้ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถ้าเรานิรโทษกรรมให้ผู้ใหญ่ที่สามารถปิดสนามบินได้ ดิฉันคิดว่าเราก็ต้องนิรโทษกรรมให้เด็กที่ถูกดำเนินคดีการเมืองได้"
"สุดท้ายค่ะ ท่านประธาน ดิฉันอยากให้รู้ว่าในตัวเลขต่างๆที่กล่าวมามันไม่ได้สำคัญเลย"
- "แต่ดิฉันอยากให้ท่านรับรู้ว่าคนที่อยู่ในเรือนจำเพราะคดี 112 ก็เป็นประชาชนคนธรรมดาไม่ใช่กลุ่ม ไม่ใช่ขบวนการที่มุ่งหมายจะล้มล้างการปกครอง"
"แต่พวกเขามีเลือดเนื้อ ชีวิตและมีคนรักเช่นกัน คุณอุดม แรงงานจากปราจีน ที่ถูกดำเนินคดีไกลถึงนราธิวาส แม้กระทั่งญาติจะไปเยี่ยมก็ยากลำบากทั้งค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง เช่นเดียวกับคุณกัลยาที่ก่อนฟังคำพิพากษาเธอเพิ่งเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐและกำลังเริ่มต้นชีวิต คุณธนพร แม่ลูกอ่อนสาวโรงงานที่ความเจ็บปวดที่สุดคือลูกจำหน้าแม่ไม่ได้ คุณก้องที่หมดโอกาสสอบเพื่อจบการศึกษา ลูกชายของอานนท์ นำภาที่พูดคำว่าศาลได้ก่อนคำว่าโรงเรียนด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นในนามของกระบวนการยุติธรรม"
"การจำคุกพวกเขา ไม่ใช่แค่การจำกัดเสรีภาพ แต่การจำคุกมันหมายถึง การตัดโอกาสทางการศึกษา อาชีพการงาน สายสัมพันธ์และความเป็นอยู่ของครอบครัว และอนาคตของพวกเขาในระยะยาว"
"เราเจ็บปวดมาตลอด 20 ปี ถูกดำเนินคดีเรื่อยมา นี่เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถคลี่คลายความขัดแย้ง หรือจะยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้นไปอีก ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรแล้ว"
รวมไทยสร้างชาติ - ครูไทยเพื่อประชาชน - ภูมิใจไทย แนวทางชัดเจนไม่นิรโทษกรรมคดี 112 แต่ให้คดีกบฏ
ขณะที่ร่างฉบับสส.พรรคประชาชน (เสนอขณะยังเป็นพรรคก้าวไกล) รังสิมันต์ โรม สส. ชี้แจงแทนชัยธวัช ตุลาธน ผู้เสนอร่างที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ว่าการกระทำที่มูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันที่บังคับใช้กฎหมายสมควรได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น เนื่องจากกระบวนการที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะศาลไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งได้ จึงจำเป็นต้องมีการนิรโทษกรรม รังสิมันต์ย้ำจุดยืนของพรรคประชาชนจะไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และความผิดในฐานกบฏ
วิชัย สุดสวาสดิ์ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ และปรีดา บุญเพลิง สส.พรรคกล้าธรรม (ขณะเสนอร่างสังกัดพรรคครูไทยเพื่อประชาชน) ชี้แจงว่า สาระสำคัญของร่างทั้งสองฉบับว่าคล้ายกัน การกระทำของประชาชนที่แสดงออกเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และให้โอกาสประชาชนได้ล้างมลทินตนเองจึงต้องมีการนิรโทษกรรม ยุติความขัดแย้งทางการเมืองและส่งเสริมสังคมที่สงบสุข ทั้งสองพรรคมีจุดยืนเดียวกันคือการไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112
ด้านภราดร ปริศนานันทกุล สส.พรรคภูมิใจไทยลุกขึ้นชี้แจงว่าร่างฉบับพรรคภูมิใจไทย จะไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเด็ดขาด พรรคภูมิใจไทยจะนิรโทษกรรมให้การแสดงออกหรือเรียกร้องต่อรัฐบาลอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเท่านั้น ส่วนที่มีเจตนาชั่วร้ายจะไม่นิรโทษกรรมให้
สำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ สองฉบับจากพรรคก้าวไกลและจากพรรคประชาชน ภราดรระบุว่า ตนมีความชัดเจนแต่แรก เข้าใจดีถึงความรู้สึกของคนที่ถูกดำเนินการตามกฎหมาย หรือความรู้สึกของคนที่อยู่ในครอบครัวที่ต้องรอการกลับมาของผู้นำครอบครัว แต่ที่ต้องเว้นมาตรา 112 ไว้ เป็นเพราะหวังว่าร่างทั้งห้าร่างจะดำเนินไปสู่การนิรโทษกรรมได้จริง แม้ไม่ใช่ทั้งหมด ก็ต้องเป็นบางส่วนที่ได้รับประโยชน์จากร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องตัดบางส่วนออกไป
ภราดรยังกล่าวอีกว่า สังคมนี้มีความเห็นมากมาย แม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยเองก็แสดงจุดยืนชัดเจน "ใครก็ตามที่กระทำผิดตามมาตรา 112 ก็ไม่สามารถนิรโทษกรรมให้ได้ แม้กระทั่งประชาชนส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าเป็นส่วนมากหรือน้อย แต่เชื่อว่าเป็นส่วนมากที่ไม่เห็นด้วย ถ้านิรโทษกรรมให้จะไปสร้างปัญหาให้สังคมหรือไม่ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยจะออกมาชุมนุมเรียกร้องไม่จบสิ้นหรือไม่"
ภราดรกล่าวว่า “เราผ่านการเรียนรู้ต่อสู้มากว่า 20 ปี สังคมนี้ค่อย ๆ เรียนรู้ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้เห็นต่าง เราเรียนรู้มากขึ้นกับทฤษฎีดอกไม้หลากสีในกระถางเดียวกัน สวนจะสวยงามได้ ไม่ใช่ด้วยการปลูกดอกไม้ชนิดเดียว เหมือนกันกับสังคมประชาธิปไตย เราเรียนรู้ว่า ในสังคมประชาธิปไตย เราไม่สามารถทำให้ทุกคนคิดเห็นได้เหมือนกันหมด จึงเป็นเหตุผลว่าถึงเวลาที่จะต้องปลดล็อก คลายล็อก และคืนความยุติธรรมให้กับคนบางกลุ่มที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวมา 20 ปี”
เขายกตัวอย่างแกนนำบางคนที่ดำเนินการชุมนุมมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ผลกระทบจากการพิพากษา แม้ตัวบุคคลผู้นั้นจะเสียชีวิตไปแล้ว ภรรยาและลูกต้องมาชดใช้ค่าเสียหายให้ เช่นกรณีของ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ครอบครัวยังคงต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วย หรือสุริยะใส กตะศิลา และสำราญ รอดเพชร ที่อยู่ในกระบวนการนี้ แม้กระทั่งแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงอย่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน จึงถึงเวลาแล้วที่สมควรแล้วที่จะหันหน้าเข้าหากัน และเริ่มต้นสร้างสันติสุขนับแต่ร่างพ.ร.บ. นี้ได้บังคับใช้
ภราดรย้ำอีกครั้งว่า เข้าใจดีถึงความรู้สึกของคนที่ไม่ได้รับผลจากพ.ร.บ. นี้ แต่ว่าในอนาคต เชื่อว่าเมื่อสังคมได้มีการพูดคุย และที่สำคัญ กลุ่มคนเหล่านั้นได้สำนึกผิดจากการกระทำแล้ว เชื่อว่าสังคมพร้อมที่จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง สภาแห่งนี้ก็พร้อมที่จะพิจารณาเหตุและผลอีกครั้งหนึ่ง จนกว่าสังคมจะพร้อมมากกว่านี้กับบางกรณี อย่าทำให้บางกรณีมาพัวพันและทำให้กรณีอื่นตกขบวนไปด้วย เรามีตัวอย่างของความเจ็บปวดมาแล้วเมื่อก่อนการรัฐประหาร 2557 ขณะนั้นมีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยวรชัย เหมะ และคนอื่นๆ โดยมีสาระสำคัญคือ นิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 2548-2556 สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่แกนนำ แต่เมื่อเข้าสู่วาระสอง ในชั้นกรรมาธิการ สิ่งที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การรัฐประหาร คือการใช้เสียงคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขหลักการและเหตุผลของต้นทางเสียหมดสิ้น ทำให้ผู้ที่มีความผิดเพิ่มถึงฐานทุจริตคอร์รัปชันได้รับนิรโทษกรรม ทำให้คนในสังคมรับไม่ได้
"นี่จึงเป็นเหตุผลที่พรรคภูมิใจไทยเสนอให้ค่อยๆ ทำไปในส่วนที่สังคมรับได้ เพื่อให้ได้มีการนิรโทษกรรม เพื่อให้ได้มีผู้ได้รับอานิสงส์จากร่างนี้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ดันร่างเข้าไปแล้วไม่มีใครได้รับประโยชน์สักคน แบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ จึงเห็นว่าควรรอเวลา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจึงกลับมาพิจารณาในส่วนที่เหลือ" ภราดรเน้นย้ำถึงเหตุผลที่เสนอร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ต่อสภา เพื่อให้สภาพิจารณา และขอให้สมาชิกพิจารณาอย่างรอบคอบ
ภราดรทิ้งท้ายถึงคณะกรรมาธิการที่กำลังจะตั้งขึ้นว่า ให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน และใช้บทเรียนในอดีตที่ได้กล่าวถึง อย่าให้สิ่งที่เป็นความเลวร้ายในอดีตมาเกิดซ้ำกับสิ่งที่กำลังจะเริ่มต้น เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับสังคม และสำหรับทุกคน
สส.พรรคประชาชนหนุนรวมคดี 112 อดิศร เพื่อไทย วอนสส. ทำบุญทางการเมืองด้วยการนิรโทษกรรม
หลังจากผู้ชี้แจงร่างทั้งห้าฉบับชี้แจงเสร็จ สส. พรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายสนับสนุนเนื้อหาร่างกฎหมายทั้งห้าฉบับ ตามแนวทางและจุดยืนของพรรค เช่น
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมอภิปรายโดยยืนยันว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้คดีในมาตรา 110 และมาตรา 112 คดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรง เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนา
ธนกร วังบุญคงชนะ สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า จะไม่รับร่างกฎหมายที่นิรโทษกรรมให้คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะมาตรา 112 มีไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ใดละเมิดมิได้ ทั้งยังเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ย้ำว่า การนิรโทษกรรมมาตรา 112 ทำให้ประชาชนทั้งประเทศผู้จงรักภักดี ไม่สบายใจและออกมาเคลื่อนไหว
“สำคัญที่สุด ผมอยากจะขอร้องให้ผู้นำทางจิตวิญญาณของน้องๆ เหล่านี้เนี่ย ได้เลิกพฤติกรรมเหล่านั้นได้ไหม เลิกยุยงส่งเสริมเยาวชนเหล่านั้นได้ไหม เพราะว่าที่ผ่านมาเนี่ย หลายคนก็ติดคุกไปนะครับ หลายคดีศาลก็ยกฟ้อง หลายคดีศาลก็ให้ประกันตัว แต่มันมีหลายคดีที่ออกมาแล้วกระทำความผิดซ้ำๆ ซากๆ เพราะฉะนั้นต้องไปดูว่า ใครอยู่เบื้องหลัง ผมเองบอกตรงๆ เลย เห็นใจจริงๆ ท่านประธาน หลายคนที่อยู่ในคุก บางคนที่มีอภิสิทธิ์หน่อยก็ไปอยู่ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า วันนี้ ในคดี 112 ผมไม่เห็นด้วย ที่จะให้มีการนิรโทษกรรม”
เขาย้ำอีกว่า กรรมการนิรโทษกรรมจะต้องมีขั้นตอนสรรหาที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ไม่เอนเอียงไปฝ่ายใด สุดท้ายนี้ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังจะพิจารณากันควรต้องพิจารณาถึงกฎเกณฑ์การห้ามกระทำผิดซ้ำด้วย เพราะเราไม่อาจย้อนเวลากลับไปอดีตได้ แต่เราสามารถวางรากฐานเพื่ออนาคตได้
“ผมเห็นว่า คดี 112 เนี่ย เลิกเถอะครับ เอาเวลาไปทำงานให้ประเทศชาติมากมาย ที่ไปสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้” ธนกรทิ้งท้าย
ชลธิชา แจ้งเร็ว สส. พรรคประชาชน อภิปรายสนับสนุนให้ สส. โหวตรับหลักการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยระบุว่า หลายทศวรรษที่ประเทศไทยติดหล่มความขัดแย้งทางการเมือง และใช้นิติทางสงครามเป็นเครื่องมือประหารศัตรูทางการเมือง สิ่งนี้ทำให้ประชาชนหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม
“ตั้งแต่ปี 2557 นิติสงครามถูกใช้ในการทำร้ายประชาชนหนักขึ้นเรื่อยๆ มีหลายกรณีที่ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนถูกดำเนินคดีทางการเมือง เพียงเพราะลุกขึ้นมาขับไล่ คสช. หรือการโหวต No ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหาร และรวมไปถึงการชุมนุมของคนหนุ่มสาวช่วงปี 2563 ต้องขึ้นศาลทหาร และศาลทหารไม่ให้ประกันตัว ไม่ให้สิทธิอุทธรณ์คดีแก่จำเลย สิ่งเหล่านี้ขัดกับหลักการที่ตุลาการไปพร่ำสอนเอาไว้ ว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา”
ชลธิชาอภิปรายต่อไปว่า นิติสงครามเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในคดี 112 ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกหลายสิบปี เพียงเพราะแสงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ หรือปราศรัยบนเวที ไม่ว่าจะเป็นกรณีของอัญชัน และล่าสุดคือกรณีของอานนท์ นำภา ที่ต้องโทษจำคุกสำหรับ 10 คดีรวมประมาณ 27 ปี โทษของพวกเขาเหล่านี้สูงกว่าคดีฆ่าคนตาย คดีข่มขืน ที่เป็นภัยต่อชีวิต ภัยต่อทรัพย์สินต่อผู้คนในสังคม
ตั้งแต่การชุมนุมเมื่อปี 2563 มีเด็กและเยาวชนกว่า 286 คนที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากออกมาชุมนุมการแสดงออกทางการเมือง และในจำนวนนี้มีมากกว่า 20 คนด้วยกันที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ที่ตนกล่าวมาข้างต้น ช่วยยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรม และหลักนิติธรรมหรือ rule of law มีปัญหาแค่ไหนกับคดีทางการเมือง
“ประเทศไทยถูกจัดประเมินคะแนนหลักนิติธรรมที่ต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี ในช่วงปี 66 ที่ผ่านมาโดย World justice project ท่านทวี สอดส่อง รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมก็ได้ตั้งเรื่องหลักนิติธรรมให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ ดิฉันจึงอยากเสนอให้รัฐสภาแห่งนี้ ใช้การผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อเป็นการฟื้นคืนภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลกว่าเราจะยึดหลัก rule of law อย่างแท้จริง ตามนโนยบายของท่ารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม”
ชลธิชาระบุว่า เหตุผลที่กล้ากล่าวเช่นนี้ เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา เวทีโลกต่างก็ออกมาแสดงความห่วงกังวลกับการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากประชาชนที่เห็นต่างของไทย ปัญในกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว ที่ล้วนแล้วแต่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ไทยอาสาเข้าไปเป็นรัฐภาคีเอาไว้
เธอยกตัวอย่างท่าทีของนานาชาติต่อเรื่องนี้ ประเด็นแรกคือท่าทีของผู้รายงานพิเศษ UN ในด้านต่างๆ และกลไกของ UN ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวที UPR ซึ่งรัฐบาลไทยต้องไปรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทุกๆ สี่ปี และก็มักจะถูกตั้งคำถามจากนานาประเทศ และมีข้อเสนอมากมายให้ไทยหยุดดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นคดีมาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศยืนยันว่า อันตราภาษีนำเข้าของไทยจะยังคงเดิมนั่นคือ 36% เรื่องนี้มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะมาจากภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ปัญหารเรื่องของการสวมสิทธิ แต่ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ไทยมีการเจรจาที่ล่าช้ามากกว่าหลายประเทศ เพราะมีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับนักวิชาการชาวอเมริกัน คือ พอล แชมเบอร์ส ทำให้กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐออกมาประนาม แสดงท่าทีห่วงกังวล ต่อการใช้บังคับใช้มาตรา 112 ของประเทศไทย
“เรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องภายใประเทศอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมวกของเก้ารัฐมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN ที่เราไปสัญญาไว้ในเวทีโลก สิ่งนี้คือสัญญาณว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องของประชาคมโลกที่ให้ความสำคัญ และนี่คือเวลาที่เราจะกลับไปทบทวนกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรา โดยให้การนิรโทษกรรมประตูบานแรกฟื้นคืนหลักการ rule of law เพื่อฟื้นคืนภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลก ทำให้นานาชาติมีความเชื่อมั่น กล้าที่จะกลับมาลงทุนในบ้านเราอีกครั้ง”
ชลธิชาย้ำว่า นี่เป็นโอกาสสำคัญจริงๆ ที่รัฐสภาไทยจะต้องพิสูจน์ให้เวทีโลกเห็น ว่าประเทศไทยเหมาะสมกับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และสภาทำได้ด้วยการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน คืนความเป็นธรรมให้ประชาชนที่ถูกฟ้องปิดปาก
อดิศร เพียงเกษ สส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า วันนี้เป็นวันนิรโทษกรรม เป็นวันยกโทษ เป็นวันที่ทุกคนต้องใจถึง ลืม ลืม และลืม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เป็นสัตว์การเมือง แต่ทุกคนเกิดในบริบทที่แตกต่างกัน คิดเห็นต่างกันมาโดยตลอด ความคิดเห็นที่ต่างกัน ทำให้มีการต่อสู้แย่งชิงกัน อาจจะร้ายแรงถึงขั้นใช้กำลังอาวุธ หรือไม่ใช้อาวุธก็อยู่ในรัฐสภา วันนี้ถึงเวลาต้องถามสมาชิก ซึ่งมีประสบการณ์ทางการเมืองไม่เหมือนกัน
อดิศรกล่าวต่อไปว่า “ผมได้รับอานิสงส์จากคำว่า ‘นิรโทษกรรม’ จากประสบการณ์ในทางการเมืองในยุคหนึ่ง คือเหตุการณ์หลังจาก 14 ตุลาคม 2516 หลัง 6 ตุลาคม 2519
ประเทศไทยนี้ นอกจากสันติในเมืองแล้ว ยังเคยเกิดสงครามกลางเมือง อยู่ในป่า ได้รับเกียรติเรียกว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ อยู่ข้างในนี้ก็เป็นปราบปรามซึ่งกันและกัน อยู่ในป่าก็ฝังทุกวัน อยู่ในเมืองก็เผาทุกวัน พระราชทานเพลิงศพทุกวัน คนไทยฆ่าคนไทยกันเอง กล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะสังคมไม่เป็นธรรม เข่นฆ่า ข่มขืน ลากไปแขวนคอต้นมะขามสนามหลวงตอน 6 ตุลาฯ ใช้ความรุนแรงกับลูกหลานเยาวชนคนหนุ่มสาว ก็เข้าป่าจับปืน”
เขาเล่าต่อไปว่า ตัวเขาได้รับอานิสงส์จากคำว่า “นิรโทษกรรม” โดยไม่ต้องผ่านสภา ไม่ต้องโต้เถียงกันอย่างตอนนี้ ใช้กฎหมายบริหารราชการแผ่นดินธรรมดาๆ ผ่านคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 โดยพล.อ. เชาวลิต ยงใจยุทธ ชงเรื่องเสนอแก่พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ จนได้รับความเห็นชอบ คนที่อยู่ในป่าก็กลับเข้ามาในเมือง
“อยู่ในป่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชูแนวคิดสามอย่าง คือ ศักดินานิยม จักรวรรดินิยม และทุนนิยมขุนนาง เยาวชนคนหนุ่มสาวรวมถึงพวกผมไม่รู้หรอกครับ ศักดินานิยมคืออะไร ก็ไม่แพ้เยาวชนคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ไปคึกคะนอง พูดจาลามไปถึงการดูถูกดูหมิ่นในสิ่งที่ไม่บังควร”
จากเหตุการณ์ดังกล่าว บางคนต้องล้มหายตายจาก ที่มาจากความคิดต่าง การนิรโทษกรรมสำหรับอดิศรเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าจะอภัยให้กับคนเห็นต่างเป็นเรื่องง่าย แล้วทำไมต้องทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก คิดต่างกันก็อภัยทานแก่กัน เขายกตัวอย่างเรื่องราวของพระองคุลิมาลที่ฆ่าคนมากมาย แต่เมื่อพบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็อภัยและให้บวชจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ วันนึ้เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ เพราะกำลังจะเข้าพรรษา
“กฎหมายนิรโทษกรรม ไม่อยากเอากฎหมายฉบับใดเป็นหลัก อยากเรียกร้องสมาชิกว่า วันนี้เป็นวันทอดกฐิน ทอดเทียนทางการเมือง บุญกุศลเกิดขึ้นทุกคน ไม่ว่าความผิดใดๆ เกิดขึ้นด้วยมูลเหตุทางการเมือง ยกให้เขาไป ผมจะถูกตราหน้าด่าว่า สมัยเป็นเยาวชน เขายกเลิก ให้อภัยพวกคุณ เขานิรโทษให้คุณ พอคุณอายุมาต่อสู้ในสภา อายุขนาดนี้ ลูกหลานทำแบบที่คุณต่อสู้มา อยู่ในคุกในตะราง ด้วยข้อหาต่างๆ ที่ท่านอภิปรายกันนี่แหละ พอถึงเวลาแล้ว คุณเอาผิดลูกหลานซึ่งเป็นผ้าขาว ถ้าผมไม่ได้รับอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม ป่านนี้ผมจะอยู่ที่ไหนไม่ทราบ ลูกหลานในคุกในตะรางด้วยข้อหาต่างๆ รู้ได้อย่างไรว่า เขาจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป”
อดิศรขอบคุณทุกพรรคการเมืองที่แสดงให้เห็นถึงนิมิตหมายที่อยากให้ทุกคนลืม ถ้าไม่ลืมก็จะเดินต่อไม่ได้ โดยเขาได้อภิปรายในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย พรรคก็เห็นว่าคุณประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้มีมหาศาล เขาเรียกร้องว่าอยากให้บ้านเมืองนี้เดินต่อไปได้ หากคิดเล็กคิดน้อย ไม่สามัคคี บ้านเมืองก็ไปต่อไม่ได้ เพราะบุคลากรสำคัญที่สุด
อดิศรเล่าถึงประสบการณ์ว่า เขาเองเคยเสียสละชีวิตปกป้องน้องในเหตุการณ์ที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยถามย้ำว่า หากเป็นลูกหลาน พี่น้อง ของคุณบ้าง จะรู้สึกอย่างไร ผู้ปกครองจะมีความสุขหรือ ใครต่อใครที่มีอำนาจจะมีความสุขได้อย่างไรถ้าลูกหลานต้องติดคุกติดตะราง
“ผมจึงขอบิณฑบาตครับ นอกจากเราจะไปทอดเทียนเข้าพรรษา นอกจากเราจะไปทอดกฐินตามหลักพุทธศาสนา วันนี้เรามาทำบุญแบบยิ่งใหญ่ดีกว่าไหมครับ ทำบุญทางการเมือง ทำบุญให้กับลูกหลาน หรือคนที่เห็นต่างกัน ได้มีอิสรภาพ เพื่อมาพัฒนาชาติบ้านเมือง”
เขายังเรียกร้องให้ สส. ทั้งหลายช่วยกันคิดต่าง และผลักดันให้ “ความคิดที่ดีที่สุด” ไปพัฒนาชาติบ้านเมือง โดยต้อนรับทุกฝ่าย คณะกรรมาธิการวิสามัญต้องใจกว้างและให้โอกาสลูกหลาน “Forgive with the Past, start with the New” เพื่อให้ทุกคนลืม และไปต่อ
เขายังฝากกลอนสั้น ๆ ทิ้งท้ายว่า
“นิรโทษ ไม่ถือโทษ ยกโทษให้
สร้างปรองดองคล้องใจให้สุขศานต์
ที่ผ่านมาหลายหลากจินตนาการ
ประสานงาน ประสานใจ ไทยก้าวเดิน”
เสียงถึง สส. หากเห็นใจ โปรดผ่านร่างนิรโทษกรรมประชาชนที่รวมคดี ม.112
จนถึงในเวลาประมาณ 17.00 น. ธนพัฒน์ กาเพ็ง และเบนจา อะปัญ ผู้ชี้แจงร่างฉบับภาคประชาชนได้ลุกขึ้นชี้แจง
ธนพัฒน์ กาเพ็ง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มทะลุฟ้า ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หนึ่งคดีจากการทำกิจกรรมกีฬาสีในโรงเรียน และมาตรา 112 สามคดี กล่าวชี้แจงว่า
"ผมมายืนอยู่ตรงนี้ในฐานะเยาวชนคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่ยังไม่เข้าร่วมกิจกรรมนะครับ
เมื่อห้าปีที่แล้ว ผมเป็นเพียงนักเรียนมัธยมปลายจากจังหวัดกาญจนบุรี ผมตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 และหลังจากนั้นชีวิตของผมก็เปลี่ยนไปตลอดกาล"
"ผมไม่เคยคิดเลยว่า การเข้าร่วมการชุมนุมในฐานะเยาวชนคนหนึ่งผู้ใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่เรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ห้า และเมื่อผมย้ายกลับมาเรียนที่กรุงเทพ ผมก็ถูกดำเนินคดีจากการจัดกิจกรรมในโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันนี้ผมมีคดีความทางการเมืองติดตัวอยู่ถึง 24 คดี และมีคดี 112 จำนวนสามคดีหนึ่งในสามคดีนี้ทำให้ผมต้องเดินทางไปสุไหงโกล ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยไปที่นั่นมาก่อนเลย เพียงเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ด้วยระบบกฎหมายของประเทศเรายังเปิดให้ใครก็ได้แจ้งความพ.ร.บ.คอมฯ หรือมาตรา 112 ได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ"
"ในวันที่คดีความเกิดขึ้น ผมถูกมองว่าเป็นภัยความมั่นคง เป็นคนหัวรุนแรง เป็นเด็กนอกคอก เป็นอะไรก็แล้วแต่ที่พวกท่านตีตราให้ผมเป็น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ผมก็เป็นเยาวชนคนหนึ่งที่อยากใช้สิทธิพลเมือง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นบ้านเมืองเราดีขึ้้น"
"และในวันนี้ผมกำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาถึงแม้ว่าจะล่าช้ากว่าเด็กตามเกณฑ์ปกติ แต่ผมก็ยังยืนยันว่า การดำเนินคดีและการที่พวกเราถูกดำเนินคดีนี้ทำให้เสียเวลานี้ เป็นเพียงแค่หนึ่งสิ่งหนึ่งอย่างที่ผู้มีอำนาจทางบ้านเมืองไม่เคยรับฟัง และเราก็ยังเชื่อว่า วันหนึ่งพวกท่านจะหันกลับมารับฟังผู้คนที่เห็นต่าง
เรื่องราวของผมเป็นเรื่องราวเพียงสังเขป เพียงนิดเดียว จากเยาวชนทั้งหมด 279 คน ที่ถูกดำเนินคดี และมีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีถึง 20 คน"
ขณะที่ธนพัฒน์ กาเพ็ง กำลังชี้แจง พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานได้ขัดจังหวะผู้ชี้แจงว่า “อย่าเอาเรื่องส่วนตัวมาพูด ผมคิดว่าพูดไม่ได้ ต้องตอบว่าใครถามท่าน”
หลังจากนั้นธนพัฒน์จึงกล่าวชี้แจงต่อไปว่า "อย่างที่มีบางท่านบอกว่า พวกเราโดนชี้นำ โดนชักจูง โดนล้างสมอง พวกเราขอยืนยันว่า สิ่งที่พวกเราคิด สิ่งที่พวกเราทำ คือการแสดงออกตามสิทธิพลเมือง เป็นการแสดงออกโดยที่พวกเราเรียนวิชาสังคม และเชื่อว่าประชาธิปไตยประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านการเลือกตั้ง"
"สิ่งสำคัญที่สุดคือหลายๆ ท่านคิดว่า 112 ไม่ใช่คดีความทางการเมือง แต่ผมอยากจะบอกให้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เกิดขึ้นมาถึงจนปัจจุบันนี้แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า 112 คือคดีความที่พวกเราถูกกลั่นแกล้ง และการที่จะนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดี 112 คือการยุติความขัดแย้งเพียงครึ่งเดียว และมันจะไม่มีสันติภาพใดเกิดขึ้นได้จากความยุติธรรมที่เลือกข้าง"
"ผมเชื่อว่าการนิรโทษกรรมที่รวมคดีความมาตรา 112 ไม่ใช่การลบล้างความผิดให้กับคนเห็นต่าง แต่คือการฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม ฟื้นฟูประชาธิปไตยให้พวกเราที่ถูกตีตราว่าผิดได้กลับมาใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองอย่างเท่าเทียม"
"ท่านประธานครับ สุดท้ายนี้ผมขอเรียกร้องไปยังผู้แทนราษฎร สส. ที่กล่าวว่าเห็นใจประชาชน เห็นใจเยาวชน ช่วยกันยกมือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนที่รวมคดีความมาตรา 112 อันเกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพโดยสงบและปราศจากความรุนแรง"
"สุดท้ายครับท่านประธาน ประชาธิปไตยจะไม่มีวันเบ่งบานได้ในประเทศเรา ถ้าท่านยังปล่อยให้เยาวชน คนเห็นต่างทางความคิดถูกดำเนินคดีเพียงเพราะพวกเขามีความฝัน"
หลังจากนั้น เบนจา อะปัญ นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกดำเนินคดีการเมืองทั้งหมด 112 คดีในจำนวนนี้เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวนแปดคดี กล่าวชี้แจงถึงประเด็นที่มี สส. อภิปรายว่าในอดีตไม่เคยมีกฎหมายที่นิรโทษกรรมคดี มาตรา 112 ตรงๆ เบนจาระบุว่า คำกล่าวนั้นก็ถูกต้อง แต่ในอดีตเคยมีกฎหมายนิรโทษกรรมปี 2521 ที่นิรโทษกรรมเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (4-6 ตุลาคม 2519) ซึ่งในนั้นก็รวม 112 เข้าไปด้วย “เพราะฉะนั้นจะบอกว่า ไม่มี 112 ในนั้นมันไม่ใช่ มันมีอยู่ในนั้น”
“ขอชี้แจงอีกท่านนะคะที่บอกว่าคนที่ลี้ภัยไปคือคนที่มีอภิสิทธิ์ ท่านรู้ไหมคะว่า ดิฉันนั่งจดบันทึกทุกวันว่าเพื่อนเราหายไปหรือเปล่า ไม่ต่ำกว่า 20 คน หลายคนในนั้นไม่มีอภิสิทธิ์อะไรเลยค่ะ การไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนอกมันไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะ สำหรับคนที่ไม่มีต้นทุนก็มี คนที่ไม่ได้ภาษาก็มี เพราะฉะนั้นถ้าจะมาบอกว่าเป็นอภิสิทธิ์มันไม่ใช่ แต่เขาแค่เป็นกลุ่มคนที่เขาไม่อยากต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม"
"ท่านรู้ไหมคะว่า การออกหมายศาลให้เรียกพยานในแต่ละครั้งมันยากเย็นแค่ไหน บางพยานที่สำคัญศาลก็ไม่ออกให้ เพราะฉะนั้นมันจะยุติธรรมได้อย่างไรกับฝ่ายจำเลยอย่างเรา ทั้งที่ติดคุกอยู่ กำลังจะติดคุก และที่ลี้ภัยอยู่ตอนนี้ ล้วนเป็น 112 ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าท่านจะสันติสุขแบบไม่รวม 112 จะเป็นการสันติสุขแค่พวกท่านหรือเปล่า”
เบนจากล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าอยากก้าวผ่านไปด้วยกัน อยากได้รับโอกาสในการเริ่มต้นใหม่ ทำไมถึงจะไม่ให้โอกาสเยาวชนคนรุ่นใหม่แบบพวกเราได้ก้าวผ่านไปด้วยกัน เหมือนคดีอื่นๆ เราก็ไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่หนึ่ง และ สส.พรรคเพื่อไทยสั่งปิดประชุมในเวลา 17.09 น. ระบุว่า "เอาไว้ต่ออาทิตย์หน้านะครับ สำหรับวันนี้ขอปิดประชุม" ทำให้ในวันนี้ยังไม่ได้มีการลงมติและจะนัดพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมต่อในวันที่ 16 กรกฎาคม 2568